ธุรกิจความงามไทย ท่ามกลางกระแส ‘เมจิกสกิน’

จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วสำหรับงาน “ASEAN Beauty 2018 : Southest Asia’s Premier Beauty Show” มหกรรมแสดงสินค้าความงามและสุขภาพ

จัดโดยบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี นางหิรัญญา สุจินัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด

เครื่องสำอางไทยมูลค่า 3 แสนล.

มร.เอ็ม กันดิ รองประธาน บจ.ยูบีเอ็ม กล่าวว่า “อาเซียนบิวตี้ 2018” เป็นเวทีสำคัญในการต่อยอดธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการความงามและสุขภาพของไทย กับผู้ซื้อที่มีคุณภาพจาก 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย เบลเยียม และฮังการี จากภาพรวมตลาดความงามของไทยในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

ด้วยในปี 2560 ตลาดเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมครองอันดับ 1 เท่ากับ 30.49% และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 15.78% ในลำดับถัดมา นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางไทยอยู่ที่ 1.21 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 4.5% และมีคู่แข่งหลักคือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และยุโรป

Advertisement

ติดอันดับ 16 โลก 3 เอเชีย

ขณะที่ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผอ.สสว. กล่าวว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มสุขภาพและความงาม ที่ครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของไทยนั้น มีขีดความสามารถสูง จากที่ “ธุรกิจสุขภาพและความงาม” ในไทย มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างสูงต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งในขณะนี้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก และอันดับที่ 3 ของเอเชีย

เทรนด์ความงามมาแรง!

ผอ.สสว. กล่าวเสริมอีกว่า “ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ” ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาคบริการและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย ตลอดจนธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพ อาทิ บริการนวดไทยและสปา

Advertisement

“ส่วนเทรนด์ธุรกิจสุขภาพและความงามที่กำลังมาแรงในประเทศไทยตอนนี้ น่าจะเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสมุนไพร ที่มีผลรับรองจากการทดสอบด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ โดยเรื่องสมุนไพรนั้นประเทศไทยก็มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ตลอดจนมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมในธุรกิจเหล่านี้ อาทิ นวัตกรรมนาโน” นายสุวรรณชัยกล่าว

“เมจิกสกิน” 10%แบรนด์ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจนี้จะเติบโตไปในทิศทางที่ดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสข่าวของ “เมจิกสกิน” ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในโปรดักต์เพื่อความงามไทยรายอื่นๆ เป็นวงกว้าง

ในกรณีนี้ เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานสมาคมเครื่องสำอางแห่งอาเซียน ยังคงย้ำว่า “ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามแบรนด์คนไทย” ยังคงมั่นใจในคุณภาพได้ แต่จากที่ตกเป็นข่าวนั้นคือแบรนด์ที่ไม่กระทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้ว เป็นเพียงแค่ 10% จากผลิตภัณฑ์เพื่อความงามทั้งหมด

จากคำกล่าวของนายกสมาคมฯ ตอกย้ำว่า ยังมีแบรนด์ไทยอีกมากมายที่ตั้งใจดีและดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง อย่างแบรนด์ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคม ที่กว่าจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

เรียกว่าต้อง “ฝ่าด่านอรหันต์” กันเลยทีเดียว ที่กล่าวแบบนี้เพราะเริ่มแรกผู้ประกอบการต้องมีสำเนาหนังสือรับรองบริษัท หรือสำเนาบัตรประชาชน (ในกรณีเป็นบุคคล) พร้อมกับเอกสารที่ทาง อย.ได้ออกให้ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณา และรับรองการเป็นสมาชิกอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ตลอดจนต้องระบุว่าทราบข่าวการเข้าร่วมเป็นสมาชิกจากทางใด เช่น งานที่สมาคมจัด เว็บไซต์ หรือจากการบอกต่อ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบถึงที่มาของกลุ่มผู้ประกอบการที่ชัดเจนว่า “มีตัวตน” จริง และเมื่อผ่านการพิจารณาเข้าเป็น 1 ในสมาชิกของสมาคมแล้ว จะต้องเข้ารับการอบรมจากทางสมาคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ อย.

นายกสมาคมผู้ผลิตย้ำว่า “เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นหน้าที่ของทางสมาคมและผู้ประกอบการ ที่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค”

เกศมณี เลิศกิจจา

ดาราต้องมี “จริยธรรม”

กับประเด็นที่ดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ “โปรดักต์ปลอม” เกศมณีให้ความเห็นว่า เรื่องที่ดารารับเป็นพรีเซ็นเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะดารากับเรื่องความสวยความงามเป็นของคู่กัน เป็นส่วนที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ดี ก็ไม่ความเสี่ยงไม่น้อย เพราะต้องใช้ชื่อเสียงค้ำประกัน

“แต่การเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าโดยที่ไม่ได้ใช้จริง ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม” เธอย้ำ

แนะอย. – ผู้ผลิต – ฝากถึงผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม เกศมณีแนะนำให้ผู้บริโภค “เช็กก่อนซื้อ” และ “คิดสักนิดก่อนใช้” สามารถเช็กเครื่องหมายการค้าอาหารและยา (อย.) ผ่านทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทรสอบถามทางสายด่วน อย.1556 นอกจากนี้ ยังสามารถโทรสอบถามผลิตภัณฑ์ที่ลงทะเบียนกับทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ได้ที่ 0-2246-7088

“การจดทะเบียน อย. เบื้องต้นเป็นการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เท่านั้น ส่วนผู้ผลิตจะไปมีกระบวนการผลิตยังไง อย.ไม่ได้ลงไปตรวจสอบ แต่ช่วงที่ผ่านมานี้ก็ได้เริ่มทยอยลงไปตรวจสอบที่โรงงานผลิต ในจุดนี้มองว่าสิ่งที่ควรทำคือการลงไปตรวจสอบตลาดที่นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย เพราะตรงนั้นแหละจะเช็กได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคซื้อไปมีคุณภาพหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบการโฆษณาและจัดจำหน่ายออนไลน์ ที่มักจะเห็นการที่ใช้โฆษณาเกินจริง เช่น ลดเลือนริ้วรอยภายใน 1 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้ก็ควรจะต้องกำกับดูแลด้วย” เกศรากล่าว และว่า

ในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องตระหนักว่าการลดเลือนริ้วรอย หรือการดูแลผิวให้มีสภาพดีตามความพึงพอใจนั้น ล้วนแต่ต้องใช้เวลา พวกที่บอกขาวเร็ว ผอมเร็ว เมื่อรับฟังแล้วก็ต้องพิจารณาก่อนซื้อมาใช้

นอกจากนี้ยังฝากถึงผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ว่าต้องดำเนินการผลิตด้วยกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image