ปั่นเปลี่ยนไทย ปั่นเปลี่ยนโลก

“จักรยาน” เป็นอีกหนึ่งพาหนะที่มีการใช้งานมาหลายยุคหลายสมัย แต่ยังคงใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น กระทั่งปัจจุบันที่เทคโนโลยีถูกพัฒนา จนทลายกำแพงของโลกการสื่อสารลงไป ทำให้ “สังคมออนไลน์” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ชุมชน” ที่เป็นศูนย์กลางของคนที่รักและชอบในสิ่งที่เหมือนๆ กัน

เฉกเช่น “เครือข่ายผู้ใช้จักรยานประเทศไทย” ที่ทำให้การปั่นจักรยานเพื่อ “สุขภาพ” หรือปั่นเพื่อ “สันทนาการ” ตลอดจนปั่นเพื่อการกีฬา ได้รับความนิยมมากขึ้น

ล่าสุด มูลนิธิสถาบันการเดิน และการจักรยานไทย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจักรยานทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “ปฐมกาล วันจักรยานโลก : ปั่นเปลี่ยนไทย ปั่นเปลี่ยนโลก” โดยรวมตัวกันปั่นจักรยานจากบริเวณลานคนเมือง ณ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ไปยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก ขอบคุณที่ยูเอ็นได้ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันจักรยานโลก” World Bicycle Day : (WBD) ตามมติสมัชชา สมัยที่ 72 เรื่องกีฬาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ

ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการจัดงาน “ครั้งแรก” ในประเทศไทย โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. ร่วมกิจกรรม

Advertisement
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และ แพทริค ฮาเวอร์แมน ตัวแทนยูเอ็น
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า เครือข่ายผู้ใช้จักรยานในประเทศไทยรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ยูเอ็นเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้พลเมืองใช้จักรยาน จึงเดินทางมาเพื่อขอบคุณ และยื่นจดหมายเปิดผนึกเสนอข้อเรียกร้องต่อภาครัฐในส่วนของมาตรการระยะสั้นทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย

1.จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานทุกประเภท โดยมุ่งเน้นผู้ใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ในเขตเมือง เทศบาล และชุมชน

2.สร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมว่าการใช้จักรยานเป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทาง และภาครัฐควรพัฒนาระบบจักรยานให้ถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

Advertisement

3.จัดให้มีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานการจักรยานโดยตรง

4.กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรและขนส่งอย่างเคร่งครัด

5.ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการต่อเชื่อมระหว่างการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ

6.ส่งเสริมให้เกิด “ชุมชนจักรยาน” ที่ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้จริง

7.หลีกเลี่ยงการสร้างถนนขนาดใหญ่ ในเมือง เทศบาล และชุมชนโดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินเท้าและการใช้จักรยาน

และ 8.ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และชุมชนท้องถิ่น

ด้าน นายอาคม กล่าวว่า จากข้อเสนอที่กล่าวมา ต้องแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว ข้อไหนที่สามารถทำได้เลยก็ต้องทำเลย และจากการไปประชุมอินเตอร์เนชั่นแนล ทรานสปอร์ต ฟอรั่ม ที่เยอรมนี มีการพูดถึง “ความปลอดภัยทางถนน” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทำงานในเมืองต่างๆ ของยุโรปซึ่งใช้จักรยานเป็นพาหนะ จึงอยากเห็นภาพแบบนั้นในสังคมไทย แต่จากการสังเกตก็พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย เช่น เรื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัด หากปั่นไปทำงานทางบริษัทก็อาจจะต้องมีห้องอาบน้ำให้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันพร้อมกับขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันในหลายๆ ด้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รศ.นพ.ปัญญา กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2560 กลุ่มประชากรที่มีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกายมากที่สุด คือ “กลุ่มประชากรวัยทำงาน” สสส.จึงตั้งเป้าไว้ว่า ในปี พ.ศ.2564 นี้ คนไทย 80% จะต้องมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้มากถึง 10,000 รายต่อปี ซึ่งจักรยานก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายมากขึ้น

รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก

ขณะที่ นายไวบูลย์ ชาญเชี่ยว ผู้ช่วยผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศ กฟผ. กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ยูเอ็นให้ความสำคัญต่อ “จักรยาน” เพราะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพและยกระ ดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้จักรยานให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งทาง กฟผ.ก็มีแผนที่จะทำให้สำนักงานเป็นสำนักงานสีเขียว โดยริเริ่มให้บุคลากรเดินทางภายในสำนักงานโดยใช้จักรยาน

นายไวบูลย์ ชาญเชี่ยว (ขวา)

ปิดท้ายที่ รศ.ดร.ประทุม ม่วงมี คนไทยคนที่สองที่ปั่นจักรยานข้ามโลก เล่าว่า ในปี พ.ศ.2512 ขณะนั้นอายุ 20 ปี ได้ปั่นจักรยานคู่ชีพเพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เป็นระยะทางกว่า 18,000 กิโลเมตร ใช้เวลา 175 วัน (ราว 6 เดือน) จากจังหวัดลพบุรี ถึงมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งผ่านมาแล้ว 50 ปี จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคงปั่นจักรยานอยู่ แต่รูปแบบและจุดประสงค์ในการปั่นจักรยานได้ต่างออกไป

“ก่อนหน้านี้ผมเคยปั่นจักรยานด้วยความรู้สึกท้าทายตนเอง แต่ในปัจจุบันด้วยข้อจำกัดเรื่องงานและเวลา ทำให้ผมปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพในฟิตเนสแทน และอาจจะมีบ้างที่ออกไปปั่นกับเพื่อนๆ ในชมรมจักรยานเพื่อผ่อนคลาย โดยพื้นฐานผมเป็นคนที่รักจักรยานอยู่แล้ว ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับจักรยาน ประกอบกับตอนนี้ในประเทศไทยผู้คนเริ่มหันมาขี่จักรยานกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตระหนักเรื่องสุขภาพ เพราะการขี่จักรยานทำให้มีสุขภาพดี ส่วนในมุมมองของ “คนจักรยาน” ผมมองว่า เรามีวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันที่ดี คือมีการพบปะ ทักทาย แลกเปลี่ยนข้อมูล และแชร์ประสบการณ์ เช่น ที่พักที่ไหนดีบ้าง เป็นต้น จนบางครั้งก็คิดเล่นๆ ว่า ถ้าสังคมไทยอยู่กันแบบสังคมจักรยานคงจะดีไม่น้อย” รศ.ดร.ประทุมกล่าว และว่า

“นอกจากการปั่นจักรยานจะเริ่มต้นที่เรื่องส่วนตัว คือปั่นแล้วสุขภาพร่างกายดี ยังได้เชื่อมโยงไปถึงประเด็นปัญหาโลก ที่ว่าการปั่นจักรยานช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ จึงคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ควรได้รับการจัดการเชิงนโยบายที่จริงจังมากขึ้น อย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ผมเคยปั่นจักรยานไป มีโครงการเพื่อจักรยานเยอะแยะไปหมด เช่น ถนนจักรยานระหว่างเมือง ที่จอดจักรยาน ตลอดจนวิถีชีวิต และสิ่งอำนวยความสะดวก ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาไปถึงระดับนั้นได้ ก็จะทำให้คนใช้จักรยานเพิ่มขึ้น”

รศ.ดรประทุม ม่วงมี

ปั่นเพื่อสุขภาพที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image