Cloud Lovers : ฟ้าผ่าทำร้ายเราได้ทางใดบ้าง? : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ฟ้าผ่าทำร้ายเราได้ทางใดบ้าง?

ในช่วงที่ยังมีฝนฟ้าคะนอง ภัยธรรมชาติที่ต้องระวังคือ ฟ้าผ่า ผมได้ประมวลกลไกต่างๆ ที่ฟ้าผ่าสามารถทำร้ายเรา ลองมาดูกันทีละข้อครับ

**********

กลไก-1-Direct_Strike

กลไกที่ 1 : ฟ้าผ่าเปรี้ยงโดนตัวคน (หรือสัตว์) แบบจังๆ เรียกว่า ฟ้าผ่าโดยตรง (Direct Strike) กรณีเช่นนี้โอกาสรอดแทบเป็นศูนย์ เพราะกระแสไฟฟ้าอย่างต่ำราว 10,000 แอมแปร์

Advertisement
กลไก-2-Contact

กลไกที่ 2 : ฟ้าผ่าโดนวัตถุอื่น แต่ร่างกายสัมผัสกับตัวนำที่เชื่อมต่อกับวัตถุนั้น กระแสไฟฟ้าจึงไหลเข้าสู่ร่างกายได้ เรียกว่า การสัมผัสกับวัตถุที่ถูกฟ้าผ่า (Contact)
ในต่างประเทศ มีกรณีที่ฟ้าผ่าบนรั้วโลหะ กระแสไฟฟ้าได้ไหลไปตามรั้วและทำร้ายวัวหลายตัวที่สัมผัสกับรั้วดังกล่าวนั้น

กลไก-3-Side_Flas

กลไกที่ 3 : ฟ้าผ่าต้นไม้ เสาไฟ หรือโครงสร้างบางอย่าง จากนั้นกระแสไฟฟ้าบางส่วนได้ “กระโดด” ออกจากวัตถุที่ถูกฟ้าผ่าผ่านอากาศเข้าสู่คนหรือสัตว์ที่อยู่ใกล้ เรียกว่า กระแสไฟฟ้าแลบด้านข้าง (Side Flash หรือ Side Splash) ระยะที่เกิดกระแสไฟฟ้าแลบด้านข้างอาจไกลถึง 2-3 เมตร!

กลไก-4-Ground_Current

กลไกที่ 4 : ฟ้าผ่าลงมายังพื้น จากนั้นกระแสไฟฟ้าไหลกระจายไปตามพื้น และไหลเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์ เรียกว่า กระแสไหลตามพื้น (Ground Current)
นักวิชาการอาจพูดว่าเกิดการเพิ่มของศักย์ไฟฟ้าของผิวโลก ณ บริเวณนั้น (Earth Potential Rise) และการที่กระแสไหลเข้าสู่ร่างกายเนื่องจาก แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (Step Voltage)

Advertisement
กลไก-5-Streamer

กลไกที่ 5 : ขณะที่ประจุลบจากฐานเมฆเคลื่อนที่ลงมา จะผลักประจุลบในวัตถุบนพื้นออกไป หรืออาจมองว่าเกิด กระแสสตรีมเมอร์ไหลขึ้น (upward streamer) ไปตามโครงสร้างต่างๆ เช่น ต้นไม้ หลังคาบ้าน หรือแม้แต่ตัวคน กระแสสตรีมเมอร์อาจมีค่าสูงสุดได้หลายร้อยแอมแปร์

กลไก-6-กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำที่เกิดจากสนามแม่เหล็ก

กลไกที่ 6 : ฟ้าผ่าทำให้เกิดสนามแม่เหล็กแผ่ออกไปโดยรอบ สนามแม่เหล็กนี้สามารถทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในโลหะได้
งานวิจัยระบุว่า กระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าราว 10,000 แอมแปร์ ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขนาด 15 แอมแปร์/เมตร ในสายไฟฟ้าที่ฝังดินอยู่ห่างออกไปราว 70 เมตร และเกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำเป็นห้วงสั้นๆ ราว 20 ไมโครวินาที โดยมีค่ากระแสสูงสุดราว 120 แอมแปร์

กลไก-7-Telephone-mediated_Lightning_Strike

กลไกที่ 7 : หากฟ้าผ่าลงบนสายโทรศัพท์โดยตรง หรือผ่าโดนสายไฟฟ้าที่อยู่ใกล้สายโทรศัพท์ หรือผ่าลงสู่พื้นใกล้ๆ อาจเกิดกระแสไฟฟ้าไหลไปในสายโทรศัพท์ได้ เรียกว่า ฟ้าผ่าโดยมีสายโทรศัพท์เป็นตัวกลาง (Telephone-mediated Lightning Strike)

กลไก-8-เสียงดังจากฟ้าผ่า

กลไกที่ 8 : หากฟ้าผ่าลงมาใกล้ๆ จุดที่คนอยู่ เสียงดังกัมปนาทจากการขยายตัวของอากาศอย่างรวดเร็วอาจทำให้หูหนวกได้
นี่คือเหตุผลเบื้องหลังท่านั่งยองๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากฟ้าผ่า ซึ่งแนะนำให้ปิดหูทั้งสองข้างไว้ด้วย (ท่านี้ใช้ในกรณีที่ไม่มีสถานที่หลบที่ปลอดภัย เช่น บ้านหรือรถยนต์)

**********

จากการศึกษาของ Cooper & Holle ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ.2010 ระบุว่า กลไกที่ฟ้าผ่าทำร้ายคน เรียงจากบ่อยที่สุด ได้แก่ กระแสไหลตามพื้น (50-55%) กระแสไฟฟ้าแลบด้านข้าง (30-35%) กระแสสตรีมเมอร์ไหลขึ้น (10-15%) การสัมผัสกับวัตถุที่ถูกฟ้าผ่า (3-5%) และฟ้าผ่าโดยตรง (3-5%)

เมื่อเข้าใจกลไกต่างๆ เหล่านี้แล้ว คุณผู้อ่านก็สามารถหลีกเลี่ยงเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ส่วนคำแนะนำแบบชัดๆ เป็นข้อๆ เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า ผมจะหาโอกาสนำเสนออีกครั้งครับ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

**********

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเอกสาร (ภาษาไทย) สรุปเรื่องฟ้าผ่า ดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้ที่ www.CloudLoverClubcom โดยคำว่า “Factsheet ฟ้าผ่า”

QR_Code-Factsheet-ฟ้าผ่า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image