กระแส ‘ออเจ้า’ ปลุก ‘ช่างศิลป์’ พัฒนารูปแบบ ‘เครื่องประดับสีลงยา’

เครื่องลงยาสีโบราณเป็นงานเชิงช่างที่แสดงถึงศิลปะบนเครื่องใช้เครื่องประดับ มีความวิจิตรของลวดลายที่แต่งแต้มด้วยยาสีหลากสีสัน เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีมานับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสืบทอดกันมาหลายร้อยปี

SACICT จึงส่งเสริม อนุรักษ์ และให้ความสำคัญกับงานศิลปะเครื่องลงยาสีโบราณเพื่อมิให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศสูญหาย โดย นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT กล่าวว่า

ในปี 2561 นี้ SACICT ยกย่องให้ นางบุญมี จันอุไรรัตน์ วัย 81 ปี เป็นครูศิลป์ของแผ่นดินประจำปี 2561 ประเภทงานเครื่องลงยาสีโบราณ แห่งเดียวของ จ.นนทบุรี

“ครูศิลป์แม่บุญมี มีความสำคัญยิ่งนัก เพราะท่านเป็นผู้อนุรักษ์สืบทอดงานเครื่องลงยาสีตามภูมิปัญญาดั้งเดิมแบบโบราณ มากว่า 50 ปี ด้วยการคงเอกลักษณ์ความละเอียดในการบดยาสีจนได้เนื้อสีที่ใสสะอาด เกลี่ยเนื้อสีบนร่องลายบนเนื้อโลหะทองแดงหรือทองวิทยาศาสตร์ ด้วยความหนาที่พอดี หลอมให้ละลายบดติดลงบนผิวของโลหะนั้นด้วยการใช้ความร้อน ขัดจนขึ้นลายเงางาม” นางอัมพวันกล่าว

คุณแม่บุญมี กล่าวว่า ด้วยสุขภาพและวัยขนาดนี้แล้ว การลงมือทำเอง จึงทำได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็ไม่ทิ้งความสำคัญกับงานเครื่องลงยาสีที่ได้รับสืบทอดมา จึงได้ถ่ายทอดให้กับลูกชายสานต่อเพื่อคงรักษางานศิลป์โบราณเอาไว้ และมีลูกสาวของเพื่อนสนิทมาช่วยทำการสอนให้กับผู้ที่มีความสนใจงานเครื่องลงยาสีและอนุรักษ์ศิลป์ไทยที่มีเพิ่มมากขึ้น

Advertisement
นางบุญมี จันอุไรรัตน์

นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ ลูกชายของแม่บุญมี ผู้สืบทอดอนุรักษ์เครื่องลงยาสีและวิทยากรครูศิลป์ท่านหนึ่งให้กับช่างสิบหมู่ วัย 53 ปี มีความรู้ในระดับปริญญาโท บอกว่า ตั้งใจว่าจะสร้าง “พิพิธภัณฑ์เครื่องลงยาสีแม่บุญมี” เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาและสืบทอดองค์ความรู้ศิลปะการทำเครื่องลงยาสีโบราณแห่งแรกของประเทศเอาไว้ให้ลูกหลานศึกษาต่อไป

Advertisement

“เดิมเครื่องประดับสีลงยา มีไว้เพียงเพื่อเป็นเครื่องประดับภายในบ้าน ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือใช้สอยและเครื่องประดับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กรอบรูป กระเป๋า ปากกา ตลับใส่เครื่องประดับ เป็นต้น ยิ่งกระแสบุพเพสันนิวาสมาแรง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาสร้างสรรค์รูปแบบสินค้าใหม่ๆ สอดคล้องกระแสและให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น สร้อยสายสะพาย เข็มขัด กำไล เป็นการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมให้ตลาดงานศิลป์ขยายกว้างออกไป” นายเอกฉันท์กล่าว

ช่วยกันรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศ และมุ่งมั่นพัฒนางานอนุรักษ์นี้ไว้อย่างยั่งยืนถาวรสืบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image