ไลฟ์ด่า-ถูกเหยียดเพศ ‘ความก้าวหน้า’ บนทาง ‘วิบาก’ นักการเมืองหญิง

ไลฟ์ด่า-ถูกเหยียดเพศ ‘ความก้าวหน้า’ บนทาง ‘วิบาก’ นักการเมืองหญิง

นักการเมืองหญิง – ในห้วงสัปดาห์ที่แล้ว การเมืองไทยร้อนแรง โดยเฉพาะในประเด็น “ผู้หญิง”

ไม่ว่าจะเป็นกรณีการได้รับเลือกตั้งของ “ศรีนวล บุญลือ” จากพรรคอนาคตใหม่ ที่กวาดคะแนนเสียงท่วมท้น ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.เชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 ส่งให้ ส.ส.หญิงระบบบัญชีรายชื่อ “มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี” จากพรรคพลังประชารัฐ กับ “ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร” จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น “ส.ส.” ทันที

และภายหลังจากที่ข่าวเผยแพร่ออกไป ก็เกิดแฮชแท็ก #ตั๊นพันเจ็ด #เดียร์เมียสื่อ #ปารีณาค้าอาวุธ ไปทั่วโลกออนไลน์

โลกโซเชียลยิ่งระอุ เมื่อเกิดกรณี “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไลฟ์เฟซบุ๊กจนเกิดเป็นแฮชแท็ก #อีช่อ กระหึ่มโลกโซเชียล

Advertisement

ตามติดด้วยประเด็นที่ ส.ส.หญิง และ ส.ส.หลากหลายทางเพศ ถูก ส.ส.ชาย “แซว” เหยียดเพศ และเหยียด ส.ส.อายุที่น้อยกว่าในสภา

ดราม่าเกิดขึ้นรัวๆ มีการวิพากษ์วิจารณ์ ส.ส.หญิงอย่างรุนแรง ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

เป็นมรสุมที่ผู้หญิงในทางการเมืองต้องประสบ

Advertisement
จิตภัสร์ กฤดากร
วทันยา วงษ์โอภาสี

ในประเด็นดังกล่าว นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) เปิดเผยว่า เป็นห่วงว่า ส.ส.หญิงบางคน ได้ทำให้ภาพลักษณ์นักการเมืองหญิงเสียหาย และอาจถูกสังคมมองเหมารวมในเชิงลบไปด้วย

“ตอกย้ำว่านักการเมืองหญิงเป็นเพียงไม้ประดับ เนื่องจากสังคมไทยยังมองผู้หญิงแบบเหมารวมและสองมาตรฐาน เพราะในพฤติกรรมเดียวกันกับผู้ชาย ผู้หญิงจะถูกตำหนิมากกว่า เช่น ผู้ชายมีเมียน้อย สังคมมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากผู้หญิงมีผัวน้อย สังคมจะประณามหนักมาก เช่นเดียวกับความก้าวร้าวของผู้หญิง ที่ถูกมองเป็นเรื่องแย่มากกว่าผู้ชาย ฉะนั้น สังคมจึงคาดหวังผู้หญิงต้องมีมารยาทในสังคม และในสภาหากนักการเมืองหญิงอยากจะอยู่ยืนยาวก็อยากให้คำนึงจุดนี้ด้วย”

นางเรืองรวีกล่าวอีกว่า เราอยากเห็น ส.ส.หญิงที่มีบุคลิกและการแสดงออกที่น่านับถือ ติดตาม เป็น ส.ส.หญิงที่จะไม่มาแข่งกันเรื่องความสวย แต่แข่งเรื่องใครจะอภิปรายและรู้ร่างกฎหมายเพื่อประชาชนในสภาได้เก่งกว่ากันมากกว่า สร้างภาพลักษณ์ผู้หญิงทำงานเพื่อชาติ ให้สมกับความเหนื่อยยากที่ได้มา

 

กับกรณีแฮชแท็กในโลกโซเชียลมีเดีย เธอมองว่าเป็นการ “เหยียดเพศ” จากคนที่เห็นต่างในทางการเมืองเท่านั้น

เรืองรวี พิชัยกุล

อย่างกรณี มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคพลังประชารัฐ เธอมองว่า

“เมียสื่อแล้วไง ถ้าไม่ผิดกฎหมาย อย่าไปเหมารวมว่าเมียสื่อแล้วเขาจะต้องเป็นสื่อ”

เช่นเดียวกับกรณี ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคประชาธิปัตย์ เธอมองว่า “เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมเกลียดชัง หรือดิสเครดิตเท่านั้น เพราะไม่ใช่เขาไปโกงหรือใช้อิทธิฤทธิ์จนได้มา แต่เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีจำนวนเสียงที่เหลืออยู่แล้ว”

เรืองรวีแนะนำว่า “ก็อยากให้นักการเมืองหญิงที่ถูกโจมตีอย่าเพิ่งตกใจหรือไปตอบโต้ แต่อยากให้พิสูจน์ตัวเองด้วยผลงาน และฝากสังคมให้รอวิพากษ์วิจารณ์หลังปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว เพราะนี่ยังไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเลย”

ส่วนเรื่อง “ถูกแซว-ถูกเหยียด” ในสภา เรืองรวียอมรับว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยิ่งประเทศไหนหากมี ส.ส.หญิงหน้าตาดี ก็มักถูกกล่าวหาเป็นเมียน้อยเพื่อน ส.ส. หรือแกนนำการเมืองชายสักคน เป็นปัญหาที่ยังไม่มีทางแก้ ยกเว้นประเทศที่สัดส่วนนักการเมืองหญิงมากกว่าชาย เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พบว่าสถานการณ์แบบนี้ค่อยๆ เงียบหายไปเอง”

“ก็ต้องชื่นชมกลุ่ม ส.ส.หญิงและหลากหลายทางเพศ ที่ลุกขึ้นเรียกร้องต่อสู้แทนการอยู่เฉยๆ แล้วเงียบไป” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนากล่าว

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้สะท้อนว่า ส.ส.ชายดีกว่า ว่าจะไม่ทะเลาะกัน ไม่ด่ากัน เพราะถึงเวลาที่ ส.ส.ชายทะเลาะกันจะแรงกว่านี้ จะลุกขึ้นมาลุยกันอย่างที่เคยเห็นในสภา ฉะนั้น ประเด็นคงไม่ใช่เรื่องเพศ แต่น่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ ส.ส. ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเทศไทยมี ส.ส.ที่มาจากความรู้ความสามารถ แต่อีกส่วนก็มาจากเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ค้ำจุนอยู่ ผูกขาดอำนาจมาหลายสมัย

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะสะท้อนคุณภาพ ส.ส.ว่ามีมากน้อยแค่ไหน และเป็นบทเรียนให้พลเมืองที่มีคุณภาพได้คิด และเก็บไปโหวตเลือกครั้งต่อไป”

ส่วนกรณีสภา อนุญาตให้ ส.ส.แต่งกายตามเพศสภาพเข้าสภาได้นั้น

นัยนา สุภาพึ่ง

นัยนามองเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก ทันยุคทันสมัยที่สังคมต่างยินดีต่อคนที่เปิดเผยเพศสภาพอย่างตรงไปตรงมา จากแต่ก่อนสภาจะควบคุมเรื่องการแต่งกายมาก ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น เช่นเดียวกับชุดชาติพันธุ์ในสภา ที่สภาทั่วโลกให้ความเคารพ

ต่อประเด็นแฮชแท็ก นัยนาก็เป็นอีกคนที่ “ไม่สนุก” ไปกับแฮชแท็ก “ตั๊นพันเจ็ด-เดียร์เมียสื่อ” เพราะนี่คือการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“การตั้งฉายา ส.ส. เช่น ส.ส.กะเทย ส.ส.พันเจ็ด นี่คือการเหยียด บางครั้งก็เป็นการเหยียดเพราะต่างสีทางการเมือง จริงอยู่ว่าเราอาจอธิบายให้ลูกหลานฟังลำบากว่าคะแนนเสียง 1,700 ได้เป็น ส.ส. แต่การเหยียดอย่างนี้สู้บอกว่ากติกาไม่เป็นธรรมไปเลยจะดีกว่า”

“ก็ฝากให้สังคมตั้งหลักกันดีๆ ว่าเราจะส่งทอดมรดกความรุนแรง เพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้ง ให้รุ่นลูกหลานเติบโตและอยู่ในโลกที่มองเรื่องการเหยียดเป็นเรื่องปกติอย่างนั้นหรือ” นัยนากล่าวทิ้งท้าย

แม้จะมีมรสุมเข้ามาสู่นักการเมืองหญิง กระนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีข่าวดีที่เป็นความก้าวหน้าในพัฒนาการทางการเมืองของ “ผู้หญิง” เพราะมีผู้หญิงเข้าไปเป็นสมาชิก ส.ส.จำนวน 81 คน จากทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็น 16.20 เปอร์เซ็นต์ และส่วนใหญ่เข้ามาด้วยความสมัครใจ ความสามารถ ไม่ใช่นอมินีของผู้ชายที่ถูกแบนทางการเมือง

ผู้หญิงบนเวทีการเมือง

 


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image