ถอดบทเรียน วัยแสบสาแหรกขาด สะท้อน “สังคมสำเร็จรูป”

ละครเปรียบเสมือนตัวกลางในการสื่อความหมาย ถ้าตัวกลางทำหน้าที่ได้ดีสมกับอิทธิพลที่มี สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นผลลัพธ์อันเกิดจากคำกล่าวที่ว่า “ละครสะท้อนสังคม” อย่างแท้จริง

อาร์แอลจี พาเรนติ้ง เซ็นเตอร์ จัดกิจกรรมอาร์แอลจี พาเรนติ้ง เซ็นเตอร์ ฟอรัม ครั้งที่ 1 “วัยแสบสาแหรกขาด จากละครสู่ฟอรัม เปิดปมพ่อแม่และสังคมไทยเรื่องการเลี้ยงลูก” เชิญผู้ประพันธ์และนักแสดงร่วมพูดคุย เพื่อสร้างการเรียนรู้และเปิดมุมมองเรื่องการเลี้ยงลูกและครอบครัวให้แก่สังคมไทย ภายใต้โครงการ “อย่าให้ใครว่าไทย เลี้ยงลูกไม่เป็น” ณ ร้านบีทูเอส ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ชนิดา อินทรวิสูตร ผู้อำนวยการบริหาร Parenting Business กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ครอบครัวเกิดปัญหาคือการไม่มีเวลา เพราะจริงๆ แล้วเด็กอยากใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด เมื่อไม่มีเวลาแล้วพ่อแม่มักจะทดแทนด้วยสิ่งอื่น กลายเป็น “สังคมสำเร็จรูป” เป็นการตามใจและให้ลูกเกินสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเกิดขึ้นกับครอบครัวยุคใหม่มาก จากสภาพแวดล้อมรอบข้าง การมีเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือปล่อยให้ทีวีเลี้ยงลูก เมื่อยังเป็นทารกการเสริมสร้างร่างกายสำคัญ แต่โตมาแล้วจิตใจของเด็กต้องได้รับการเติมเต็ม ควรจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหาอื่นตามมา

“ทุกคนมีส่วนช่วยสร้างสังคมนอกบ้านให้ดีด้วย เพราะที่สุดแล้ว หากครอบครัวที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคมบกพร่อง สังคมจะไม่สมประกอบ” ชนิดากล่าว

Advertisement

ด้าน ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้ประพันธ์และผู้เขียนบท กล่าวว่า วัยแสบสาแหรกขาดนำเสนอวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ ไม่ใช่ละครทั่วไปที่สังคมคุ้นชินกัน ดังนั้นการหยิบเนื้อหาที่ใกล้ตัวคนดูคือส่วนช่วยให้ละครเชื่อมโยงถึงคนดูได้ง่าย จึงเลือกนำเสนอเคสของเด็กและผู้ปกครองมาตีแผ่ให้สังคมหันมาทำความเข้าใจ

เริ่มที่ตัวละครพี่ใหญ่ของเรื่อง “หวาย” แสดงโดย ชาโน แพมเบอร์เกอร์ พฤติกรรมตัวละครเกิดจากมีพ่ออารมณ์ร้าย ชอบใช้ความรุนแรง ทำให้ลูกซึมซับและเลียนแบบ โดยการใช้อารมณ์ในการตัดสินสินปัญหาเหมือนที่พ่อทำ แต่หวายไม่ได้เป็นคนก้าวร้าวโดยกำเนิด เพราะมีแม่ที่่คอยเป็นน้ำเย็น ช่วยปรับพฤติกรรมให้ลูก

“จากบทของหวาย สะท้อนเรื่องของ กระจกสะท้อนเงา (working memory) ของพ่อแม่ สำหรับฉากที่สามารถปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ คือ ฉากลูกบาส เปรียบกับเมื่อมีคำพูดหรือการกระทำกระทบจิตใจ ให้นึกถึงลูกบาส หากหลบเลี่ยงได้ ลูกบาสนั้นจะไม่โดนหน้าเรา เป็นการสอนให้รู้จักการควบคุมอารมณ์”

ต่อด้วย “ปิ๊กปิ๊ก” แสดงโดย วรินท์น่า ธรรมนิธิรัตน์ ตัวละครเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนที่ตนมองว่าเป็นไอดอล สะท้อนพฤติกรรมสังคมที่ฝากลูกไว้ให้คนอื่นเลี้ยง และด้วยความที่ตัวละครปิ๊กปิ๊กรู้สึกว่าไม่เป็นที่รักของแม่ ดำเนินชีวิตตามที่แม่สั่ง จึงคิดว่าตัวเองไม่มีค่าและทำสิ่งเรียกร้องความสนใจอย่างการขโมยของ เพื่อให้ได้รับการชื่นชมจากผู้อื่น

ด้าน “มินนี่” รับบทโดย ปฤสยา เจริญเนติศาสตร์ เกิดจากปมของแม่ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบในชีวิต จึงพยายามปลดความผิดพลาดที่เกิดในชีวิตด้วยลูก เพราะคิดว่าความสำเร็จของลูกคือผลงานของตนเอง ซึ่งตอนนี้พ่อแม่ในสังคมยุคใหม่เป็นแบบนี้กันมาก การโปรโมตลูกตามสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ได้ดูว่ามีทั้งด้านบวกและลบทำให้เกิดปัญหาตามมา

ฉากฆ่าตัวตายของมินนี่เกิดจากการคุกคามทางสื่อออนไลน์ (cyber bulling) เพราะตัวละครมินนี่เกิดจากโซเชียล พอถูกโซเชียลกระทบมาก และมีความคิดต้องการฆ่าตัวตาย มินนี่จะไม่พูดกับพ่อแม่ แต่เลือกที่จะคุยกับโซเชียลซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ ซึ่งฉากฆ่าตัวตายนี้เป็นที่กล่าวถึงกันมากเพราะแสดงขั้นตอนวิธีการล้างท้องให้สังคมเห็นชัดเจนว่าการทำพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลอย่างไร มีความทรมานมากเพียงใด ไม่ใช่สิ่งที่ควรเลียนแบบ

ปิดท้ายที่ “ตังเม” รับบทโดย วาศิตา แฮเมเนา เป็นตัวละครที่แม่รักแต่ลืมที่จะปกป้อง เพราะปกป้องตัวเองจากการถูกสามีกระทำ จนท้ายที่สุดตังเมเป็นเด็กเก็บกดจากครอบครัวมีปัญหา จนทำร้ายตัวเอง งานนี้ผู้ประพันธ์บอกว่าเป็บบทที่ยากและเสี่ยงมาก เพราะเด็กที่เข้าไปในบทนี้ต้องแยกแยะให้ได้

ผู้ประพันธ์เผยว่า ทีมเขียนบทเขียนด้วยน้ำตา ตัวละครทุกตัวมีปม ซึ่งเราต้องคุยกับนักจิตวิทยาเรื่องพฤติกรรมการแสดงออกของตัวละครเสมอ หลายคนพูดว่าละครเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนจิตวิทยากันมากขึ้น รวมทั้งสร้างพลังให้ครู อาจารย์แนะแนว หรือนักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหมดด้วย

ละครน้ำดี ชวนให้สังคมขบคิด และกระตุ้นให้ร่วมกันสร้างสื่อสร้างสรรค์สังคมต่อไป

 

thumb1366_8125702079

Forum วัยแสบสาแหรกขาด_10

ชนิดา อินทรวิสูตร ผู้อำนวยการบริหาร Parenting Business

ชนิดา อินทรวิสูตร ผู้อำนวยการบริหาร Parenting Business

ณัฐยา ศิรกรวิไล ผู้ประพันธ์และผู้เขียนบท

ณัฐยา ศิรกรวิไล ผู้ประพันธ์และผู้เขียนบท

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image