เปิดวิทยานิพนธ์ ค้นสาเหตุหญิงเลือกเป็น ‘เมียน้อย’ เผยใช้คำว่า ‘ที่สอง’ บอกสถานะแทน

ความนิยมของละครเรื่อง “เมีย 2018” ทางช่องวัน 31 ทำให้กระแสเรื่อง “เมียน้อย” กลายเป็นที่พูดถึงในแวดวงสังคมไม่น้อย ไม่รวมถึงกรณีดาราสาวชื่อดัง ออกมาแฉข้อความแชทลับของแฟนหนุ่มกับหญิงสาวรายอื่น ที่ทำให้สังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการมีรักเดียวใจเดียว

แต่เรื่องของ “เมียน้อย” ยังไม่ได้ถูกพูดในแง่มุมอื่นมากเท่าใดนัก หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้นำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “เมียน้อย” : กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว โดย สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ ส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2548 มานำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊กของ หอสมุด ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้หญิง 6 คน ถึงการเข้าสู่การเป็นเมียน้อย รวมถึงปัจจัยและอิทธิพลต่างๆ การดำรงชีวิตแบบเมียน้อย และวิธีการจัดการสถานะของตัวเอง โดยแต่ละคนมีสถานะการเป็นเมียน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปี

ซึ่ง ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้ เปิดเผยว่า ภาพที่สังคมรู้สึกกับเมียน้อยนั้นคือการอยากรวยทางลัด เกาะผัวกิน แย่งผัวชาวบ้าน ทำให้ออกมาวิจัยถึงสาเหตุการตัดสินใจเป็นเมียน้อยของหญิงสาวเหล่านี้และโอกาสไว้ว่าเกิดจากอะไร โดยผลการสำรวจปัจจัยต่างๆ ได้แก่

1. ความกดดันด้านครอบครัว โดยเฉพาะกับหญิงสาวที่มาจากครอบครัวที่แตกแยก หรือครอบครัวที่มีความเข้มงวดในการอบรมเลี้ยงดูมากเกินไป ทำให้ลูกอยากเป็นอิสระ รวมไปถึง เคยมีชีวิตสมรสที่ล้มเหลว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

Advertisement

2.เงื่อนไขและสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย เช่น เงื่อนไขทางด้านการเรียน หรือ สุขภาพที่มีปัญหา ที่สำคัญที่สุดคือ ความผูกพันทางอารมณ์ ที่มักเกิดจากการเอาใจใส่ เป็นห่วงเป็นใย และเข้าอกเข้าใจ ซึ่งหนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ กล่าวว่า หลังจากมีสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว ผู้ชายก็ยังดูแล เอาใจใส่ ไม่เคยทอดทิ้ง ยังให้คำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิต จนทำให้รู้สึกผูกพันและรัก

3.อยากลบคำสบประมาท เมียน้อยรายหนึ่งต้องการเอาชนะคำสบประมาทและคำท้าของเมียหลวง ซึ่งเป็นเพื่อนว่า “ผัวกุไม่เอาใครหรอก แค่เล่นๆ”

แน่นอนว่า การดำรงชีวิตเป็นเมียน้อยนี้ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ถูกดุด่า ว่ากล่าว ดูถูกเหยียดหยามจากครอบครัว หลายรายเลือกที่จะทำดีกับครอบครัวสามี เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นลูกสะใภ้ที่ไม่เหมือนกับคนอื่น บางคนเลือกออกจากครอบครัวมาอยู่เอง นอกจากนี้ยังถูกราวีจากเมียหลวง อย่างการจ้างให้เลิกติดต่อกับสามี หรือเลือกทำร้ายสามีแทน เพื่อให้มาหาเมียน้อยไม่ได้

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงเหล่านี้ มักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า เมียน้อย เป็นคำว่า “ที่สอง” หรือ “เป็นรอง” หรือ “อย่างนี้” แทนคำว่า เมียน้อย

ขอบคุณภาพจาก ช่องวัน 31 และ อินสตาแกรม ppanward

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image