ญี่ปุ่นเดินหน้า รับมือ ปัญหาคนชราขับรถ หลังตัวเลขอุบัติเหตุพุ่ง

จากที่ได้ยินคำว่า  “สังคมสูงวัย” มาสักระยะ อีกหน่อยเราก็จะเริ่มได้เห็นปัญหา ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปต่างๆ ที่มาพร้อมกับสังคมผู้สูงวัย ที่นับวันยิ่งขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาอย่างหนึ่ง ที่เริ่มสร้างความกังวลให้แก่สังคมในญี่ปุ่นแล้วตอนนี้ก็คือ ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากคนแก่ขับรถ ที่ล่าสุดมีตัวเลขจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาว่าเมื่อปี 2559 มีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ถึง 965 คดี มากกว่า 1 ใน 4 ของอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และหนึ่งในอุบัติเหตุสุดช็อกที่สุดก็คือ คดีที่ชายสูงอายุวัย 87 ปีขับรถพุ่งชนกลุ่มเด็กนักเรียน ทำให้มีเด็กนักเรียนวัย 6 ขวบเสียชีวิต และมีเด็กนักเรียนอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

แล้วในอนาคตล่ะ ปัญหานี้จะเป็นอย่างไร?

ในบทความของเอเอฟพีอ้างว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากคนแก่ขับรถเป็นปัญหาหนึ่งที่มีหลายฝ่ายมองว่าจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีการประมาณว่า ภายในปี ค.ศ.2060 หรืออีก 43 ปี ญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงอายุอยู่ถึง 40% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถึงวันนั้นปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนจะยิ่งน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นได้พยายามหาทางรับมือกับปัญหานี้ อย่างเช่นมีการออกกฎหมายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้ผู้ขับขี่อายุ 75 ปีต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการรับรู้ ความเข้าใจเมื่อไปต่ออายุใบขับขี่ใหม่

Advertisement

นอกจากนั้นยังมีโครงการมอบส่วนลดค่าทำศพ มอบส่วนลดค่าอาหาร ค่ารถแท็กซี่ หรือให้ตั๋วขึ้นรถเมล์ฟรีแก่ผู้สูงวัยอายุเกิน 75 ปีที่นำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ไปคืนแก่ทางราชการ หรือการที่สหพันธ์รถยนต์แห่งญี่ปุ่นมีจัดอบรมการขับรถอย่างปลอดภัยให้แก่ผู้สูงวัย ซึ่งมีขึ้นที่เมืองคานูมะ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เอมิโกะ ทากาฮาชิ หญิงชราวัย 73 ซึ่งเข้ารับการอบรมนี้ด้วยยอมรับว่าที่เธอตัดสินใจมาเข้ารับการอบรมก็เพราะเธอรู้ตัวว่ายิ่งอายุมากขึ้น เธอก็ยิ่งไม่มีความมั่นใจเวลาขับรถ และตัดสินใจช้าลง แต่เธอก็เลิกขับรถไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เธอต้องขับรถพาสามีวัย 80 ปีไปหาหมอที่โรงพยาบาลทุกวัน

Advertisement

ขณะที่ คิโยทากะ ยูกิตะ ชายวัย 67 ปี พูดถึงสิ่งล่อใจที่มีออกมาเพื่อจูงใจให้ผู้สูงวัยเลิกขับรถ โดยนำใบขับขี่ไปคืนทางราชการว่า “ตั๋วขึ้นรถเมล์ฟรี ไม่ดึงดูดพอที่จะทำให้คนชรานำใบขับขี่ไปคืนหรอก เพราะข้อดีของการขับรถเองก็คือ คุณสามารถจะไปที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ที่คุณต้องการ ผมก็คิดว่าผมจะยังสามารถขับรถไหวไปจนกว่าผมจะตาย”

ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมตำรวจบอกว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่สูงวัยส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุความสับสนระหว่างเหยียบเบรกกับคันเร่ง และควบคุมพวงมาลัยรถไม่อยู่ ขณะที่ มาซาโตะ เซนยูจิ ครูสอนขับรถของสหพันธ์รถยนต์แห่งญี่ปุ่น บอกว่า อีกสาเหตุหนึ่งมาจากความเสื่อมถอยของความสามารถในการตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วนที่ช้าลง อย่างเช่นการต้องเหยียบเบรกกะทันหัน

“ยิ่งเมื่อคุณเหยียบคันเร่ง รถแล่นด้วยความเร็วมากขึ้น มุมมองของคุณก็จะยิ่งแคบลง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย” เซนยูจิบอก

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ “ความมั่นใจที่มากเกินไป” ซึ่ง มาซาบูมิ โตโกโระ อาจารย์มหาวิทยาลัยริสโซ กรุงโตเกียว ซึ่งศึกษานิสัยการขับรถของผู้สูงอายุ บอกว่า มักมีอยู่ในผู้ขับขี่สูงอายุที่ขับรถมานาน ซึ่งมักจะเชื่อว่าตนขับรถมานานจนชำนาญ และสามารถจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้แน่

ทั้งนี้อาจารย์โตโกโระได้ยกข้อมูลจากการศึกษาของเขาว่า ในกลุ่มผู้ขับขี่อายุราว 30 ปี มีเพียง 10% ที่คิดว่าสามารถหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ในกลุ่มผู้ขับขี่อายุ 75 ปีหรือมากกว่านั้น มีอยู่ถึง 53% ที่คิดว่าสามารถหลบเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้

“พวกเขาคิดว่าพวกเขาสามารถหลบเลี่ยงอุบัติเหตุ ด้วยฝีมือ ทักษะความชำนาญในการขับรถของพวกเขาที่มีมานาน” อาจารย์โตโกโระกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image