รู้ยัง!! ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ ร้องทุกข์เอาผิด-ขอเงินเยียวยาได้

เคยไหมกับการเข้ารับปริญญา ที่เราไม่สามารถใส่ชุดครุยตามเพศสภาพที่เราเป็นอยู่ได้ เคยไหมกับการสมัครงานที่เราต้องกินแห้ว เพราะเขารับเฉพาะผู้ชาย หรือเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ถ้าเป็นแต่ก่อนคงยอมได้ แต่ไม่ใช่จากนี้ ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งถูกหยิบยกมาพูดคุยในการสัมมนาย่อย หัวข้อ “การบริหารและขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ในงานวันสตรีสากล ประจำปี 2561 จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

นางสาววันเพ็ญ สุวรรณวิสิฏฐ์ อดีตผู้ตรวจราชการ พม. กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายทางเลือกให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางเพศ ที่ถูกแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพียงเพราะเหตุแห่งเพศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางเพศ (วลพ.) ได้ในเวลาไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ก่อนมีการออกคำสั่งระงับและป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งหากหน่วยงานหรือองค์กรไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง มีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนหลากหลายประเด็น พาดพิงทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศประจำประเทศไทย เช่น ถูกกีดกันไม่ให้เข้าทำงาน ถูกไล่ออกจากงาน ไม่ให้เข้าใช้บริการในร้านอาหารหรือโรงแรม การบังคับแต่งกายในสถานศึกษา ตลอดจนดูหมิ่นในเฟซบุ๊ก โดยรวมต้องถือว่าคนรู้สิทธิมากขึ้น” นางสาววันเพ็ญกล่าว

วันเพ็ญ สุวรรณวิสิฏฐ์

ขณะที่ นางอัญชลี มีสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กล่าวว่า ในกฎหมายดังกล่าว ให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อบรรเทาทุกข์ หรือชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ทั้งในระหว่างและหลังมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด อย่างกรณีที่ผู้เสียหายต้องมาให้ข้อมูลประกอบการไต่สวน จะได้รับค่าพาหนะตามจริง เที่ยวละไม่เกิน 250 บาท หากมาที่กรม สค. ส่วนหลังมีคำวินิจฉัยแล้ว

Advertisement

ผู้เสียหายสามารถทำเรื่องขอเบิกค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ วันละ 300 บาท ติดต่อกันไม่เกิน 1 ปี รวมถึงค่าสูญเสียโอกาสไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี, ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูร่างกายจิตใจ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท และชดเชยเยียวยาในรูปแบบอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าล่ามของผู้เสียหาย พยาน และผู้เกี่ยวข้อง ได้ตามจำนวนที่ วลพ.เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

นางอัญชลีกล่าวอีกว่า แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยมีใครยื่นขอเงินชดเชยเยียวยาเลย เพราะ วลพ.ยังไม่มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดในสักคดี เนื่องจากเคสที่ร้องเข้ามา ยังอยู่ระหว่างสืบหาข้อเท็จจริงอยู่ ซึ่งขณะนี้มีเพียง 21 เคสเท่านั้น

อัญชลี มีสุข

“ก็เป็นปัญหาอีกว่าที่คนไม่ค่อยมาร้อง เพราะเขายังไม่เข้าใจว่าอะไรคือการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องกีดกันเข้าทำงาน บังคับเรื่องการแต่งกาย แต่ยังรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น เวลาสาวประเภทสอง ไปบริจาคเลือดแล้วโรงพยาบาลไม่รับ คนทั่วไปอาจมองว่านี่คือข้อปฏิบัติทางการแพทย์ที่ทำกันมานานแล้ว แต่นี่ก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง ฉะนั้นสาวประเภทสองที่เป็นผู้เสียหายสามารถมาร้องได้ หรือกรณีคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานถูกกฎหมายในต่างประเทศได้ แต่พอมาเมืองไทยไม่สามารถแต่งงานอย่างถูกกฎหมายได้ เพราะในไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสมรสเพศเดียวกัน อย่างนี้ก็สามารถร้องได้เช่นกัน เพื่อจะไปผลักดันให้ต้องมีกฎหมายอย่างนี้ออกมา ฉะนั้นหากถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทางเพศ ขอเพียงให้ร้องเข้ามา” นางอัญชลีกล่าว

Advertisement

กองทุนได้รับการสนับสนุนจากรัฐปีละ 10 ล้านบาท เปิดดำเนินมาแล้ว 2 ปี มีเงินอยู่ 20 ล้านบาท แต่หักออก 5 ล้านบาทไว้เป็นงบดำเนินการ ทั้งนี้ นอกจากกองทุนจะนำเงินไปช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ยังมีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางเพศ ซึ่งหากภาคประชาสังคมและหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกิจกรรมที่จะส่งเสริมความรู้ดังกล่าว ก็สามารถเขียนโครงการมาเสนอเพื่อขอเงินกองทุนได้ ซึ่งจะได้รับอนุมัติเงินตามขนาดและสาระของโครงการ

ด้าน นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวภายหลังรับฟังการสัมมนาว่า ต้องถือว่ากองทุนมีความสำคัญ แม้อาจไม่ใช่กองทุนสำหรับประกอบอาชีพ แต่เป็นกองทุนที่จะเทรนนิ่งให้คนและสังคม เข้าใจถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ ฉะนั้นหากภาคประชาสังคมและองค์กรต่างๆ ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ในชุมชนและสังคม

พงศ์ธร จันทร์เลื่อน

เพื่อความเสมอภาคทางเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image