เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ‘ตกหล่นลูกคนจน’ ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่จะให้ ‘ถ้วนหน้า’

ภาพประกอบ

นับเป็นเวลาไม่น้อยที่เครือข่ายประชาชน สถาบันวิชาการในด้านเด็ก คนพิการ แรงงาน ผู้หญิง ร่วมกับยูนิเซฟ รณรงค์ให้รัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 0-6 ปี จนนำมาสู่การจ่ายเงินอุดหนุนให้กับ “เด็กยากจน” อายุ 0-1 ปี คนละ 400 บาท ในปี 2558 และขยายวงเงินเป็น 600 บาท ให้กับเด็กวัย 0-3 ปี

ซึ่งก็นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เด็กยากจนได้รับ “สิทธิขั้นพื้นฐาน”

แต่ในเรื่องดีก็มี “ช่องโหว่” เมื่อได้ดำเนินงานมาสักระยะหนึ่ง ทำให้พบว่ายังมีเด็กยากจนอีก 30% ที่ “ตกหล่น” ไม่ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้

ดังนั้น “สมการ” เงินอุดหนุนเด็กที่ให้เฉพาะเด็กยากจน “ไม่ตอบโจทย์” กับสภาพความเป็นจริงของสังคมแล้ว

Advertisement

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐต้องแก้ “โจทย์ใหม่” แก้ไขสมการจากให้เฉพาะเด็กยากจน มาเป็นให้ “ถ้วนหน้า” เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” อย่างเท่าเทียมกันทุกคน

ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับยูนิเซฟ จัดสัมมนา “เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า : จุดเริ่มต้นการคุ้มครองทางสังคมทั้งระบบ” ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์

โธมัส ดาร์วิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เผยว่า ผมเป็นคนฝรั่งเศส และโตมากับเงินที่ได้สนับสนุนจากรัฐบาล ที่จะมอบให้กับครอบครัวที่มีลูกมาก เพื่อส่งเสริมให้มีเด็กเกิดใหม่มากขึ้นและแข็งแรง ทำให้ทุกวันนี้ฝรั่งเศสเป็นชาติที่มีอัตราการเกิดสูงกว่าค่าเฉลี่ยยุโรป แน่นอนว่าไทยให้การสนับสนุนเรื่องนี้และทำได้ดี โดยเฉพาะในช่วงสังคมผู้สูงอายุ ที่อัตราการเกิดลดลง

Advertisement

“แต่การให้เงินอุดหนุนเด็กนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม เด็กยากจนจำนวนหนึ่งก็เข้าไม่ถึง การให้เงินอุดหนุนยังอยู่ที่เด็กวัย 3 ขวบ ซึ่งกว่าเด็กจะได้รับการช่วยเหลืออีกครั้งคือวัย 6 ปี นั่นทำให้เกิดช่องว่างในเด็กระหว่าง 3-6 ปี โดยเฉพาะกับเด็กยากจน นี่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการโดยตรง คำถามจึงไม่ใช่ทำไมต้องทำ แต่จะทำอย่างไรให้การอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าถึง 6 ปีสำเร็จได้เร็วที่สุดต่างหาก” โธมัสย้ำ

 

โดยหลังจากจ่ายเงินอุดหนุนมา 2 ปีกว่า เหล่านักวิชาการ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.ไมเคิล แซมซั่น ได้ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดยากจน 9 จังหวัดแต่ละภูมิภาคของไทย เพื่อวิเคราะห์ถึงความสำเร็จ ที่ทั้งคู่กล่าวว่า แม้จะสำเร็จแต่ก็ยังมีจุดอ่อน

ดร.สมชัยเผยว่า หากเทียบกับชาติอื่นแล้ว นโยบายนี้ของไทยขับเคลื่อนได้ไวและสำเร็จกว่าชาติอื่น โดยเฉพาะกับตัวเลขคนจนตกหล่น ที่มีเพียงประมาณ 30% จากการสำรวจ ข้อดียังพบว่าเด็กที่ได้รับเงินดังกล่าวมีโภชนาการที่ดีกว่าเด็กยากจนอื่น เด็กไม่แคระแกร็น แม่ให้นมบุตรถึง 6 เดือนด้วยตัวเอง ไม่ได้นำเงินไปซื้อนมผงอย่างที่หลายคนคาดการณ์ ที่สำคัญคือ เป็นการ empower women เพราะแม่เป็นคนถือเงิน มีอำนาจตัดสินใจอะไรใช้เงินมากขึ้น

เมื่อลงลึกไปถึงสาเหตุที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนนั้น ดร.สมชัยเผยว่า เหตุผลนั้นมีหลากหลาย แน่นอนที่สุดคือความจนผันผวน คนไม่ไปสมัครเพราะไม่คิดว่ามีสิทธิ เจ้าหน้าที่ยังมีความเข้าใจถึงเกณฑ์ไม่มากพอ ซึ่งในแต่ละปีมีเด็กนับแสนที่ไม่ได้รับเงิน และไม่มีทางเลยที่จะขจัดอัตราตกหล่นให้น้อยลงกว่านี้ได้

“วิธีที่ดีที่สุดคือการจ่ายเงินแบบถ้วนหน้า ปัญหาคือ มักมีข้อกังขาจากสังคมว่าทำไมต้องจ่ายให้กับเด็กรวย ยุคนี้ก็มีชุดข้อมูลนำมาวิเคราะห์คนจนได้ง่าย แต่จากประสบการณ์แล้ว การขยายให้เป็นแบบถ้วนหน้าจะช่วยคัดกรองการตกหล่นได้ต่ำกว่า 5% ได้ ซึ่งแม้ว่าตัวเงินอาจจะสูง แต่ค่าบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายในการคัดกรองก็จะลดลง”

ที่สุดแล้วคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากเงินสงเคราะห์ ให้เป็นสิทธิ ที่มนุษย์ทุกคนพึงมี

สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่เคยผลักดันหลักสวัสดิการแห่งรัฐมาก่อน เผยว่า หลักของรัฐสวัสดิการนั้น ต้องมองถึงหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีความเท่าเทียมกัน และต้องพูดให้ได้ว่าเงินนี้เป็นเงินสงเคราะห์หรือสิทธิ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งท้อง มิใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการทำหน้าที่ต่อประเทศในการผลิตคนรุ่นต่อไป การจะจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะเด็กยากจนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นแค่นโยบายประชานิยม ทั้งยังขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนในการเลือกปฏิบัติ ทำให้เด็กคนหนึ่งเกิดมาถูกมองว่าเป็นคนยากจน เราจึงควรทำให้เงินอุดหนุนเป็นแบบถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานของคนทุกคนหรือไม่

“หากเกิดคำถามว่าจะนำเงินที่ไหนมาอุดหนุน เราสามารถตอบได้ว่า นี่คือความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ไทยสามารถนำเงินจากการซื้ออาวุธมาปันส่วนตรงนี้ย่อมได้ เราจะมีเงินพอสำหรับทุกคน” สุภัทรากล่าว

อีกก้าวเพื่ออนาคต

เวทีเสวนา

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image