หัตถศิลป์ล้ำค่า ‘ของรัก-ของหวง’ นักสะสม

เพราะแต่ละคน มีของรัก สิ่งล้ำค่า แตกต่างกันไป ของสะสมของใครหลายคน สามารถส่งต่อองค์ความรู้จากผลงานมาสเตอร์พีซ สู่คนรุ่นใหม่ได้นับไม่ถ้วน

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงได้ต่อยอดความสำเร็จ เปิดเวทีให้นักสะสมชั้นนำของเมืองไทย นำงานศิลปหัตถกรรมที่หาชมยาก มาเผยแพร่ในงาน “ของรักของหวง หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน” ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

จากของรักของหวงมากกว่า 200 ชิ้น ของนักสะสมกว่า 30 คน ที่ได้นำมาจัดแสดงภายในงานครั้งนี้ ได้สร้างความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทยไม่น้อย

เริ่มจาก อรรถดา คอมันตร์ เจ้าของวิลล่ามูเซ่ เขาใหญ่ ที่สะสมภาพถ่ายโบราณ เฟอร์นิเจอร์โบราณ รวมไปถึงศาสตราวุธต่างๆ จนสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นได้ที่เขาใหญ่นั้น ได้นำไม้ถือหรือไม้ตะพด มาจัดแสดง โดยเผยว่าไม้ตะพดไม่เหมือนไม้เท้า แต่เป็นเครื่องแสดงฐานะอย่างหนึ่ง ฝรั่งมักจะเลือกสะสมเน้นที่หัวไม้อันเป็นของมีค่า แต่ของไทยจะให้ความสำคัญที่ไม้หายาก เพราะมีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนด้ามก็มีทั้งงานถม งานแกะสลักงาช้างต่างๆ อย่างหัวช้างก็หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เจ้านายสมัยก่อนถือเปลี่ยนไปตามงานที่ไป

อรรถดา คอมันตร์

“ของเหล่านี้หากจะถามหามูลค่า ย่อมประเมินได้ยาก บางชิ้นเป็นของเก่าตั้งแต่ปลายอยุธยา มีเงินใช่ว่าซื้อได้ เพราะเจ้าของหวงมาก การจะเก็บสะสมแต่ละอย่างให้สนุกอาจต้องหาให้เจอว่าอะไรที่เราชอบจริงๆ เมื่อรู้แล้วก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพิ่มพูนความรู้ เราก็จะรู้สึกอิ่มเอม สนุกไปกับการค้นคว้า ทำให้เราอยู่กับสิ่งนั้นได้นานและจริงจัง” อรรถดากล่าว

Advertisement

ขณะที่ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะนักสะสมผ้าในราชสำนัก แต่แท้ที่จริงแล้วอาจารย์วีรธรรม สะสมงานหัตถกรรมหลากหลายนับแต่อยุธยา ครั้งนี้ได้นำเอาเครื่องถมปัด ซึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์พระราชทานให้กับพระสงฆ์เป็นเครื่องอัฐบริขาร ทำจากทองแดงและให้สีด้วยแก้วลงยา ถือเป็นวิธีการทำที่หาได้ยากในปัจจุบัน ทำให้เลือกเก็บสะสมไว้เพื่อถอดลาย นำมาใช้กับงานผ้าทอได้อีก

วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

อีกหนึ่งนักสะสม ดิษฐวัฒน์ แก้วกาญจนดิษฐ์ ที่เลือกสะสมปั้นชาหลากหลายรูปแบบ มีแรงบันดาลใจจากความรักในการดื่มชา จนทำให้หาข้อมูลของปั้นชายุคต่างๆ จนเก็บสะสมไว้หลายร้อยใบ ดิษฐวัฒน์เล่าว่า ชุดน้ำชาก็ถือเป็นเครื่องแสดงฐานะอย่างหนึ่ง แม้จะใช้ดื่มชาเหมือนกัน แต่เทคนิคการทำมีมากมาย คนจีนจะใช้ จื่อซา หรือก้อนหินบดให้ละเอียดแล้วมานวดปั้นเป็นรูป อย่างคนไทยจะชอบของที่เงายุคหนึ่งก็จะมีการขัดเงาขึ้น บางเทคนิคเป็นการเขียนสีใส่เรื่องราว เช่น เสือ 8 ตัว แทนเกียรติ 8 ทิศ, แพะ 3 ตัว เหมือนการโชคดีปีใหม่

Advertisement
ดิษฐวัฒน์ แก้วกาญจนดิษฐ์
ปั้นชายุคต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีงานสะสมเครื่องเงินตามแบบราชสำนัก ตั้งแต่สมัยอยุธยา ของ รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์, เครื่องถม ของ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สนช., งานเครื่องรัก เครื่องมุก ของ บุญชัย ทองเจริญบัวงาม และซอ จากกะลามะพร้าวของ ศักดิ์ชัย กาย ที่แต่ละชิ้นล้วนทรงคุณค่า

โดยสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ – 3 มิถุนายน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image