เปิดชะตากรรม “คนไร้บ้าน” ชีวิตอิสระท่ามกลางความสูญเสีย

ในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนต่างพากันตกงาน ทุกซอกมุมในเมืองหลวง เราจะได้เห็นคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนตามใต้สะพาน ป้ายรถเมล์ และตามสวนสาธารณะต่างๆ

หลายคนเนื้อตัวมอมแมม เวลาเดินมักหอบหิ้วกระสอบพะรุงพะรัง ภายในเต็มไปด้วยขยะ นานวันเข้าก็กลายสภาพเป็นคนไร้บ้านถาวร ยิ่งหากมีอาการทางจิตเพิ่มด้วย สังคมก็จะตอกย้ำความรู้สึกว่า คนเหล่านี้สกปรก อันตราย และไร้ค่า ซึ่งถือเป็นความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของงานเสวนาวิชาการสาธารณะ “หน้าใหม่-ไร้บ้าน: ชีวิตกับนโยบาย” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตคนไร้บ้าน และข้อเสนอในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนโยบาย จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมเอทัส ลุมพินี กรุงเทพฯ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจคนไร้บ้านด้วยวิธีวิทยาใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่กว่า 1,500 คน พบคนไร้บ้านที่เป็นเพศชายร้อยละ 85 เพศหญิงร้อยละ 15 โดยเมื่อดูเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องมาเป็นคนไร้บ้าน พบว่าทั้งหมดล้วนมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างการผิดหวังจากการทำงาน ตกงานเรื้อรัง ถูกครอบครัวกดดัน ซึ่งเมื่ออยู่บ้านแล้วไม่มีความสุขจึงตัดสินใจออกมา ทั้งนี้ ยังพบว่าคนไร้บ้านกว่าร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ส่งผลให้เป็นคนที่ปัญหาสุขภาพมากมาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 71 มีปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพช่องปาก ส่วนร้อยละ 51 ป่วยเป็นโรคที่มาจากพฤติกรรม อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต หอบหืด ภูมิแพ้ หัวใจ

ภรณี ภู่ประเสริฐ

“จากปัญหาดังกล่าว สสส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนให้เกิดกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยไร้สิทธิ และการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ในการป้องกันการเกิดคนไร้บ้านรายใหม่ และช่วยเหลือฟื้นฟูให้คนไร้บ้านสามารถช่วยเหลือตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ” นางภรณีกล่าว

จากนั้นเข้าสู่การนำเสนอผลวิจัย ในโครงการศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น

Advertisement

ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุปการวิจัยว่า ได้สำรวจข้อมูลเชิงลึกและวิถีชีวิตประจำวันของกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 108 คน ค้นพบสาเหตุที่ทำให้คนต้องออกมาไร้บ้าน ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะการไม่มีงานทำ รองลงมาคือปัจจัยครอบครัว ที่กดดันให้ออกมาหางาน ซึ่งเมื่องานก็ยังหาไม่ได้ บ้านก็กลับไม่ได้ จึงต้องอาศัยอยู่ตามที่สาธารณะในกรุงเทพมหานครเพื่อรองาน ทั้งนี้ หากย้อนไปดูอาชีพสุดท้ายของคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่ต้องใช้ทักษะอะไร ในช่วงวัยทำงานอาจทำแล้วมีรายได้พอเลี้ยงชีพ แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มไม่มีงาน จึงค่อยๆ ออกมาเป็นคนไร้บ้าน สอดคล้องกับช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างคนไร้บ้านหน้าใหม่ มีอายุเฉลี่ย 48 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยคนไร้บ้านอยู่ที่ 46 ปี

ผศ.ธานี ชัยวัฒน์

ทั้งนี้ งานวิจัยยังพบว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่ 1 ปี เป็นคนที่มีความเครียดสูงมาก เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ใช้ชีวิตตามที่สาธารณะ และต้องแยกจากครอบครัวอย่างนี้มาก่อน พวกเขาเพียงต้องการมีงานทำ และหวังว่าวันหนึ่งจะกลับไปหาครอบครัว ส่วนคนไร้บ้านเกิน 1 ปีขึ้นไป ความเครียดเริ่มน้อยลง เพราะเริ่มปรับตัวได้แล้ว ความพยายามหางานน้อยลง เริ่มไม่ปรารถนากลับบ้าน ขอเพียงการดูแลด้านสุขภาพจากภาครัฐ และมีแนวโน้มต้องพึ่งพาภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

“แต่ละปีไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและผลิตภาพอย่างน้อย 116 ล้านบาทต่อปี ฉะนั้น หากยังไม่ดูแลและฟื้นฟูคนไร้บ้านอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างระบบการป้องกันภาวะความเสี่ยงจากการไร้บ้านและการดูแลคนไร้บ้านหน้าใหม่ ก็จะสูญเสียโอกาสสูงขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับจำนวนคนไร้บ้านที่จะสูงขึ้นตาม” ผศ.ธานีกล่าว และว่า

Advertisement

งานวิจัยจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเริ่มจากนำคนไร้บ้านหน้าใหม่มาฟื้นฟูสุขภาพ จากนั้น หางานให้ทำเพื่อมีรายได้ หรือคนไหนหากไม่มีทักษะอาชีพ ก็ให้เข้าอบรมทักษะอาชีพ โดยมีสถานที่พักให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข อาทิ อยู่ฟรีระหว่างเรียน 3 เดือน ให้เงินอุดหนุนไปพักอาศัยที่อื่นเมื่อมีงานแล้วอีก 3 เดือน แต่หากคนไร้บ้านที่ฝึกอาชีพก็แล้ว แต่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ เพราะมีอาการจิตเภท ก็ให้รัฐว่าจ้างในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จะให้คนเหล่านี้รวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์เป็นชิ้นๆ ขาย อาทิ ขนม จัดดอกไม้ จัดพวงหรีด เพื่อเปลี่ยนคนว่างงานและไร้บ้าน เป็นมีงานทำในที่สุด

ช่วยคนไร้บ้านไม่ไร้ค่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image