สตรีนักสิทธิมนุษยชน เล่าเรื่อง ‘สิทธิ’ ต่างมุม

แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังคงมีข่าวสถานการณ์ด้านลบ ที่เหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยต้องเผชิญระหว่างการต่อสู้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่อง “สิทธิ” ซึ่งถือเป็นเรื่องสากลที่ไม่ควรมีข้อยกเว้น

เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอร์ (CEDAW) จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย : สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องนำมาปฏิบัติได้จริงสำหรับผู้หญิงทุกคน” นำเหล่านักปกป้องสิทธิสตรีจากองค์กรต่างๆ มาสะท้อนสิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญ ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

Susan Blankhart อปฑูนรักษาการแทนเอกอัครราชฑูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

เพื่อให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในแวดวงต่างๆ ได้ชัดเจน ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรโปรเทคชั่น อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า นับแต่ไทยได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ถือว่าไทยมีความก้าวหน้าหลายอย่าง มีสตรีเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือหยิบประเด็นผู้หญิงชนชั้นแรงงานมาพูดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยากลำบากเกิดขึ้นกับการทำงานของเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ปรานม สมวงศ์

ปรานมเผยว่า เมื่อผู้หญิงเป็นผู้ที่รับหน้าที่ดูแลชีวิตของทุกคนในครอบครัว จึงมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นมาพูดต่อสู้เรื่องทรัพยากรที่ถูกลิดรอนไป แต่การทำงานเหล่านี้ก็กลับถูกคุกคาม ถูกทำร้ายอยู่เสมอ อาทิ กลุ่มเกษตรกรภาคใต้ที่ต้องถูกนายทุนรวมถึงรัฐฟ้องร้อง ทั้งต้องกู้เงินมาจ่ายค่าประกันตัวเนื่องจากกองทุนยุติธรรมเข้าถึงได้ยาก ไม่เว้นแม้แต่การถูกบังคับให้สูญหาย ที่แค่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สตรีนักปกป้องสิทธิหายไปแล้วกว่า 4 คน และยังมีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการที่คนในครอบครัวหายไปไม่น้อย

Advertisement

เช่นเดียวกับประสบการณ์ของ วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านเกิด ที่ต่อสู้เรื่องแร่มาตลอด 10 กว่าปี เริ่มตั้งแต่เมื่อเหมืองแร่เข้าสู่ชุมชน ผลาญพื้นที่ป่านับหมื่นไร่ และยังมีสารปนเปื้อนไหลลงสู่แหล่งน้ำ และยังมีไซยาไนต์ปนเปื้อนในดิน จึงได้รวบรวมชาวบ้านออกมาสู้ แต่วิรอนเผยว่า ตลอดเวลากลับเจอนายทุนฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญานับ 20 คดี โดยมักถูกยื่นข้อเสนอให้หยุดเคลื่อนไหวเพื่อถอนฟ้อง หนักเข้าก็ถูกรัฐห้ามชุมนุมเพื่อให้เลิกเรียกร้อง แต่ทุกคนก็ยังมีหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรเพื่อลูกหลานต่อไป

วิรอน รุจิไชยวัฒน์

อีกหนึ่งตัวแทนเสียงของผู้หญิงที่ทำงานเรื่องการค้ามนุษย์มายาวนาน ดาราราย รักษาสิริพงศ์ จากมูลนิธิผู้หญิง ที่นำเอาความเป็นจริงของผู้หญิงเหยื่อค้ามนุษย์มาเล่าว่า เรื่องนี้แยกไม่ออกจากผู้หญิง ด้วยความยากจนทำให้ผู้หญิงต้องดิ้นรนออกไปทำงานต่างประเทศ แต่กลับไม่ได้รับข้อมูลที่มากเพียงพอจนกลายเป็นเหยื่อของค้ามนุษย์ แม้ว่าทางการจะมีการแก้ไข มีกฎหมายที่ดี มีงบปีละกว่าร้อยล้าน แต่กลับหมดไปกับการอบรมเจ้าหน้าที่ จัดอีเวนต์ ใช้เงินในการเยียวยาเหยื่อแค่ 12% ทำให้ไม่ว่าอย่างไรก็แก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้จริง

บรรยากาศในการแถลงข่าว

อีกมุมของคนสู้เพื่อสิทธิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image