ผู้ป่วยโรคหัวใจวายชนิดรุนแรง เด็กลงและอ้วนมากขึ้น

ผลการวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดจากคลีฟแลนด์ คลินิก พบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายชนิดรุนแรงในปัจจุบันจะมีอายุน้อยลงและเป็นผู้ที่มีน้ำหนักที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าผู้ป่วยหัวใจวายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน ความดันสูง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่เกิดอาการหัวใจวายเมื่อ 20 ปีก่อน

โดยผลการวิจัยนี้ เป็นการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ จากผู้ป่วยจำนวนเกือบ 4,000 คน ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ชนิด ST-elevation heart attacks (STEMI) ซึ่งเป็นอาการหัวใจวายชนิดรุนแรง ที่อาจจะทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

และพบว่าในช่วงปี 2538 ถึง 2557 ผู้ป่วย STEMI ในสหรัฐอเมริกามีอายุเฉลี่ยน้อยลง จาก 64 ปี เป็น 60 ปี นอกจากนี้้ ยังพบด้วยว่าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 31 เปอร์เซ็นต์ เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน และสัดส่วนของผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็เพิ่มขึ้นจาก 24 เป็น 31 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ป่วยโรคนี้ที่เป็นความดันสูงก็เพิ่มขึ้นจาก 55 เป็น 77 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ก็ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มักจะเกิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ จะป่วยเป็น STEMI เพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 12 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าการสูบบุหรี่ดูจะเหมือนน้อยลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความพยายามในการรณรงค์ให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพ แต่นักวิจัยยังพบอัตราส่วนของผู้สูบบุหรี่ที่มีอาการหัวใจวายเพิ่มขึ้นจาก 28 เป็น 46 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขที่แสดงเหล่านี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าประหลาดใจและน่าหนักใจอย่างยิ่ง โดยซาเมียร์ คาปาเดีย นักวิจัยจากคลีฟแลนด์ คลินิก ผู้นำการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า ประชาคมด้านการแพทย์มีผลงานที่ดีเยี่ยมในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ผลการศึกษานี้กลับแสดงให้เห็นว่า แพทย์ทำให้ดีในส่วนของการป้องกัน ดังนั้น จึงอยากขอเตือนให้ประชาชนทุกคนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ ด้วยการลดน้ำหนัก กินอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image