เปิดผลวิจัย “ผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติด” ยากจน-การศึกษาน้อย-ต้องใช้เงิน

ด้วยมีพระดำริในการแสวงหาแนวทางการลดปริมาณผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติด เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงระหว่างอยู่ในเรือนจำ ตลอดจนสร้างอาชีพที่มั่นคงเมื่อก้าวออกไป ขับเคลื่อนผ่านโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในหลายปีที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องจากนานาชาตินั้น

ล่าสุด กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ฐานความผิดส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังในเรือนจำกับผู้ต้องขังหญิง” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองของฐานความผิด และข้อมูลส่วนอื่นๆ ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำที่กระทำผิดในคดียาเสพติด ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค

DSC_1767

ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ต้องขังคดียาเสพติดเป็นรายย่อย ผู้ต้องขังครึ่งหนึ่งมียาเสพติดในครอบครองไม่เกิน 23 เม็ด มีถึงจำนวน 748 ราย ที่มีไม่เกิน 5 เม็ด และมีเพียง 1 เม็ด จำนวนกว่า 100 ราย ทั้งนี้ เรากำลังทำร้ายประชาชนด้วยกฎหมาย ภายใต้หลักการปราบยาเสพติดให้สิ้นซาก ทั้งที่คนเหล่านี้คือเหยื่อของมาเฟียยาเสพติด ควรได้รับการช่วยเหลือบำบัดรักษามากกว่า ในทางกลับกันกำปั้นเหล็กหรือมาตรการรุนแรงเด็ดขาดควรใช้กับตัวต้นเหตุคือ “ผู้ค้ารายใหญ่หรือผู้ผลิต”

Advertisement

ขณะที่ รศ.อภิญญา เวชยชัย อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวนำเสนอข้อมูลวิจัย “การศึกษาสถานการณ์ความผิดด้านยาเสพติดของผู้ต้องขังหญิง ในมิติด้านจิตสังคม ฐานความผิด และผลที่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรม” ว่า ได้เก็บข้อมูลจากทะเบียนประวัติผู้ต้องราชทัณฑ์ (รท.101) รวมถึงประวัติผู้ต้องขังซึ่งคดีเด็ดขาดแล้ว ในเชิงปริมาณกับกลุ่มตัวอย่างผู้ต้องขังหญิง 12,257 ราย พบว่าผู้ต้องขังหญิงมีอายุน้อยสุดที่ 19 ปี อายุมากสุดที่ 83 ปี เฉลี่ยส่วนใหญ่มีอายุที่ 37 ปี ซึ่งมากกว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในวัยแรงงาน/วัยกลางคน มีฐานความผิดส่วนใหญ่คือ ครอบครองเพื่อจำหน่ายร้อยละ 49.3 รองลงมาจำหน่ายร้อยละ 19.1

รศ.อภิญญากล่าวว่า ในส่วนการศึกษาสูงสุดของผู้ต้องขังหญิงนั้น พบว่าร้อยละ 80 มีระดับการศึกษาไม่สูงกว่าระดับชั้น ม.ต้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น รับจ้าง เกษตรกร ประมง แต่กลับมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 122,949 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมาก ไม่สอดคล้องกับระดับการศึกษาและอาชีพ ทั้งนี้ ในส่วนจำนวนครั้งของการต้องโทษ พบว่าเป็นผู้ต้องขังที่กระทำผิดเป็นครั้งแรก ถูกตัดสินโทษจำคุกน้อยที่สุดคือ 1 ปี มากที่สุดคือ 110 ปี เฉลี่ยส่วนใหญ่จะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี

นอกจากนี้ยังได้วิจัยเชิงคุณภาพแบบเจาะลึกกับผู้ต้องขังหญิง 11 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 10 ราย และสัญชาติลาว 1 ราย พบภาพรวมว่าผู้ต้องขังดังกล่าวต้องประสบกับความยากจน บางคนอ่านหนังสือไม่ออก ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ทั้งบางคนยังต้องดูแลครอบครัวโดยลำพัง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว อาทิ

Advertisement

ยายนา (นามสมมุติ) อายุ 76 ปี ฐานความผิดครอบครองยา 29 เม็ด เงินสด 4,000 บาท ซึ่งอ้างว่ามีคนขี่รถจักรยานยนต์หนีตำรวจ และโยนห่อยาและเงินไว้ที่เถียงนาที่ยายนาพักอยู่ ตัดสินโทษจำคุก 5 ปี ซึ่งเป็นความผิดครั้งแรก และรับการลดหย่อนเหลือ 3 ปี อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้ง 11 ราย ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกต้องขังโดยวิธีการล่อซื้อทั้งสิ้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ต้องขังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

“เมื่อเข้าสู่กระบวนการหลังถูกล่อซื้อแล้ว คนที่มีอำนาจต่อไปคือ พนักงานสอบสวน ซึ่งจะเป็นผู้บอกรายละเอียดคดีว่าต้องโทษแบบใด ทำให้ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจะมีความรู้สึกทั้งสับสน หวาดกลัว ไม่รู้ข้อกฎหมาย ต้องจำนนต่อฐานความผิด เป็นการจำนนแบบเชื่อง เพราะไม่สามารถตั้งคำถามได้ เหตุจากการยืนชี้หรือถ่ายรูปกับของกลาง ทำให้ยอมจำนนต่อหลักฐาน ทั้งที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นของกลางชุดนั้นมาก่อน อีกทั้งการลุกขึ้นต่อสู้คดี ต้องเสียเงินจ้างทนาย ซึ่งผลสุดท้ายหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ กลับเป็นฝ่ายที่สู้คดีที่จะติดคุกต้องโทษมากกว่า ทำให้ผู้ต้องหาหลายรายยอมจำนนทั้งที่ตนบริสุทธิ์ รวมไปถึงเมื่อถูกฝากขัง สิ่งที่เธอจะได้รับการกล่อมเกลาจากเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันให้รับสารภาพเสียเถอะ ง่ายที่สุด” รศ.อภิญญากล่าวและว่า

สำหรับปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้แก่ เชื่อว่ายาเสพติดเป็นยาขยัน เพิ่มรายได้ สวย ผอม ความไม่รู้กฎหมายและบทลงโทษ รับภาระเลี้ยงดูครอบครัว อยากลืมความทุกข์ ขณะที่ผลกระทบของผู้หญิงเมื่ออยู่ในสถานการณ์ความผิด ได้แก่ ครอบครัวแตกแยก ญาติปฏิเสธ ถูกประทับตราทั้งครอบครัว เกิดผลเสียหายทางจิตใจ ทำให้ตกอยู่ในสภาวะไร้ที่พึ่ง จนถึงชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ถึงเวลาต้องทบทวนบทสันนิษฐานเด็ดขาดที่ลงโทษเหยื่อมากกว่าตัวต้นเหตุแล้วหรือยัง

รศ.อภิญญา เวชยชัย
รศ.อภิญญา เวชยชัย
ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล
ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image