ตามติดเบื้องหลัง “สาวประเภทสองเกณฑ์ทหาร” กฏระเบียบ และคำระบุ “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

และแล้วฤดูคัดเลือกทหารผ่านมาอีกครั้งในวันที่ 1-12 เมษายนของทุกปี ไม่เพียงเฉพาะชายไทยที่ตื่นเต้น แต่ ‘สาวประเภทสอง’ หลายคนก็ลุ้นเหงื่อตกไม่ต่างกัน จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่ายังมีสาวประเภทสองหลายคนที่ไม่ทราบกฏเกณฑ์ปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นจากการเกณฑ์ทหาร

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ จึงร่วมกับโครงการจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย มูลนิธิ เอ็มพลัส เชียงใหม่ และมูลนิธิ ซิสเตอร์ พัทยา ได้ร่วมกันดำเนินโครงการสังเกตการณ์การตรวจทหารกองเกิน พ.ศ.2559 และเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ “เมื่อดิฉันต้องเกณฑ์ทหาร” รวมทั้งคู่มือ “เมื่อพี่ทหารต้องปฏิบัติกับน้องกะเทย” ณ โรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย 2 ซึ่งเป็นสถานที่คัดเลือกทหารเขตบางซื่อ

คณะกรรมการตรวจเลือก กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ระบุว่า สาวประเภทสองที่เข้ารับการตรวจคัดเลือกเกณฑ์ทหาร จะเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกในประเภทที่ 2 คือ ภาวะ ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ จะแยกได้เป็น 3 จำพวก ได้แก่ 1.แปลงเพศแล้ว 2.มีการปรับเปลี่ยนร่างกายเห็นได้ชัด และ 3.กลุมสตรีเหล็ก ร่างกายเป็นชาย แต่จิตใจเป็นหญิง ซึ่งจำพวกที่ 3 จำเป็นต้องมีใบรองแพทย์ จากโรงพยาบาลในสังกัดกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทั่วประเทศ

แต่หากร่างกายไม่เห็นได้ชัดเจนและไม่มีใบรับรองแพทย์มา จะถูกจัดในบุคคลประเภทที่ 3 คือ คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้เพราะป่วย ซึ่งจะบำบัดให้หายภายใน 30 วันไม่ได้ ต้องมาใหม่ในปีถัดไป หากปีหน้ามาแล้วเปลี่ยนแปลงก็จะเข้าตามกระบวนการปกติ แต่หากไม่เปลี่ยนแปลงก็จะถูกจัดเป็นประเภทที่ 3 ต่อไป ทดสอบ 3 ครั้ง หรือเท่ากับต้องมาตรวจสอบ 3 ปี

Advertisement
สาวประเภทสองรับใบสด.43
สาวประเภทสองรับใบสด.43

จันทร์จิรา บุญประเสริฐ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เล่าว่า ได้เดินทางไปช่วยเหลือกลุ่มกะเทยที่ต่างจังหวัด ซึ่งบรรยากาศจะแตกต่างกับที่กรุงเทพฯ เพราะความยากจนหรือสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน กะเทยบางคนจะไม่แต่งหน้าแต่งตัวเท่าที่กรุงเทพฯ ก็จะมีการได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันไป ซึ่งเป้าหมายขององค์กรที่ร่วมกันในครั้งนี้เพื่อมุ่งให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง อาจถึงขั้นประชาสัมพันธ์กับองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อกระจายข้อมูลสำคัญที่กะเทยต้องทราบก่อนเข้าสู่การเกณฑ์ทหาร และจะร่วมกันทำงานกับกองกลางสัสดีในเรื่องการแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงต่อไป

ทรงวุฒิ แก้งเฮียง อายุ 25 ปี หนึ่งในสาวประเภทสองผู้เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกตามปกติ กล่าวว่า เธออยู่ต่างประเทศ แต่ต้องบินกลับมาคัดเลือกเกณฑ์ทหาร รู้ข้อมูลเบื้องต้นว่าต้องนำใบรับรองแพทย์เพื่อจะได้เป็นบุคคลประเภท 2 แต่ก็ทำไม่ทัน เลยเข้ามาตามระบบปกติ เพราะทำหน้าอกมาเรียบร้อย คิดว่าจะผ่านไปได้ พี่ทหารก็ดูแลดี ให้ความเป็นกันเอง

อย่างไรก็ตาม ทรงวุฒิ ฝากว่า อยากให้อำนวยความสะดวกกับสาวประเภท 2 ที่อยู่ต่างประเทศด้วย โดยดำเนินการส่งข้อมูลทำเอกสารให้ชัดเจนกับทางสถานกงสุลตามประเทศต่างๆ เพราะหน่วยงานไม่ทราบข้อมูลเลย ทำให้เกิดปัญหาว่าพอไม่กลับมาเกณฑ์ทหารที่เมืองไทยก็โดนตัดสินขึ้นแบล็คลิสต์ว่า “หนีทหาร” จะเป็นไปได้ไหม สำหรับคนอยู่ต่างประเทศ สามารถส่งใบรับรองแพทย์หรือข้อมูลต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่ต่างประเทศได้เลย

Advertisement
นายทรงวุฒิ แก้งเฮียง
ทรงวุฒิ แก้งเฮียง

สิทธิพร อุส่าห์พานิช อายุ 20 ปี กล่าวว่า ทราบมาก่อนว่าต้องมีใบรับรองแพทย์จากทางเว็บไซต์ และเลือกเข้ากระบวนการเลย เพราะรู้ว่าสรีระไม่ผ่าน รู้สึกว่าพี่ทหารปฏิบัติกับกระเทยอย่างเหมาะสม พอใจและไม่รู้สึกอึดอัดอะไร และรู้สึกพอใจกับคำที่ระบุให้พวกเราว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” เป็นคำที่ให้เกียรติมากขึ้น เป็นคำที่เหมาะสมมากกว่าแต่ก่อนที่ถูกระบุเป็น โรคจิตทราม

นายสิทธิพร อุส่าห์พานิช
สิทธิพร อุส่าห์พานิช

ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีพ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานเข้าตรวจคัดเลือก และเป็นกองเชียร์รอให้กำลังใจอยู่บริเวณนอก เขตบางซื่อมีสาวประเภทสองเริ่มต้นส่งเอกสารรายงานตัวทั้งสิ้น 6 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะได้ใบสด.43 (ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ) ระบุว่าเป็นบุคคลประเภทที่ 2 ภาวะ ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’

หากสาวประเภทสองคนใดมีข้อสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย โทร 08-6597-4636

องค์กรร่วมช่วยเหลือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
องค์กรร่วมช่วยเหลือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image