เล่าภาพถ่ายฝีพระหัตถ์”ในหลวงร.9″ สายพระเนตรสู่บันทึกประวัติศาสตร์ (มีภาพ)

พระฉายา ทรงถ่ายที่พระตำหนักเปี่ยมสุข อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ เมื่อ 13 มี.ค.43

“ครั้งสุดท้ายที่มีการจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในหลวง ร.9 คือปี พ.ศ.2535 หรือผ่านมา 25 ปีแล้ว ฉะนั้น เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะยังไม่เคยเห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงนี้”

คำบอกเล่าของ นายนิติกร กรัยวิเชียร ภัณฑารักษ์งานนิทรรศการ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ในการนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมและบอกเล่าถึงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์งานนิทรรศการ ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายนิติกรเล่าว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่างานนิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นว่ามีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ให้คนไทยได้ชมเป็นจำนวนมาก จึงให้สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อัญเชิญภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มาจัดแสดง ซึ่งเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาต สมาคมจึงร่วมกับมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการนี้ขึ้น โดยจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 7 มกราคม 2561

จากนั้นนายนิติกรก็พาเดินชมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ซึ่งนำมาจัดแสดงทั้งหมด 200 ภาพ แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงต้นรัชกาล 2.ช่วงกลางรัชกาล และ 3.ช่วงปลายรัชกาล

Advertisement

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดง คัดเลือกภาพที่ดูโดดเด่น สะดุดตา หลากหลาย ซึ่งเป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงถ่ายระหว่างปี พ.ศ.2498-2555”

เริ่มที่ ภาพบนรถไฟพระที่นั่ง ขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2504

นายนิติกรเล่าว่า ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวง ร.9 มีทั้งถ่ายแบบทางการ ถ่ายเล่นๆ ทั่วไป และถ่ายแคนดิด ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ช่วงแรก ส่วนใหญ่จะเป็นภาพครอบครัวของพระองค์ อย่างภาพนี้ที่ในฐานะเป็นนายกสมาคมถ่ายภาพฯ และเป็นช่างภาพคนหนึ่ง ต้องบอกว่ามีองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์งดงามมาก

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครั้งทรงพระเยาว์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งทรงพระเยาว์
ภาพบนรถไฟพระที่นั่ง ขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2504

 

ต่อมาพระฉายาลักษณ์ชุด “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9”

นายนิติกรเล่าว่า เป็นภาพตามยุคสมัย ที่หากใครสังเกตจะพบว่า ทรงพระเกศาของสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 จะเปลี่ยนตามยุคสมัย และเป็นที่ทราบดีว่าบรรดาดาราเซเลบจะเปลี่ยนทรงผมตาม นอกจากนั้นยังโปรดถ่ายสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 กับดอกไม้นานาพันธุ์ เวลาเสด็จฯแปรพระราชฐาน

“ความโดดเด่นของภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ช่วงกลางรัชกาลคือการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ซึ่งก็ต้องบอกว่า ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯพื้นที่ใด จะมีประชาชนมาเฝ้าฯรับเสด็จเป็นจำนวนมาก และพระองค์จะทรงถ่ายภาพประชาชนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จไว้ รวมถึงภาพลักษณะภูมิประเทศ บ้านเรือนประชาชน ซึ่งบางภาพยังสะท้อนพระอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงที่พระองค์โปรดการถ่ายภาพแบบพาโนราม่าอีกด้วย”

เดินถัดมาเป็นพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อีกชุด ซึ่งนายนิติกรกล่าวว่า “เป็นภาพถ่ายแบบทางการที่สวยงามมาก ทั้งเรื่องโครงสร้าง องค์ประกอบภาพ การจัดแสงสีต่างๆ เห็นแล้วรู้สึกชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของพระองค์ ขณะที่ภาพที่ผมชอบที่สุดภาพหนึ่งคือภาพที่มีพระฉายา (เงา) ของพระองค์ชัดเจน เพราะถ่ายทอดความเป็นพระองค์ได้ดี”

 

การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
ภาพลักษณะภูมิประเทศจากการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
ภาพลักษณะภูมิประเทศจากการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
ภาพลักษณะภูมิประเทศจากการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ

พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงถ่ายแบบทางการ
ทรงพระเกศาของสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 จะเปลี่ยนตามยุคสมัย
ถ่ายสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 กับดอกไม้นานาพันธุ์ เวลาเสด็จฯแปรพระราชฐาน
ทรงพระเกศาของสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 จะเปลี่ยนตามยุคสมัย
ภาพพระฉายา (เงา) ของในหลวงร.9 ที่นายนิติกรชื่นชอบมากที่สุดภาพหนึ่ง

 

“ในปี 2541 ที่พระองค์เสด็จฯไปศูนย์การแพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ได้พบคุณทองแดงซึ่งเกิดในบริเวณดังกล่าวเป็นครั้งแรก ทรงรับเลี้ยงไว้จนมีเรื่องเล่าขานและภาพถ่ายมากมายในช่วงปลายรัชกาล อย่างภาพทรงยื่นพระหัตถ์ป้อนข้าวคุณทองแดงตอนมีลูก ภาพคุณทองแดงนั่งข้างแม่มะลิแม่นมตอนเด็ก ภาพคุณทองแดงปีนต้นมะพร้าว ภาพคุณทองแดงเล่นคอมพิวเตอร์ทรงงาน ซึ่งทรงรักและดูแลคุณทองแดงอย่างดี จนคุณทองแดงเสียชีวิตด้วยความชราในปี 2558″

นายนิติกรเล่าอีกว่า จนมาช่วงปลายรัชกาล ที่ทรงถ่ายภาพสิ่งแวดล้อมรอบพระวรกายจากห้องที่ประทับรักษา ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช อย่างภาพที่ถ่ายลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาพพลุในวันขึ้นปีใหม่ หรือภาพประชาชนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จที่โรงพยาบาลศิริราช

“เท่าที่ศึกษามา ในหลวง ร.9 ทรงศึกษาการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ทรงเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์ ระหว่างทรงศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงซื้อกล้องตัวเล็กๆ ให้ ตรงนี้ก็ทำให้เชื่อว่าจำนวนภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์น่าจะมีเป็นหลักหมื่นเป็นแสนภาพตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไป”

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทั้งหมดนี้ คือการถ่ายทอดจากสายพระเนตรที่พระองค์ทรงเลือกแล้ว เพราะทรงถ่ายและทรงอัดล้างภาพด้วยพระองค์เอง นับเป็นภาพถ่ายที่ให้คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์” นายนิติกรทิ้งท้าย

 

คุณทองแดง
คุณทองแดงวิ่งเล่น ณ วังไกลวังวล
ภาพทรงยื่นพระหัตถ์ป้อนข้าวคุณทองแดงตอนมีลูก
ภาพคุณทองแดงนั่งข้างแม่มะลิแม่นมตอนเด็ก
ภาพคุณทองแดงเล่นคอมพิวเตอร์ทรงงาน
คุณทองแดงตอนเด็ก

คุณทองแดงและลูกๆ

ภาพคุณทองแดงปีนต้นมะพร้าว เพื่อกินน้ำมะพร้าว

ภาพทรงถ่ายประชาชนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ รพ.ศิริราช
ภาพทรงถ่ายจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช
นิติกร กรัยวิเชียร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image