บ้านไม่ใช่เวทีมวย

แม้จะเป็นวันสุดท้ายของเดือน “ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” แต่ความรุนแรงมิได้หมดไปพร้อมๆ กันด้วย ยังคงเกิดขึ้นทุกวัน ทุกเวลา โดยเฉพาะที่ “บ้าน” สถานที่ที่หลายคนเปรียบเทียบว่า “บ้านคือวิมาน” แต่สำหรับบางครอบครัว บ้านประหนึ่ง “นรก” หรือบางบ้านเปรียบเทียบว่าเป็น “เวทีมวย” เพราะคนในครอบครัวทำร้ายร่างกายกันทุกวัน

เมื่อ “บ้าน” สถานที่ที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุด กลับกลายมาเป็นสถานที่ที่ “โหดร้าย” ที่สุด แล้วสมาชิกในครอบครัวจะหาความสุขในชีวิตได้อย่างไร

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ บริษัท เจ.วอลเตอร์ธอมสัน ประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกแคมเปญรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “บ้านไม่ใช่เวทีมวย? ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” เพื่อรณรงค์เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ณ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

Advertisement

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังเป็นปัญหาที่น่าห่วงอยู่มาก สะท้อนจากการเก็บข้อมูลปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 โดยรวบรวมข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงถึง 466 ข่าว อันดับ 1 เป็นข่าวการฆ่ากัน รองลงมาคือข่าวฆ่าตัวตาย ข่าวการทำร้ายกัน ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว

“ที่น่ากังวลคือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนำไปสู่ความสูญเสียถึงขั้นเสียชีวิตทั้งหญิงและชายสูงถึง 308 ข่าว หรือ 66.1% ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยวิธีการที่ผู้ชายลงมือฆ่า เกือบครึ่ง 43.6% ใช้อาวุธปืนยิง รองลงมาใช้มีดหรือของมีคม การตบตีจนเสียชีวิต และการเผา”

ทุกการกระทำล้วนร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงตอบโต้กลับ

Advertisement

“ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายปางตาย ไม่ได้โชคดีหนีรอดมาได้ทุกคน ยังมีหลายรายต้องจบลงด้วยการเสียชีวิต หรือผู้หญิงกลายเป็นฝ่ายโต้กลับด้วยความรุนแรง เพราะหมดความอดทนที่สะสมมาหลายปี จนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย”

ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นเจตนาที่ผู้หญิงอยากให้เกิด

“อยากให้สังคมมองปัญหาอย่างเข้าใจ ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ต้องการให้บ้านมีความรุนแรง” อังคณาย้ำ แล้วเสริมว่า สาเหตุหลักคือ ระบบคิดชายเป็นใหญ่ ที่ยังฝังรากลึกในสังคม

“ผู้ชายควรปรับทัศนคติไม่ใช้อำนาจเหนือกว่า ภาครัฐต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช่วยผู้หญิงได้จริง เกิดการรณรงค์ให้เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศ”

นอกจากภาครัฐแล้ว สังคมก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ

“สังคมต้องไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งชุมชนต้องร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังแจ้งเหตุและห่างไกลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เป็นดีที่สุด” อังคณากล่าว

นางสาวเอ (นามสมมุติ) อายุ 34 ปี ผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกผ่านภาพยนตร์ชุด “บ้าน?ไม่ใช่เวทีมวย” และเคยเป็นผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากอดีตสามีทำร้าย กล่าวว่า อยากให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเช่นเดียวกับตนเองลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ อย่ายอมเป็นผู้ถูกกระทำ อยากให้สู้ เลิกทนอยู่กับความรุนแรง สติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ขอให้ก้าวผ่านมันมาให้ได้ และเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา

“ร่องรอยบาดแผลที่ศีรษะ มือ แผลเป็นรอบตัว ยังเป็นเครื่องเตือนสติมาตลอดกว่า 7 ปีที่ต้องทนทุกข์ทรมาน อยากฝากเป็นบทเรียนกับหลายๆ คนว่า การใช้ความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะซ้ำเติมทำให้ครอบครัวแย่และพังลง ความรักที่แท้จริงต้องเอาใจใส่ดูแล เข้าใจกัน ไม่ใช่เจ้าข้าวเจ้าของ และอย่าอ้างว่ารักแต่ทำร้าย”

นางสาวเอฝากถึงผู้หญิงที่ตอนนี้กำลังทนทุกข์ทรมานกับความรุนแรงในครอบครัวว่า

“ต้องกล้าที่จะขอคำปรึกษาช่วยเหลือ มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนที่ต้องอายคือคนที่ทำร้ายเรา”

อังคณา อินทสา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image