บ้านพักคนชรา ‘บ้านบางแค’ ในวันที่ต้อง ‘ต่อคิว’ จองข้ามปี

ถ้านึกถึง “บ้านพักคนชรา” หนึ่งในชื่อที่คุ้นหูคนไทยคือ “บ้านพักคนชราบ้านบางแค” ที่ก่อตั้งมานานหลายสิบปี

ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาพของบ้านบางแคถูกนำเสนอให้แง่มุมของบ้านพักผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทิ้ง ไม่มีคนดูแล แต่เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ทุกวันนี้มีผู้สูงอายุนับ 1,000 คน สมัครใจที่จะเดินเข้าสู่บ้านพักคนชราด้วยตนเอง และต้อง “จองคิว” นานข้ามปี

“บ้านบางแค” หรือศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค (ศพส.บ้านบางแค) ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ในวันนี้ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เล็กใหญ่นานาชนิด เดินตามทางเดินเข้าไปมีป้ายบอกทางเห็นชัดเจน ด้านข้างมีราวจับ และมีทางลาดให้ขึ้น-ลงเป็นระยะ

ผู้สูงอายุหลายคนกำลังทำกิจกรรม บ้างกำลังวาดรูป ทำงานฝีมือ เล่นสแต๊ก ร้องคาราโอเกะ เล่นคอมพิวเตอร์ ตลอดจนนอนหลับพักผ่อน ซึ่งที่นี่มีผู้สูงอายุ 228 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 62 คน และผู้หญิง 166 คน

Advertisement

นางสิรินุช อันตรเสน ผู้อำนวยการ ศพส.บ้านบางแค เล่าว่า ผู้สูงอายุที่จะเข้ามาอยู่ที่นี่ได้มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.สามัญ เป็นผู้สูงอายุที่เจ้าหน้าที่บ้านและทีมสหวิชาชีพออกไปเจอตามชุมชน ซึ่งผ่านการประเมินแล้วว่าจำเป็นและรีบเร่งต้องให้การช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีใครอุปการะเลี้ยงดู รองลงมาคือยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย สมัครใจ และอยู่กับครอบครัวไม่มีความสุข โดยรับเข้ามาดูแลโดยไม่เสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น

2.เสียค่าบริการแบบหอพัก มีบริการทั้งหมด 40 ห้อง ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องเช่าเดือนละ 1,500 บาทสำหรับห้องเดี่ยว และเดือนละ 2,000 บาทสำหรับห้องคู่ จ่ายค่าน้ำประปาและไฟฟ้าต่างหาก และรับบริการและอาหาร 3 มื้อ

3.พิเศษบังกะโล มีบริการทั้งหมด 11 หลัง ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องจ่ายค่าบำรุงแรกเข้า 3 แสนบาทเพื่อเข้าอยู่ โดยจะได้รับบริการและอาหารฟรีจนเสียชีวิต หากเสียชีวิตจะเปิดให้ผู้สูงอายุอื่นที่ยื่นความประสงค์ไว้เข้าไปอยู่ต่อ โดยผู้สูงอายุนั้นจะต้องจ่ายค่าบำรุง 3 แสนบาท เพื่อนำไปซ่อมแซมบ้าน และจ่ายค่าบริการรายเดือน 1,500 บาทสำหรับห้องเดี่ยว และเดือนละ 2,000 บาทสำหรับห้องคู่ จ่ายค่าน้ำประปาและไฟฟ้าต่างหาก และรับบริการและอาหาร 3 มื้อ

กว่าจะมาเป็นผู้สูงอายุในบ้านบางแคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องจองคิวก่อน ซึ่งก็รอนานจนกระทั่งผู้สูงอายุหลายคนเสียชีวิตไปก่อน อย่างประเภทหอพักปัจจุบันต้องรอพันกว่าคิว ประเภทบังกะโลรอ 40 กว่าคิว ส่วนประเภทสามัญก็ต้องรอให้ว่างก่อน ถึงจะเข้าไปทดแทนได้

นางสาวสิริพร ธุปะละ หนึ่งในพี่เลี้ยงประจำบ้าน เล่าว่า ที่นี่เราดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่อาหาร 3 มื้อตามหลักโภชนาการ มีแพทย์และพยาบาลคอยดูแล และมีกิจกรรมมากมายให้ผู้สูงอายุทำตามความสนใจ ซึ่งอย่างที่ฮิตๆ เลยคือ เล่นบิงโก วาดรูป ร้องเพลง สแต๊ก สวดมนต์ บางคนก็ทำงานประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ ไปวางขายได้ส่วนแบ่งกลับมา แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้สูงอายุอีกหลายคนที่เลือกกินและนอน

“แม้ส่วนตัวจะคิดว่า ผู้สูงอายุหากได้อยู่กับลูกหลานและครอบครัวจะอบอุ่นและมีความสุขกว่าอยู่ที่นี่ แต่เมื่อไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ ที่นี่ก็จะเป็นความสุขให้เขา อย่างน้อยๆ เขาจะมีเพื่อนคุยตลอด 24 ชั่วโมง มีเพื่อนที่คอยดูแลกันและกัน มีกิจกรรมสนุกสนานให้เลือกทำ ได้ออกไปนอกสถานที่บ้าง” นางสาวสิริพรกล่าว

ด้านหน้า
สระน้ำกลางบ้านบางแค
ทางเดินมีราวจับตลอดทาง และมีทางลาดเมื่อสิ้นสุดเส้นทาง
สวนหย่อมริมสระน้ำ
ห้องคอมพิวเตอร์สนับสนุนโดยภาคเอกชน
ลานเปตองริมสระน้ำ
ภายในบ้านพักของผู้สูงอายุอยู่แบบสามัญ
ที่พักแบบรีสอร์ทของผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลภายในบ้านบางแค

 

อุปกรณ์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
นักศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลมาชวนออกกำลังกาย
ห้องดนตรีไทย
เล่นบิงโก
ร้องคาราโอเกะ
สับสลับแก้ว เพิ่มสมรรถนะสมอง

 

อย่าง คุณลุงเจริญ พินอำไพ อายุ 79 ปี อยู่ที่บ้านบางแคมาแล้ว 10 ปี เพราะไม่มีญาติและป่วยอัมพฤกษ์ สิ่งที่คุณลุงชอบทำเลยคือการปลูกและดูแลต้นไม้ในบ้านบางแคกว่า 30 ต้น ซึ่งทำด้วยความสมัครใจ คุณลุงยังยืนยันว่า “อยู่ในนี้ไม่ได้น่ากลัวหรือหดหู่อย่างที่คนข้างนอกอาจเข้าใจ เพราะที่นี่มีเพื่อนให้คุยเยอะ มีกิจกรรมให้ทำตลอด”

เช่นเดียวกับ คุณยายเนียร พงศ์พิชัย อายุ 101 ปี ที่สามีและลูกเสียชีวิตไปหมด ไม่มีผู้อุปการะดูแล “อยู่ที่นี่สบายดี มีเพื่อนเยอะ ทำให้ได้พูดคุย ได้แบ่งปันกัน” ซึ่งคุณยายชอบสวดมนต์ และชอบฟังเพื่อนๆ ร้องคาราโอเกะ

ปัจจุบันศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) มีทั้งหมด 12 แห่ง แม้รัฐบาลจะไม่มีแผนสร้างเพิ่ม แต่มีแผนจะขยายเนื้องานการดูแลผู้สูงอายุไปยังท้องถิ่น ผ่านกลไกศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ซึ่งปัจจุบันมีครอบคลุมทุกอำเภอ

ในปี 2561 นี้ กรมกิจการผู้สูงอายุมีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ศพส. และขยายสาขาอีก 400 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมระดับตำบลในอนาคตต่อไป ส่วน ศพส.ทั้ง 12 แห่งจะผลักดันให้เป็นศูนย์ต้นแบบแห่งการดูแลผู้สูงอายุครบวงจรและนวัตกรรม เพื่อให้ท้องถิ่นต่างๆ มาศึกษาดูงาน กลับไปพัฒนางานดูแลผู้สูงอายุให้เข้มแข็งต่อไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และการเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงอายุคุณภาพตั้งแต่แรกเกิด อาทิ รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ การวางแผนชีวิต การออม

 

สิรินุช อันตรเสน

เนียร พงศ์พิชัย
สิริพร ธุปะละ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image