เรียนรู้”จีน”ยุคใหม่ จากพระราชนิพนธ์แปล “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาญาณทางด้านอักษรศาสตร์อย่างที่ชาวไทยและชาวโลกได้ประจักษ์ นับเป็นอีกครั้งที่นักอ่านจะได้ชื่นชมพระบารมีผ่านพระราชนิพนธ์แปลเล่มใหม่ “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว” จากต้นฉบับภาษาจีนที่พระองค์ทรงถ่ายทอดร้อยเรียงคำจากภาษาจีนสู่ภาษาไทย ให้นักอ่านได้ดื่มด่ำไปกับอรรถรสของนวนิยายที่แฝงไว้ด้วยความหมายของการใช้ชีวิต อีกทั้งยังเป็นการเจริญสัมพันธภาพที่ดีระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีนให้ยืนยาวต่อไป

นานมีบุ๊คส์ได้จัดงานเปิดตัวพระราชนิพนธ์ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน โดยได้ “หลัน ซู่หง” ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน และ สุวดี จงสถิตวัฒนา ประธานกรรมการบริษัท นานมี บุ๊คส์ จำกัด กล่าวเปิดงาน และได้นักเขียนนวนิยายเล่มนี้ “ชวนหนี” เดินทางมาร่วมงานด้วย

ชวนหนีกล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเพื่อนเก่าแก่ของจีน และทรงมีชื่อเสียงในประเทศจีนเป็นอย่างมาก งานเขียนของนักเขียนรุ่นพี่หลายคนก็ได้รับการแปลจากพระองค์แล้ว และครั้งนี้ทรงแปลนวนิยายของเธอ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นวนิยายเล่มนี้จะได้แลกเปลี่ยนกับคนไทย

“พระองค์ทรงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ คนจีนเคารพและรักพระองค์ อย่างดิฉันมักจะติดตามอยู่เสมอว่าพระองค์จะเสด็จฯ เยือนจีนเมื่อไหร่ คนจีนจะเรียกพระองค์ว่า ซือ หลิง ทง กง จู่”

Advertisement

ในโอกาสนี้ ชวนหนีได้แต่งกลอนเป็นภาษาจีนถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยแปลเป็นภาษาไทยว่า “จิตวิญญาณแห่งวรรณกรรมเชื่อมโยงกัน ความคิดเชิงวรรณกรรมเหมือนกับสายน้ำที่หลั่งไหล จิตใจและความรู้สึกชั่วฟ้าดินสลาย”

 

cover ความรักใดจะไม่ปวดร้าวr

Advertisement

ชวนหนี2ชวนหนีแจกลายเซ็น

ชวนหนีแจกลายเซ็น

ผศ.ก่อศักดิ์-ผศ.วรศักดิ์

ผศ.ก่อศักดิ์-ผศ.วรศักดิ์

สำหรับ “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว” เป็นนวนิยายสะท้อนภาพปัญหาครอบครัวผ่านชีวิตรักของหนุ่มสาวชาวจีนในสังคมจีนยุคใหม่ จากมุมมองของผู้เป็นทั้งแม่และภรรยา กับค่านิยมเก่าที่บูชาเทิดทูนความรัก ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตครอบครัวของชาวจีนยุคใหม่แล้ว ยังได้เรียนรู้การเห็นคุณค่าของตนเองเกี่ยวกับความรัก และการประคับประคองความรักให้ยืนยาวด้วย

“ความรักมีหลายมิติ ทั้งความรักของพ่อแม่ ความรักของหนุ่มสาว ความรักของเพื่อน แต่ความรักที่เจ็บปวดที่สุด คือ ความรักของหนุ่มสาว เพราะมีความซับซ้อนมากกว่าความรักแบบอื่น” ชวนหนีเริ่มเล่าถึงนวนิยายเล่มนี้ของเธอ และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้หญิงที่เมื่อแต่งงานแล้วมีลูกต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตสมรสที่ทำงานไปด้วยและดูแลครอบครัวไปด้วย โดยใช้ปักกิ่งเป็นฉากและเป็นตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่างในฐานะเมืองหลวง

“ดิฉันเขียนนิยายเรื่องนี้หลังจากมีลูกแล้ว 2 ปี จึงอาศัยเหตุการณ์ตรงนี้มาเขียน โดยตัวละครมีเป็นคนทำงาน เป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องเลือกมาเป็นแม่บ้าน ซึ่งเธอเป็นตัวแทนของผู้หญิงกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในจีนที่ตกในสภาพแบบนี้”

ชวนหนีเล่าถึงสภาพสังคมจีนของคนชนชั้นกลางว่า เมื่อเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีงานทำมีความรู้ ทำให้บางคนเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง ไม่แต่งงาน ซึ่งตรงนี้เป็นตัวสะท้อนความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนมากพอสมควรเลือกที่จะออกจากงานไปเป็นแม่บ้านเต็มตัวเพื่อดูความเติบโตของลูก โดยเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ไม่ใช่ครอบครัวใหญ่อย่างแต่ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในความคิด และเพื่อรักษาความปรองดอง แต่แม้จะเป็นยุควัตถุนิยม คนจีนหนุ่มสาวก็ยังเชื่อในความรัก

“ผู้หญิงสมัยนี้ได้รับการศึกษา มีโอกาสทำงาน เป็นตัวของตัวเอง เป็นนายของตัวเอง เป็นที่ยอมรับ ทำให้ผู้หญิงโดดเด่นขึ้นมาด้วยความสามารถของตัวเอง เมื่อผู้หญิงกลับไปถึงบ้าน ก็ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลลูก ซึ่งตรงนี้เป็นความขัดแย้ง”

จุดนี้ ชวนหนีบอกว่า คล้ายกับผู้หญิงไทย ซึ่งเคยได้ยินจากเพื่อนที่เคยมาอยู่เมืองไทยว่า “ผู้หญิงไทยเป็นผู้หญิงแกร่งมีความสามารถดูแลทั้งในบ้านและนอกบ้านได้ และผู้ชายไทยโชคดี”

สำหรับฟีดแบ๊กจากหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนบอกว่า ผู้อ่านชาวจีนบางคนอ่านแล้วน้ำตาไหลและแชตมาคุยกับเธอ เล่าถึงความเสียใจ ความทรมานต่างๆ ซึ่งเธอก็ให้กำลังใจและบอกว่าให้เติบโตไปกับลูกในฐานะแม่และภรรยา ส่วนผู้ชาย ส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาที่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นแบบนี้

“นี่เป็นวิธีคิดที่แตกต่างกันระหว่างหญิงชาย แล้วเป็นปัญหาขึ้น” ชวนหนีระบุ และทิ้งท้ายว่า

“สำหรับผู้หญิงที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ขอให้เติบโตในทุกด้าน ส่วนผู้ชาย อ่านแล้วขอให้เข้าใจผู้หญิง และช่วยทำงานบ้านบ้าง และหวังว่า ผู้อ่านชาวไทยจะชอบนิยายเรื่องนี้ ผู้หญิงไม่ว่าไทยหรือจีน ตกอยู่ในสภาพสากลแบบนี้ แต่ดิฉันก็เชื่อในพลังเติบโตของหญิง”

ภายในงานยังมีเสวนาเรื่อง “เรียนรู้ ติดตาม สถานการณ์ครอบครัวจีนสมัยใหม่”

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการจีนศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นิยายเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบที่ทำให้เห็นว่า ตั้งแต่เป็นคอมมิวนิสต์เรื่อยมา พัฒนาการจะมีเส้นทางสายกลางน้อยมาก ถ้าไม่เหวี่ยงไปทางซ้ายก็เหวี่ยงทางขวา ปัจจุบันเหวี่ยงทางขวา เป็นเสรีนิยมเต็มที่ นวนิยายเล่มนี้เป็นเสรีนิยมแบบชนชั้นกลาง

“นิยายเล่มนี้ ผู้หญิงเป็นคนเล่าเรื่อง ที่ประทับใจคือสำนวนการแปลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทั้งรสคำและรสความ ตั้งแต่ชื่อหนังสือ จนกระทั่งรายละเอียดระหว่างบรรทัด ผมคิดว่า คนที่ทำงานแปลไม่ใช่เรื่องง่าย และพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ทรงมีเวลามาแปลอย่างนี้ ผมอดทึ่งไม่ได้” ผศ.วรศักดิ์กล่าว

ด้าน ผศ.ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ บรรณาธิการบริหารวารสารจีนไทย กล่าวว่า การแปลที่ดีต้องแปลให้ถูกต้อง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปลพระราชนิพนธ์เล่มนี้ได้ตรงตามบทประพันธ์เดิมทุกประการ ครบทุกอรรถรส

“เรื่องนี้จบสมบูรณ์มาก ในวัฒนธรรมของจีน ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแม่ มองการเจริญเติบโตของลูก นั่นคือความสุขมากที่สุด ไม่มีความสุขอะไรยิ่งใหญ่กว่านั้น เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องมีลูก เลี้ยงลูกให้มีคุณภาพและดีที่สุด เป็นเรื่องของอนาคตแห่งสังคมและประเทศ” ผศ.ก่อศักดิ์กล่าว

นับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ได้รับความบันเทิงในเชิงวรรณกรรมและสาระความรู้ที่แทรกเข้ามาในเนื้อหา

 

เนื้อหาบางตอนจากนิยาย

พระราชนิพนธ์เล่มที่ผ่านมา  (1)

พระราชนิพนธ์เล่มที่ผ่านมา  (2)

พระราชนิพนธ์แปลที่ผ่านมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image