สป.กลาโหมมุ่งสู่องค์กรแห่งความสุข เพราะ “เกษียณ” ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต

ใครๆ ก็อยากทำงานกับ “องค์กรแห่งความสุข” นี่ไม่ใช่ชื่อของหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นนิยามของสถานที่ทำงานที่ดี ที่มุ่งเน้นผลงานขององค์กรควบคู่ไปกับการดูแลพนักงาน ตั้งแต่เรื่องสิทธิ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ฯลฯ

ซึ่งหากองค์กรใดทำได้แล้วก็จะส่งผลดียิ่งขึ้นกับตัวองค์กรตนเองและพนักงานในสังกัด จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อนหน้านี้ ในการสนับสนุนให้ สป.กห.เป็นองค์กรแห่งความสุข

โดยผลพวงของความร่วมมือดังกล่าว ทำให้เกิด “ชมรมผู้สูงอายุ สป.กห.” ซึ่งหาคำตอบได้ในงานประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2561 ชมรมผู้สูงอายุ สป.กห. ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) จ.นนทบุรี

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม กล่าวในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เกษียณสุขใจ สูงวัยสุขสันต์” ตอนหนึ่ง โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ และสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ สป.กห.เข้ารับฟังกว่า 200 คน ว่าหลังจากเกษียณอายุราชการเมื่อปีที่แล้ว ตนก็เป็นผู้สูงอายุคนหนึ่งที่ตื่นเช้ามาใจแป้วๆ เพราะไม่รู้จะไปไหน จนผ่านไปสักระยะเริ่มปรับตัวได้ จึงเริ่มชวนเพื่อนๆ ที่เกษียณออกไปหากิจกรรมทำทุกสัปดาห์ ได้มีเวลาพาคุณแม่และเพื่อนๆ คุณแม่ไปเที่ยว เวลาผ่านประมาณ 2 เดือน จนกระทั่งได้มาเป็น รมช.กห. ทั้งนี้ จากมุมมองของตนมองว่าการเป็นผู้สูงอายุต้องมีการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ การเงิน ไม่ใช่มาเตรียมหลังเกษียณ เพราะอาจไม่ทันและอาจตกเป็นภาระของลูกหลาน และแม้จะเกษียณไปแล้วก็ยังต้องเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเทคโนโลยี สภาพสังคม ตลอดจนนโยบายรัฐบาลต่างๆ

Advertisement

“เกษียณอายุเป็นเพียงคำคำหนึ่ง ที่ไม่ใช่การมากำหนดว่าเราต้องหยุดทุกอย่าง ทั้งพฤติกรรมและการทำงาน เพราะเรายังต้องมีชีวิตต่ออีกยาวนานต่างหาก” พล.อ.ชัยชาญกล่าว

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม บรรยายพิเศษ

Advertisement

สำหรับชมรมผู้สูงอายุของ สป.กห.ไม่เหมือนชมรมผู้สูงอายุทั่วไป ที่อาจเน้นการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมสันทนาการยามว่าง แต่ที่นี่เน้นตั้งแต่เตรียมคนก่อนสูงวัย ดูแลผู้ที่สูงวัยแล้ว กระทั่งเสียชีวิตไป ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกแล้ว 300 กว่าคน โดยสมาชิกจะได้รับสิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีพร้อมคู่สมรส อีกทั้งมีบริการติดตามดูแลหรือให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ กฎหมาย การเงิน มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมของข้าราชการที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปในการเกษียณอายุ

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า ชมรมผู้สุงอายุแห่งนี้ถือเป็นชมรมต้นแบบในหน่วยราชการ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.และหน่วยงานต้นสังกัด ทั้งงบประมาณและสถานที่ จากการเห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยในวงราชการ ที่ข้าราชการร้อยละ 90 จะทำงานกันจนเกษียณอายุ ต่างจากภาคเอกชนที่สัดส่วนการทำงานจนเกษียณน้อยกว่ามาก ฉะนั้นการมีชมรมผู้สูงอายุในหน่วยงานราชการจึงสำคัญ เพื่อจะมาดูแลคนในองค์กรให้พร้อมกับการเกษียณอายุ

“ใน 15 ปีจากนี้จะมีข้าราชการเกษียณอายุอีกมาก การมีชมรมผู้สูงอายุในองค์กรจะตอบโจทย์การสร้างสุขภาวะที่ดี ตั้งแต่เรื่องส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ สังคม เงินออม ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้จะเพียงคนเกษียณอายุเท่านั้นที่จะต้องมีส่วนร่วม แต่รวมไปถึงบุคลากรในสังกัดทุกคนที่ต้องมาเรียนรู้ไว้ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ต้องเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ 20 ปี ทั้งเรื่องเงินออมและการดูแลสุขภาพ เพราะหากไม่ดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ คิดแต่ว่าเอาไว้หลังเกษียณอายุค่อยทำ ก็อาจสายไปเสียแล้ว”

ผู้ทำงานประจำหลายคนวาดฝันหลังเกษียณอายุอยากกลับบ้านเกิด หรือไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อเป็นเกษตรกร จะอยู่กับธรรมชาติและได้พักผ่อน ซึ่ง นพ.ชาญวิทย์ยกบทเรียนมาเตือนให้ตระหนัก กับกรณีแพทย์ที่จะเกษียณอายุท่านหนึ่ง ที่บอกว่าเมื่อเกษียณอายุไปแล้วจะไปเป็นเกษตรกร ปรากฏว่าเมื่อเกษียณจริงๆ กลับมาบอกว่าไม่น่าคิดอย่างนี้เลย เพราะทำไม่ได้ ไม่เคยทำมาก่อน

นพ.ชาญวิทย์บอกว่า เพราะเขาไม่เคยเจอของจริงมาก่อน จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วหากอยากทำอะไรหลังเกษียณอายุ ควรเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ควบคู่ไปกับงานประจำที่ทำอยู่ เพื่อให้มีทักษะความรู้ กระทั่งเมื่อเกษียณไปแล้วถึงลงมือได้เต็มที่และทำอย่างถูกต้อง

 

ขณะที่ พล.ต.พิชิต ปล้องอิศวร สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ สป.กห. ซึ่งเกษียณอายุราชการมา 7 ปี กล่าวว่า เพราะรู้ว่าวันหนึ่งยังไงก็ต้องมาถึงจุดนี้ ตอนที่ใกล้เกษียณอายุจึงเตรียมการไว้หลายอย่าง อย่างการเริ่มปลดปล่อยหน้าที่ให้ลูกน้องดูแล พยายามไม่หวงงาน หวงหน้าที่ เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้และขึ้นมาแทนอย่างไม่ต้องกังวล ขณะที่ตัวเราเองก็ไม่เป็นทุกข์เพราะแบกงานอยู่คนเดียว รวมถึงการพบแพทย์อยู่ตลอด ทำให้รู้สภาพร่างกาย และกินยาตามที่แพทย์สั่ง ตลอดจนการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จากประสบการณ์เกษียณอายุที่ผ่านมา ก็อยากจะแนะนำน้องๆ ที่จะเกษียณอายุ ไปตรวจประวัติราชการทหาร เพราะบางครั้งตอนได้เลื่อนยศเลื่อนขั้น ราชกิจจานุเบกษาอาจไม่ได้ใส่ไว้ ทำให้มีปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ ภายหลัง รวมถึงตรวจยอดเงินของตนเองในสหกรณ์เพื่อรักษาสิทธิ และหลังเกษียณให้ระวังการค้ำประกันการกู้ให้ผู้อื่น เพราะอาจมีปัญหาภายหลังและกระทบกับเงินสะสมในสหกรณ์ เมื่อนั้นก็เป็นการเกษียณอย่างมีความสุข

“ผมเชื่อในเรื่ององค์กรแห่งความสุข ที่เรื่องงานจะต้องสมดุลกับเรื่องครอบครัว ไม่ใช่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ชีวิตครอบครัวล้มเหลว อย่างนี้ผมก็ไม่เอา ตรงนี้เองทำให้ตอนเป็นผู้บังคับบัญชา ก็จะเรียกลูกน้องมาสอบถามเรื่องครอบครัวว่าเป็นอย่างไร จะไม่โยกย้ายให้เขาต้องไปทำงานคนละทิศละทางกับครอบครัว จนอาจมีปัญหาภายหลัง ซึ่งจะกระทบทั้งตัวเขาและลามมาถึงการทำงาน” พล.ต.พิชิตกล่าวทิ้งท้าย

เกษียณอายุอย่างมีคุณค่า

 

พล.ต.พิชิต ปล้องอิศวร สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ สป.กห.
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image