เตรียมพบฉากที่ไม่เคยเห็น ‘เรือสำเภา’ ในโขนศิลปาชีพฯ ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ สุดอลังการ!

กลับมาจัดการแสดงอีกครั้งกับโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหนนี้เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการตั้งแต่รอบแถลงข่าว การจัดแสดง โขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า กว่าจะมาเป็นการแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จนี้ได้ ต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2546 ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นว่าการแสดงโขนซบเซา คนไม่ค่อยดูโขน และมองเป็นสิ่งไม่ทันสมัย จึงได้กราบบังคมทูลให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงทราบ จึงเป็นที่มาของพระราชกระแสรับสั่งให้อนุรักษ์โขนไว้ โดยรับสั่งให้ศึกษาการแสดงโขน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่าทำกันอย่างไร ทำให้พบว่าหลายสิ่งกำลังเลือนหายไป เช่น ช่างฝีมือโขนที่กำลังลดหาย เครื่องแต่งกายโบราณที่หาไม่ค่อยมี จึงทรงมีรับสั่งให้ช่างสาขาต่างๆ ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้มาเรียนรู้และร่วมกันทำโขน โดยมีครูอาจารย์นาฏศิลป์ที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาถ่ายทอดความรู้

จากรับสั่งดังกล่าวนำมาสู่การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯครั้งแรก เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี 2550 และได้จัดการแสดงต่อเนื่องในตอนต่างๆ รวม 8 ครั้ง ซึ่งหลังเสร็จสิ้นทุกครั้งจะต้องกราบบังคมสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 ทรงทราบ

Advertisement
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์

“พระองค์จะทรงถามว่าคนชอบไหม มีใครมาดูบ้าง มีเด็กบ้างไหม มีแต่ผู้สูงอายุหรือเปล่า เพราะทรงอยากให้โขนได้รับความนิยมกับคนไทยทุกช่วงอายุ ซึ่งดิฉันก็ได้กราบบังคมทูลว่าเป็นที่ชื่นชอบ การมาดูโขนของประชาชนได้แสดงให้เห็นว่า คนไทยเป็นคนอบอุ่น อ่อนโยน เพราะจะปรากฏภาพที่ลูกหลานพาพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาชม หลายคนต้องอุ้มพ่อแม่ที่นั่งรถวีลแชร์ขึ้นมา จนภายหลังต้องมีการทำทางลาดขึ้นหอประชุมใหญ่ และจัดเจ้าหน้าที่ช่วยดูแล เช่นเดียวกับการเลือกตอนแสดง ที่เราเปิดรับฟังเสียงผู้ชมว่าอยากชมอะไร ส่วนใหญ่อยากรู้ว่าทำไมพิเภกถึงสวามิภักดิ์กับฝ่ายพระราม จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และทรงคล้อยตามกับเสียงส่วนใหญ่” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าว

ประเมษฐ์ บุณยะชัย

ขณะที่ นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดงกล่าวว่า การแสดงครั้งนี้ใช้นักแสดง 290 คน มีความยาวกว่า 3 ชั่วโมงรวมพักครึ่ง ขณะที่บทได้ร้อยเรียงจากบทพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 และของกรมศิลปากร ที่แตกต่างกัน มาผสมผสานอย่างสวยงาม และเป็นสิ่งที่ผู้ชมไม่เคยรับชมมาก่อน อาทิ ฉากที่ทศกัณฑ์ขับพิเภกด้วยการปล่อยลงเรือสำเภา ในบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น

ปพน รัตนสิปปกร

ด้าน นายปพน รัตนสิปปกร อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี หนึ่งในนักแสดงบทพิเภก กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมแสดงโขนพระราชทานครั้งนี้ เพราะเป็นความฝันอันสูงสุดของนักเรียนนาฏศิลป์ ที่ผ่านมาจึงพยายามฝึกฝนและมาออดิชั่น ซึ่งได้แสดงตั้งแต่บทเล็กๆ ในชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์”, ปี 2556 บทเขน หรือพลทหารยักษ์ที่ยศต่ำที่สุด ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ”, ปี 2557 ได้แสดงบทวิรุญมุข ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ”, ปี 2558 ได้แสดงบทกาลสูร และบทภิเภกในปีล่าสุด

Advertisement
ฉากเรือสำเภาตัวอย่าง

สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร 0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 420, 620, 820 1,020 1,520 และ 1,820 บาท ส่วนรอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน ก่อนเริ่มจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ของที่ระลึกจำหน่ายหน้างาน
ของที่ระลึกจำหน่ายหน้างาน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image