ชุดพื้นเมือง ไม่มีกาลเทศะ หรือเสรีภาพ ดิสเครดิตการเมือง?

ชุดพื้นเมือง

ชุดพื้นเมือง ไม่มีกาลเทศะ หรือเสรีภาพ ดิสเครดิตการเมือง?

ชุดพื้นเมือง สภา – นับแต่เปิดรัฐสภา ให้เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นอกจากประชาชนจะเฝ้าติดตาม การอภิปรายประเด็นต่างๆ ในสภา ทั้งความเดือดร้อนของประชาชนด้านสินค้าเกษตร หรือ แม้แต่เรื่องความปลอดภัยของนักกิจกรรมทางการเมือง ไปจนถึงหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่จะรับหน้าที่ต่อจาก คสช.

แต่ตลอดช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง “แฟชั่น” ของเหล่า ส.ส.หญิงในสภา เป็นที่วิพาษ์วิจารณ์ ทั้งจาก ส.ส.ด้วยกันเอง และโลกออนไลน์ ล่าสุดกับ ชุดพื้นเมือง ที่ ส.ส.หญิงพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย นำไปใส่ในสภา คล้ายคลึงกับชุดนางเอกในละครเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” เตะตาใครหลายคนจนออกมาชื่นชมว่า เป็นความงดงามของไทย

ขณะที่อีกฝ่ายออกมาวิจารณ์หนักว่า “ไม่มีกาลเทศะ”

ไปจนถึงยื่นบรรจุวาระ “ชุดไทย” ในข้อบังคับให้ประธานสภาพิจารณาในที่สุด

Advertisement

ทำหลายคนหวั่นว่า ประเด็นนี้จะกลบสาระสำคัญของการทำหน้าที่ ส.ส.ไปหรือไม่

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และพรรณิการ์ วานิช นัดกันสวมชุดธีม”ชาติพันธุ์”
ศรีนวล บุญลือ

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) เผยว่า การแต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์ของชุมชน ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีมาก่อน อย่าง “คุณเตือนใจ ดีเทศน์” ก็มีชุดผ้าฝ้ายผูกผ้าพันคอ เป็นเอกลักษณ์ หรือ “คุณมาลีรัตน์ แก้วก่า” ก็แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมแพรวา ผ้าชาวเขา นำมาตัดให้เป็นลักษณะสูทมาโดยตลอด

เรืองรวี พิชัยกุล

ผู้หญิงมุสลิม ที่นุ่งฮิญาบ ชุดยาว เราก็เห็นด้วยกับการรักษาอัตลักษณ์ชุมชนดั้งเดิมของเขา หากเหมาะสม พอดี เป็นอัตลักษณ์ เพราะจริงๆ การนำผ้าไทยเข้าสภา ก็จะได้ช่วยโปรโมตให้คนเห็นผ้าสวยๆ กระตุ้นตลาด ให้ผู้ผลิตมีกำลังใจ

Advertisement

“เรื่องนี้ควรเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ส.ส.ควรมีสิทธิเลือกว่าจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ส.ส.ควรเป็นตัวของตัวเอง เป็นสัญลักษณ์การแสดงออกที่มีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้บรรยากาศเผด็จการลดลงไปบ้าง”

ก่อนย้ำสั้นๆ ว่า เรื่องใหม่ๆ บางเรื่อง ต้องใช้เวลาให้คนเข้าใจ ส่วนการวิจารณ์เรื่องชุด อาจจะทำให้คนไม่ได้เห็นศักยภาพของการทำงาน ส.ส.เสียที

สอดคล้องกับ นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร เผยว่า แต่เดิมรัฐสภาไทยถือว่าเข้มงวดมาก ส.ส.หญิงจะใส่กางเกงเข้าสภาไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้จะไปยื่นเรื่องต่างๆ ก็ต้องใส่กระโปรง ส.ส.หลายคนลงพื้นที่เสร็จก็ขึ้นเครื่องมาประชุมสภา ก็ต้องมาเปลี่ยนชุดก่อน เช่นเดียวกับสถานที่ราชการอื่น จนนำมาสู่การเรียกร้องให้สามารถใส่กางเกงเข้าสภาได้ เป็นผลให้หน่วยราชการอื่นๆ เปลี่ยนกฎด้วยในที่สุด นักการเมืองหญิงหลายคนอย่าง “คุณปวีณา หงสกุล” ก็ใส่ชุดผ้าไหมไทย เป็นสีสันให้กับสภา ขณะที่ผู้ชายเอง จากเคยใส่สูทผูกไท ในยุคของ พล.อ.เปรม ท่านก็เป็นต้นแบบของผู้นำใส่ผ้าไทย เพราะประเทศไทยร้อน เปลืองไฟ คนก็หันมาใส่ตามกัน มีการตัดลายเฉพาะพื้นที่ต่างๆ

นัยนา สุภาพึ่ง

“การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องชุดไทย จึงสร้างความแปลกใจไม่น้อย เพราะชุดไทยถูกบอกว่าเป็นมาตรฐาน เป็นสิ่งดีงาม สืบทอดวัฒนธรรม จนเราส่งเสริมให้ลูกหลานใส่ชุดไทย”

ก่อนจะชวนให้ฉุกคิดว่า

“การนำ “แฟชั่น” มานำเสนอดิสเครดิตกัน ทั้งๆ ที่มันไม่จริงนี้ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ยิ่งเป็นผู้หญิงในแวดวงการเมืองด้วยกัน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อฝ่ายตรงกันข้าม แต่อาจกระทบผู้พูดด้วย ทำให้คนเห็นว่าผู้หญิงสนใจแต่เรื่องเหล่านี้ ผู้หญิงที่เข้าสู่แวดวงการเมือง ก็อยากต่อสู้เรื่องการได้รับการยอมรับในพื้นที่การเมือง นี่เป็นเรื่องต้องระวัง”

“สำหรับผู้เสพข่าวเอง นี่เป็นโอกาสอันโอชะ ที่จะได้ตั้งสติ และตามให้ทันว่า ข่าวที่เสนอเช่นนี้ใครได้ประโยชน์ หากเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับบรรทัดฐานหรือความเชื่อ จากข้อมูลที่ได้รับ ก็ต้องตื่นรู้และคิดว่าจะก้าวอย่างไรให้พ้น เพราะข่าวสมัยนี้ไปไวมาก”

ปิดท้ายด้วย ความเห็นของ สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีคำถามต่อประเด็นที่ถูกหยิบยกมาอย่างน่าสนใจว่า ทำไมเรื่องพวกนี้จึงถูกจุดให้เป็นข่าวได้ ใครที่หยิบเรื่องนี้มาพูด และมีเจตนาการเมืองอะไรแฝงอยู่หรือไม่ และข่าวเช่นนี้ จะไปลดทอนคุณค่า การทำหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว.หญิง ในสภาหรือไม่ ทำไมการแต่งกายของ ส.ส. ส.ว.ชาย จึงไม่เป็นประเด็นข่าวบ้าง

“หากจะวิเคราะห์ แบบนักสตรีนิยม การทำให้การแต่งกายของ ส.ส. ส.ว. หญิงในบ้านเราเป็นข่าวบ่อยครั้ง สะท้อนถึงความว้าวุ่นใจ และความวิตกกังวลใจของสังคมการเมืองไทยวันนี้ เพราะที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การเมืองเป็นพื้นที่ที่ผู้ชายเป็นใหญ่และกินรวบมาโดยตลอด พอมี ส.ส. ส.ว.หญิง เพิ่มจำนวนขึ้น โดยเฉพาะ ส.ส.หญิง ที่ไม่ได้อยู่ในความอุปถัมภ์ของนักการเมืองเพศพ่อคนไหนมาก่อน แถมยังดูจะควบคุมได้ยากเสียด้วย

การหยิบเอาสถานะความเป็นหญิงของพวกเธอ มาขับเน้นโดยโยงพวกเธอเข้ากับเรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว หรือการตัดสินพวกเธอด้วยเรื่องแฟชั่น ดูจะเป็นยุทธวิธีหนึ่งในความพยายามที่จะควบคุมและทำลายเครดิต รวมทั้งศักยภาพทางการเมืองของ ส.ส.หญิงในบ้านเราเลยทีเดียว

“จะด้วยเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม การทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวมันไร้สาระ แต่มันก็มีผลอย่างมากต่อการให้การยอมรับในความสามารถและศักยภาพทางการเมืองของผู้หญิงในบ้านเรา”

สุชาดา ทวีสิทธิ์

 

“ชุดของเหล่าผู้นำโลก”

ภาพของเหล่า ส.ส.หญิงในสภา ไม่ว่าจะเป็น ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่, สิรินทร รามสูต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.แอลจีบีที อนาคตใหม่ ที่นุ่งซิ่นเข้าสภา นับได้ว่าเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ทั้งวิจารณ์ และชื่นชม

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เหล่านักการเมืองหญิง “แต่งไทย” ร่วมประชุม

ย้อนกลับไปครั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภาพของชุดผ้าไหมหลากสีสัน เรียกว่าเป็นภาพจำที่คนไทยได้เห็น เวลานายกฯหญิงเข้าทำเนียบรัฐบาล และประชุมสภา ขณะที่เวลาเดินทางไปลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน เธอจะเลือกใส่ชุดผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะนุ่งผ้าซิ่น ในแบบสาวชาวเหนือ ไม่เว้นแม้แต่เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ก็มักเลือกชุดผ้าไทย นำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ เช่นเมื่อครั้งเดินทางไปเยือนประเทศเยอรมนี จับมือกับ อังเกลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมัน ที่มักแต่งกายด้วยเสื้อหลากสีสัน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใส่ชุดไทยเยือนเยอรมนีขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ภาพจาก Yingluck Shinawatra

เช่นเดียวกับ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา ที่ไม่ว่าจะบทบาทของการเป็นนักต่อสู้ หรือผู้นำประเทศ เธอก็เลือกใส่ชุดที่สะท้อนความเป็นชาติเมียนมาอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่การเดินทางไปประชุมผู้นำโลกหรือเยือนชาติต่างๆ ขณะที่รัฐสภาพม่าเอง ก็มีสภาชนชาติที่เปิดโอกาสให้คนใส่ชุดชาติพันธุ์ตัวเอง รวมทั้งนุ่งโสร่ง เข้าฟังได้ หรือแม้แต่ในประเทศจีน และทวีปแอฟริกา ก็มีการแต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์เช่นกัน

อองซานซูจี ในชุดประจำชาติ ขณะเยือนไทย
ตัวแทนจากชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน ถ่ายภาพก่อนเข้าร่วมประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีน ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี 2015 (รอยเตอร์)
ชนเผ่าปาปัวเดินผ่านเครื่องสแกน ที่อาคารรัฐสภา ในกรุงพอร์ตโมเรสบี ประเทศปาปัวนิวกินี ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เมื่อปี 2018 (เอเอฟพี)

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image