บทเรียน ป.5 ละเมิด ป.1 ภาพสะท้อน “ผลผลิตของสังคม”

ทําเอาหลายคนถึงกับอึ้งไปตามๆ กันกับข่าวที่เด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.1 ถูกกลุ่มเด็กชาย 3 คน อายุ 6, 8 และ 11 ขวบ เรียนอยู่ชั่น ป.1 ป.3 และ ป.5 กระทำอนาจารและพยายามจับกดน้ำเพื่อฆ่าปิดปาก

ภายหลังเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้น พบว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นจริง แต่เหตุการณ์ไม่ได้รุนแรงตามที่เป็นข่าวหรือมีการแชร์กันในโลกโซเชียล เป็นเพียงการเล่นของเด็กด้วยความคึกคะนองและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีการกระทำรุนแรงหรือบังคับข่มขืนใจ และไม่มีการจ้างฆ่าปิดปากตามที่ระบุ

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวได้สร้างความ “วิตกกังวล” ให้กับสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มี “ลูกเล็ก” เป็นอย่างมาก และถือเป็นเรื่อง “เร่งด่วน” ที่รัฐ และสังคม ต้อง “ไม่เพิกเฉย”

นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน และสตรี และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีนี้ว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงทางเพศดังกล่าว นอกเหนือจากประเด็นทางกฎหมาย อาจยังบอกเล่าถึงสังคมว่า เรื่องการละเมิดทางเพศ เรื่องความรุนแรง แฝงอยู่รอบๆ ตัวเด็ก โดยที่เราปราศจากความระมัดระวัง ทั้งจากสภาพบ้านของเด็กๆ ที่ไม่เป็นสัดส่วน พ่อแม่ที่ขาดความตระหนักในฉากรัก ทั้งของตัวเองหรือแผ่นหนังที่ไม่เก็บให้มิดชิด รวมถึงสื่อสาธารณะที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะที่มีฉากตบ จูบ ข่มขืน คืนดี ซึ่งนอกจากสื่อสารได้ต่ำทราม ยังทิ้งมรดกบาปให้ลูกหลาน เพราะพวกเขาตีความยังไม่ได้ และการที่สื่อมือถือที่เข้าถึงง่ายและไม่มีมาตรการใดๆ ชัดเจน

Advertisement

“ต่างๆ นานา จะบอกว่าอาชญากรเด็ก เป็นเองไม่ได้ พวกเขาคือ ผลลัพธ์ ผลผลิตของสังคม คนเกิดก่อนเช่นเรา เช่นรัฐ นี่เเหละ คือจำเลยร่วมคนสำคัญของปรากฏการณ์นี้” นางทิชาโพสต์ข้อความตอนหนึ่ง

ขณะที่ นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า ในอดีตฮอร์โมนเพศจะเริ่มทำงานตอนเด็กอายุเฉลี่ย 12-13 ปี แต่เดี๋ยวนี้อายุไม่ถึง 10 ขวบ ฮอร์โมนเพศก็เริ่มทำงานแล้ว เมื่อผสมกับความสามารถในการจำแนกแยกแยะผิดถูกชั่วดีของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่มีเลย จึงอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้ แต่ก็ไม่ใช่จะถึงขั้นที่จะก่อเหตุแบบเคสนี้

“ผมมองว่าน่าจะมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่ครอบครัวของเด็กที่มีปัญหา ซึ่งอาจไม่เอาใจใส่ดูแลพฤติกรรมลูก ถ่ายทอดบทบาททางเพศที่ผิด ทำให้เด็กจำแนกไม่ได้ว่าอะไรควรไม่ควร รวมถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่ปลูกฝังเรื่องเพศคือการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เมื่อเด็กเกิดอารมณ์ทางเพศ ก็คิดว่าต้องมีเพศสัมพันธ์ให้ได้ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบและความถูกผิด”

Advertisement

นายสรรพสิทธิ์กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ต้องแก้ที่ระบบ ทำอย่างไรให้สังคมมีจิตสำนึกการมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้คนในชุมชนเดียวกัน ช่วยกันผลัดเปลี่ยนหรือสอดส่องดูแลเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดู หรือกระทั่งระบบดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนในโรงเรียน ที่จะช่วยคัดกรองและติดตามช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา” นายสรรพสิทธิ์กล่าว และฝากถึงการเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นอาชญากร ว่า

ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและอยู่ในสายตา โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องติดตามพฤติกรรม หากพบมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ยับยั้ง แทรกแซง แล้วชักชวนมาทำพฤติกรรมดี อาทิ อาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมเข้าสังคมต่างๆ เพื่อให้เขามีทักษะทางสังคมและการจัดการปัญหา

 

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน และสตรี และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image