รีไซเคิล”มือถือเก่า” ช่วยต่อสุขภาพคนไทย

ภาพประกอบ

โลกยุคดิจิทัลที่สมาร์ทโฟนไม่เพียงเป็นแค่โทรศัพท์ใช้ติดต่อสื่อสาร แต่ยังเป็นแหล่งค้นหาข้อมูล ช้อปปิ้ง ไปจนถึงเป็นธนาคารเคลื่อนที่ จึงไม่แปลกที่ใครต่อใครจะมีโทรศัพท์มือถือติดตัวเป็นสิ่งสำคัญ และอาจจะไม่แปลก หากจะเปลี่ยนรุ่นใหม่เพื่อให้ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ

แต่…โทรศัพท์เครื่องเก่าเหล่านั้นไปไหน

จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษเมื่อปี พ.ศ.2559 พบว่ามีโทรศัพท์มือถือถูกทิ้งประมาณ 10.9 ล้านเครื่อง และโทรศัพท์มือถือเก่าที่สะสมอยู่ในครัวเรือนคนไทยถึง 200 ล้านเครื่อง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จำนวนมหาศาลที่ยากต่อการทำลาย จึงเป็นที่มาของโครงการ “มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา” เฟส 1 รับบริจาคโทรศัพท์มือถือไม่ใช้แล้วจากทั่วประเทศได้กว่า 1.7 ล้านเครื่อง นำไปรีไซเคิลเป็นเงินมูลค่า 3,620,000 บาท นำไปบริจาคให้กับ 1.มูลนิธิรามาธิบดี

เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ 2.ศิริราชมูลนิธิ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทร์บพิตร 84 พรรษา 3.มูลนิธิเดอะ วอยซ์ (เสียงจากเรา) เพื่อช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตด้อยโอกาสและสัตว์ยากไร้ และ 4.กลุ่มพหุชนคนอาสา ช่วยเหลือการทำงานผู้มีจิตสาธารณะบรรเทาทุกข์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยจัดมอบเงินบริจาค ณ สโมสรโรงงานยาสูบ

Advertisement

โดยขณะนี้ได้เปิดตัวโครงการเฟส 2 ภายใต้แนวคิด “มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา” ตั้งเป้ารับบริจาคโทรศัพท์ 5 ล้านเครื่อง นำเงินบริจาคมอบให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ 30 แห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์

ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าคนไทยเปลี่ยนมือถือใหม่ทุก 2 ปี โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนตามกระแสนิยม แฟชั่น หรือแม้แต่เปลี่ยนให้ทันสมัย เพราะเครื่องเก่าไม่สามารถใช้แอพพลิเคชั่น

บางอย่างได้ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นค่ายมือถือทั้งผ่อน 0% สิบเดือน จูงใจให้เปลี่ยนมือถือได้ง่ายขึ้น แต่กลับกัน แม้จะมีเครื่องใหม่ แต่คนทั่วไปก็ยังไม่อยากจะทิ้งเครื่องเก่า เพราะโทรศัพท์มีข้อมูลส่วนตัวที่กลัวจะหลุด

Advertisement

“คนส่วนใหญ่วางโทรศัพท์เก่าทิ้งไว้เฉยๆ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับตู้เย็น ทีวี พัดลม ที่มีสารพิษในตัวเอง จะทิ้งขยะทั่วไปไม่ได้ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่จะมีโรงงานรับไปกำจัด แต่กับขยะชิ้นเล็กๆ ที่ใกล้ตัวเช่นนี้ คนไม่ค่อยนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีนัก หากเราวางไว้เฉยๆ วันหนึ่งสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนสภาพ อากาศเปลี่ยน วันหนึ่งแบตอาจจะเยิ้ม เป็นอันตรายขึ้นมาหากสัมผัส หรือเมื่อโดนน้ำไหลไปสู่ดิน ทำให้ดินเสีย เพาะปลูกไม่ได้” ศ.ดร.กุณฑลีกล่าว

แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “โทรศัพท์” จะนำไป “รีไซเคิล” ได้อย่างไร

สายฝน อภิธนัง หัวหน้าประชาสัมพันธ์โครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ในโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ประกอบด้วยสารต่างๆ ได้แก่ พลาสติก ทองแดง เหล็กกล้า ดีบุก ไปจนถึงทองคำ สามารถนำไปแยกประเภทแล้วหลอมขึ้นใหม่นำไปขายต่อได้ โดยโทรศัพท์เครื่องหนึ่งสามารถแยกส่วนได้หมด ยกเว้นแบตเตอรี่ที่ต้องทำลายอย่างเดียวเท่านั้น และยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า

“ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับให้กำจัดขยะเหล่านี้ได้ในประเทศ เพราะควบคุมมลพิษได้ยาก เราจึงต้องส่งไปรีไซเคิลที่ประเทศจีน ซึ่งในเอเชียมีเพียงจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีโรงงานกำจัด”

สายฝนยังเผยต่อว่า โทรศัพท์เครื่องหนึ่งอาจจะมีมูลค่าหลังรีไซเคิลไม่เท่าไร แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การได้กระตุ้นให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะกว่าจะได้โทรศัพท์หนึ่งเครื่อง ต้องไถหน้าดิน ขุดแร่ธาตุจำนวนมาก

“หลังจากเปิดโครงการ เราได้รับโทรศัพท์จำนวนมาก ส่วนหลายคนที่ไม่สบายใจเรื่องข้อมูลในเครื่องก็สามารถทำลาย ทุบให้แตกมาให้ได้เลย ซึ่งทางเราจะไม่มีการแกะชิ้นส่วนก่อนถึงโรงงานที่จีน บางคนนำโทรศัพท์มาบริจาคถึง 20 เครื่อง ตั้งแต่รุ่นเก่ารุ่นแรกๆ บางคนส่งเครื่องแฟกซ์เก่ามาก็มี จึงถือเป็นเรื่องดีที่ได้ปลูกจิตสำนึกของคนให้รักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว” สายฝนกล่าว

ผู้สนใจสามารถบริจาคตั้งแต่วันนี้-31 มกราคม ที่โรงพยาบาลส่งเสริมคุณภาพตำบล หรือสถานีอนามัยทั่วประเทศ, ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ, ร้านเจมาร์ท หรือส่งไปรษณีย์มาที่ศูนย์ประสานงานจิตอาสาโครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เลขที่ 33 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110

ช่วยกันคนละไม้คนละมือรักษาสิ่งแวดล้อม

สายฝน อภิธนัง
ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image