‘บุหรี่’ ทำลาย ‘หัวใจ’ บ่อเกิดกว่า 25 โรค

ที่ผ่านมาเรามักตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ในแง่ของการก่อให้เกิดมะเร็ง ทั้งที่จริงบุหรี่ยังก่อให้เกิดโรคเรื้อรังไม่ต่ำกว่า 25 โรค รวมถึงโรคหัวใจด้วย 

เครือข่ายทันตแพทย์ไทยต้านภัยยาสูบ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และ สสส. ร่วมกันจัดงานวิ่ง “NoNo Fun Run 2018: My Heart is Running not Smoking” รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก โดยมี ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมวิ่ง ที่ สวนป่าเบญจกิติ

ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า จากผลสำรวจล่าสุด ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แนวโน้มการสูบบุหรี่คนไทยลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 19.1% หรือ 10.7 ล้านคน ลดลงจาก 2 ปีก่อนคือปี 2558 อยู่ที่ 19.9% โดยเป็นผู้สูบประจำ 16.8% หรือ 9.4 ล้านคน ทั้งนี้ เพศชายสูบบุหรี่ลดลงมากกว่าเพศหญิง โดยเพศชายลดเหลือ 37.7% จากเดิม 39.3% เพศหญิงลดลงเหลือ 1.7% จากเดิม 1.8% ขณะที่อายุที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี จากเดิม 17.8 ปี

“วันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ประกาศคำขวัญว่า Tobacco Break Hearts: Choice Health not Tobacco หรือ บุหรี่ร้ายทำลายหัวใจ ที่ผ่านมาประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ในแง่ของการก่อให้เกิดมะเร็ง แต่บุหรี่ยังก่อให้เกิดโรคเรื้อรังไม่ต่ำกว่า 25 โรค รวมถึงโรคหัวใจด้วย ทั่วโลกมีคนตายจากโรคหัวใจ 9 ล้านคน โดยเกิดจากบุหรี่ 1.7 ล้านคน ขณะที่คนไทย 1.5 ล้านคนป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เสียชีวิตจากหัวใจวายในช่วงอายุ 50-60 ปี ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบุหรี่ บุหรี่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบเกิดภาวะหัวใจวาย หากเจ็บหน้าอกต่อเนื่องนาน 5-30 นาที ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่ต้องไปพบแพทย์ตรวจหาอาการผิดปกติทันที จึงจำเป็นต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ในแง่ของการทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น” ดร.นพ.บัณฑิตกล่าว 

Advertisement
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

น.ส.ธนพร ขันกสิกรรม อายุ 44 ปี พนักงานบริษัทเอกชน กล่าวว่า ตนสูบบุหรี่มา 22 ปี พยายามเลิกสูบบุหรี่มาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนได้มีโอกาสมาวิ่งรู้สึกติดใจ สนุกที่ได้มาออกกำลังกาย ที่สำคัญทำให้รู้ว่าร่างกายไม่แข็งแรง หอบ เหนื่อยมาก

น.ส.ธนพร ขันกสิกรรม

“พอเริ่มวิ่งอย่างจริงจัง ความพยายามเลิกสูบบุหรี่ก็กลับมาอีก เริ่มจากลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนตอนนี้เลิกต่อเนื่องได้ 1-2 เดือนแล้ว รู้สึกร่างกายดีขึ้น สดชื่นขึ้น วิ่งหรือออกกำลังกายได้ต่อเนื่องนานขึ้น ทุกวันนี้วิ่งได้ 10 กิโลเมตรแล้ว และตัดสินใจจะเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดเพื่อสุขภาพของตัวเองและคนใกล้ชิด” น.ส.ธนพรกล่าว 

เลิกบุหรี่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image