ผู้หญิง86% ถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ ซ.ร่วมฤดีจุดเสี่ยงอื้อ จี้เพิ่มวงจรปิด แสงสว่าง เพิ่มโทษหื่น

ผู้หญิง 45% ถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ ซ.ร่วมฤดีจุดเสี่ยงอื้อ จี้เพิ่มวงจรปิด แสงสว่าง เพิ่มโทษหื่น

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 กันยายน ที่โรมแรมเอทัส เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง และภาคีเครือข่ายสร้างเมืองปลอดภัย เปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” เพื่อชวนประชาชนร่วมกันออกสำรวจค้นหาจุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในเมืองใหญ่ และร่วมกันสร้างเมืองปลอดภัยผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ  กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ระหว่างการเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายต่างๆ ผ่านพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอยในชีวิตประจำวันของผู้หญิงโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงาน ก็เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่เรียกว่า สตรีท ฮาลาสเมนท์ (street harassment) มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“จากการเก็บสถิติปี 2560 จากผู้หญิงกว่า 1,000 คน มีผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ ร้อยละ 86 สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ เป็นปัญหาที่กระทบคนจำนวนมาก แต่กลับเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม โดยพฤติกรรมคุกคามทางเพศมีตั้งแต่คุกคามทางสายตา คำพูด และการสัมผัส ซึ่งมีหลายระดับ รวมทั้งรูปแบบแปลกๆ เช่น กรีดกระโปรง สะกดรอยตาม หรือโชว์อวัยวะเพศ เหตุการณ์แบบนี้ คนมองเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นความซวยส่วนตัว ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสทางสังคมของคนที่ต้องสัญจรไปมาในพื้นที่สาธารณะ

ถ้าเราต้องใช้ชีวิตแต่ละวันอยู่กับความเสี่ยง ความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย กลายเป็นว่าเขาเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย” ดร.วราภรณ์กล่าว

Advertisement

ด้าน นายสนธยา เพ่งผล ผู้ช่วยสส.เขต 2 ปทุมวัน อดีตประธานชุมชนซอยร่วมฤดี กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้รับการร้องเรียน รอบๆ ซอยร่วมฤดีมีจุดเสี่ยงมีจำนวนมาก อาทิ รอบสวนลุมพินี ป้ายรถเมล์ใกล้ชุมชน ทางขึ้นทางลงสะพายลอยมีจุดอับ แสงไฟไม่มี กล้องวงจรปิดน้อย เดินคนเดียว มีการคุกคามทางเพศ โดยมีเคสที่เหยื่อถูกนักวิ่งโชว์ของลับ หรือเหยื่อถูกแรงงานต่างด้าว ทั้ง พม่า เขมร ลาว ที่พูดจาลวนลาม เมื่อเหยื่อหนีขึ้นสะพานลอย ก็โยนขวดเบียร์ตาม และตามป้ายรถเมล์หัวมุมสนามแบตสวนลุมพินี ตอนมืดจะเปลี่ยวมาก ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อ จึงอยากให้มีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม เพิ่มแสงสว่าง และเพิ่มโทษ ไม่ใช่เพียงปรับแค่ 500 บาทเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการครั้งนี้ ได้มีการทำกิจกรรมทดลองปักหมุดจุดเสี่ยงในพื้นที่จริงบนทางจักรยานลอยฟ้าสวนลุม-สวนเบญจกิตติ  (สะพานเขียว) ร่วมกับชาวบ้านจากชุมชนซอยพระเจน ผู้อาศัยและใช้พื้นที่บริเวณทางจักรยาน ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ @Traffyfondue เพื่อช่วยกันปักหมุดจุดเผือกบนแผนที่ต้นแบบยักษ์ เพื่อแสดงเจตจำนงในการเป็นทีมร่วมค้นหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ กทม. เพื่อให้ผู้หญิงได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการระแวดระวังภัยการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และให้ประชาชนได้ร่วมเป็นทีมเผือกในการเฝ้าระวังเพื่อช่วยสอดส่องในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อนำข้อมูล “จุดเผือก Map” เสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อธิการบดีมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image