เคล็ดไม่ลับ ‘สตรีทำงานดีเด่น’

แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่ชายและหญิงมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แต่ผู้หญิงก็ยังต้องเจอกับความยากลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะกับผู้หญิงในภาคแรงงานที่อาจต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก

ในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “พลังแรงงานสตรีไทย ก้าวไกลสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จประทานโล่รางวัลสตรีทำงานดีเด่น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

Advertisement

ซึ่งในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลจากสาขาต่างๆ จำนวน 29 คน แต่ละคนต้องผ่านบททดสอบไม่น้อย

บุษบา ฉิมพลีกานนท์ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก มูลนิธิฮิลาอะห์มัร ปัตตานี ทนายสาวที่ช่วยว่าความด้านคดีแรงงาน ให้กับชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ จนกระทั่งได้เข้าไปมีบทบาทการรณรงค์เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง และส่งเสริมอาชีพเด็ก สตรี ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า รางวัลนี้ถือเป็นความดีใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะคิดว่าการได้รับรางวัลจะทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ได้รู้ว่าเราทำอะไร เมื่อไปขอทุนมาให้ชาวบ้านได้ทำงานก็จะมีคนรู้จัก อาจได้รับแรงสนับสนุนที่ดีกว่าเดิม

“การเป็นทนาย คนจะมองว่าผู้หญิงเก่งไม่เท่าผู้ชาย แต่เราก็พยายามสู้ เมื่อได้พบกับชาวบ้านเรายิ่งเห็นว่าเขามีของดีที่ต่อยอดได้ และยังได้แรงบันดาลใจให้สู้ เมื่อได้เห็นว่าหากผู้หญิงคนหนึ่งล้ม ครอบครัวก็จะล้มไปด้วย ไม่เหมือนกับผู้ชาย” บุษบากล่าว

Advertisement

ขณะที่ กนิษฐา วรรณพฤกษ์ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด จ.กาฬสินธุ์ ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ชายในโรงงาน เผยว่า หน้าที่ของเราคือการทำให้เพื่อนร่วมงานทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัยครบ 32 แต่ด้วยความเป็นเด็กและเป็นผู้หญิง เมื่อทำงานกับคนหลายเจเนอเรชั่น มักจะโดนกังขาว่าเป็นเด็กจะมารู้อะไร ทำให้การทำงานต้องปรับและประยุกต์ใช้ความเป็นพี่เป็นน้อง เหมือนญาติกัน ไม่มีคำว่าอำนาจ ใช้คำพูดให้ดี สุภาพ โน้มน้าวให้นึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งมองว่าการทำงานทุกอย่างต้องทุ่มเท รักในสิ่งที่ทำ และไม่หยุดอยู่กับที่

กนิษฐา วรรณพฤกษ์
บุษบา ฉิมพลีกานนท์

หญิงแกร่งแห่งภาคแรงงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image