ปลดแอก กรอบนิยาม ‘เรื่องเพศ’ ในนิทรรศการ ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ’

สังคมไทยเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา และขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีและท่ามกลางความหลากหลายนี้

เรื่อง “เพศ” ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่สังคมตระหนักถึงการมีอยู่ซึ่งความหลากหลายทางด้านเพศภาวะ และเพศวิถี ว่ามี “เพศอื่น” นอกจากชาย และหญิง ร่วมด้วย

มิวเซียมสยามเปิดนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” และ เฉลิมฉลองเนื่องใน “วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน” หรือ IDAHOT ขึ้น

โดยภายในงานมีภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และตัวแทนของหน่วยงานรัฐ เข้าร่วมงานด้วยอย่างคับคั่ง อาทิ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว (พม.) และ นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

Advertisement

ราเมศ พรหมเย็น ผอ.มิวเซียมสยาม กล่าวว่า จากรายงานสถิติการยอมรับ และเข้าถึงจากสังคมต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของสถาบันวิลเลียมส์ ม.แคลิฟอร์เนีย พบว่า แม้สังคมจะตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลับมีแนวโน้มการยอมรับกลุ่มเพศดังกล่าวลดน้อยลง หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีต รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

“มิวเซียมสยาม จึงได้จัดนิทรรศการหมุนเวียน ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination’ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ เข้าใจ ตลอดจนเปิดกว้างทัศนคติต่ออัตลักษณ์ทางเพศของทั้งตัวเอง และบุคคลรอบข้าง ช่วยให้สังคมเข้าใจในความแตกต่างและยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น” ผอ.มิวเซียมสยามกล่าว

Advertisement
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

ด้าน ชนน์ชนก พลสิงห์ ภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการ กล่าวว่า ทีมพัฒนาใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเนื้อหา ทัศนคติ สัมภาษณ์ ตลอดจนรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากทั่วประเทศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม

โดยภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 8 โซนด้วยกัน และโซนไฮไลต์เด็ดที่พลาดไม่ได้ ได้แก่ “เขาวงกตแห่งเพศ” ชวนกระตุกต่อมคิดเรื่องมายาคติทางเพศ ที่ถูกกำหนดกรอบความคิดเรื่องเพศ ด้วยถ้อยคำที่สะท้อนความเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เช่น เพศแม่ รักนวลสงวนตัว กุลเกย์ ชายชาตรี

โซนวงกตแห่งเพศ

ถัดมาที่โซนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในไทย “บันทึก-เพศ-สยาม” เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ “กฎหมายตราสามดวง” ได้ระบุไว้ว่า “กะเทยเป็นพยานศาลไม่ได้” สะท้อนให้เป็นว่ากะเทยตกเป็นคนชายขอบ ที่มีชีวิต แต่ “ไม่มีสิทธิ” ตลอดจนพัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ นิตยสารสำหรับกลุ่มเพศทางเลือก นีออน มิถุนา อัญจารีสาร ที่เปิดกิจการได้ไม่นานก็ต้องปิดลง หรือแม้แต่ในโลกจอเงิน LGBT ยังคงตกเป็น “ตัวตลก” ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลก ไม่สามารถจัดเข้ากับหนังทั่วไปได้ และกรณีล่าสุดเมื่อมหาวิทยาลัยปฏิเสธ “บทบาทการเป็นอาจารย์” ของ “เคท ครั้งพิบูลย์” เพียงเพราะโพสต์รูปลิปสติกเจ้าปัญหา

กฏหมายตราสามดวง
“บทบาทการเป็นอาจารย์” ของ “เคท ครั้งพิบูลย์” เพียงเพราะโพสต์รูปลิปสติกเจ้าปัญหา
นิตยสารสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ
นิตยสารสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ

และรับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ทั่วประเทศ ผ่านสิ่งของจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น ตั้งแต่ ภาพถ่าย เสื้อผ้า และอุปกรณ์เสริมสวย ในโซน “ฉากชีวิต” อาทิ ใบปริญญาที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ พวงหรีดจากภรรยาที่ครอบครัวไม่เคยรู้มาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีโซนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ห้องน้ำไร้เพศ, ชั้นลอย, ตบแต่งตัวตน, มนุษย์ขนมขิง และคาเฟ่โรงละคร

โซนตบแต่งตัวตน
ฉากชีวิต โซนจัดแสดงวัตถุจากประขาชนทั่วประเทศ
โซนห้องน้ำไร้เพศ
ชั้นลอย นำเสนอภาพวาดในจินตนาการโดยกลุ่มเยาวชน

ทั้งนี้ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวในประเด็นที่น่าสนใจว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าในปัจจุบันมีข้อร้องเรียนหนักขึ้นในเรื่อง “การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ” และ “การใช้ความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว” ต่อคนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหว และพื้นที่พหุวัฒนธรรมในบางพื้นที่ จึงเป็นอีกประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ ยังพบว่าในชีวิตการดำรงอยู่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังต้องพบกับการเลือกปฏิบัติ และการกีดกัน ในการเข้าทำงาน และเข้ารับการศึกษา ในบางสาขาวิชาชีพ

“อยากเห็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม การท้าทายของคนที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ให้ พ.ร.บ.ที่กำลังจะร่างออกมา ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือว่า พ.ร.บ.เพศสภาพ ถูกนำเสนอและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาลพลเมือง ด้วยเชื่อว่าประชาชาชนจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดกฎหมายที่คุ้มครองต่อคนทุกคนและทุกเพศ” อังคณากล่าว

เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image