4 ใน 10 ผู้ป่วยมะเร็งในสหรัฐ เกิดจากความเสี่ยงที่สามารถ ‘เปลี่ยน’ ได้

 

ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” ใครก็กลัว แต่ล่าสุดมีรายงานว่า 4 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกามีสาเหตุมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่สามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แล้วยังหาสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยง หรือเปลี่ยนแปลงได้

เอเอฟพีอ้างว่านี่เป็นรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เกี่ยวกับโรคมะเร็งสำหรับเจ้าหน้าที่ทางแพทย์ ที่มีเป้าหมายของการสำรวจเพื่อรวบรวมสาเหตุที่เกิดจากความเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งก็เช่น การสูบบุหรี่ การสูดควันบุหรี่ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป การดื่มสุรา การรับประทานเนื้อแดง และการบริโภคผัก ผลไม้น้อยเกินไป แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆอีก อาทิ การรับประทานกากใยอาหาร หรือแคลเซียมไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย การได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ต และการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (HPV) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่อวัยวะเพศ และเนื้องอกบริเวณศีรษะและคอ

Advertisement

ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์อัตราความแพร่หลายของปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ และผลของความเสี่ยงเพื่อประเมินสัดส่วนที่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จากนั้น ทีมนักวิจัยก็ได้นำสัดส่วนเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งล่าสุด เพื่อประเมินจำนวนผู้ป่วย และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 26 ชนิด โดยจากตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวน 1.57 ล้านรายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2557 ทีมนักวิจัยสรุปว่ามีถึง 42% ที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหล่านี้ ขณะที่ยังพบด้วยว่า จากตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มีอยู่ 45% ที่สามารถสรุปได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวที่ว่ามา

ในจำนวนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ปรากฏว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มาเป็นอันดับ 1 ได้แก่การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวพันทำให้เกิดโรคมะเร็งในผู้ป่วยราว 19% และทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 29% ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ได้แก่ การมีน้ำหนักตัวมากเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุในผู้ป่วยมะเร็ง 7.8% และมีผู้เสียชีวิต 6.5%

Advertisement

ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 3 ได้แก่ การดื่มสุรา เป็นสาเหตุในผู้ป่วยมะเร็งราว 5.6% และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 4%, อันดับ 4 ได้แก่ รังสียูวี ทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งราว 4.7% และผู้เสียชีวิตราว 1.5% ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุเกี่ยวพันให้มีผู้ป่วยมะเร็ง 3% และผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 2.2%

อันดับ 6 ได้แก่ การรับประทานผัก ผลไม้ไม่เพียงพอ มีส่วนเกี่ยวพันกับการป่วยด้วยโรคมะเร็งเกือบ 2% และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 3% ขณะที่การติดเชื้อ HPV เป็นสาเหตุเกี่ยวพันกับผู้ป่วยมะเร็งเกือบ 2% และเกี่ยวพันกับผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งราว 1%

สำหรับโรคมะเร็ง 2 ชนิดที่พบว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด อันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเหล่านั้น ได้แก่ โรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ท้ายสุดในรายงานสรุปว่า การให้ความรู้แก่ประชากรให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งและการเข้าถึงการดูแล ป้องกันสุขภาพ จะสามารถเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา

ภาพจาก scmp.com และ AFP

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image