ถอดบทเรียน 6 กรณีศึกษา ช่วย ‘เด็กไทย’ เท่าทันสื่อ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อดิจิทัล” ตลอดจนสื่อโซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างสูงกับสังคมไทยในหลายประการ ทั้งในทางที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดผลในทางลบ การ “รู้เท่าทันสื่อ” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน กระนั้นประเทศไทยมีความพยายามขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้น แต่ยังคงขาดองค์ความรู้และแนวทางที่มีประสิทธิภาพ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนจึงได้เปิดงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อและดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชนในต่างประเทศ และแนวทางสำหรับประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ศึกษาการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อจากกรณีศึกษาในต่างประเทศจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนนโยบายรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนในไทย

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาทั้ง 6 ได้เป็น 7 องค์ประกอบในการขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ องค์ประกอบด้านการดำเนินการ (3E) คือ Education ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย, Experience ลงมือปฏิบัติเปลี่ยนองค์ความรู้เป็นชิ้นงาน สร้างความเข้าใจและจดจำเกิดเป็นประสบการณ์ และ Expert ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ประกอบกับองค์ประกอบด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งในการขับเคลื่อน (4I) ได้แก่

1.Interconnectedness ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน ทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ภาครัฐและภาคประชาชน

Advertisement

2.Information หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนด้านองค์ความรู้ได้

3.Integration การบูรณาการประเด็นรู้เท่าทันสื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่สำคัญของประเทศ และ

4.In Trend อัพเดตข้อมูล ความเคลื่อนไหวของโครงการให้ทันสมัยและน่าสนใจอยู่เสมอ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันสื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ควรทำยังไงให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น แค่ “คิด” ไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน “ลงมือทำ” เพื่อให้สังคมเกิดพื้นที่ปลอดภัยในการใช้สื่อสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image