จะมี ‘ลันลาเบล’ อีกกี่คน? พริตตี้เหยื่อ ‘ชายเป็นใหญ่’ กินเหล้า ไยต้องเคล้านารี?

จะมี ‘ลันลาเบล’ อีกกี่คน? พริตตี้เหยื่อ ‘ชายเป็นใหญ่’

กินเหล้า ไยต้องเคล้านารี?

เป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคมไม่น้อย กรณีของ “ลันลาเบล” พริตตี้สาวสวยชื่อดังที่เสียชีวิตในล็อบบี้คอนโดแห่งหนึ่ง ซึ่งตำรวจเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน ผลการชันสูตรศพ เพื่อตรวจสอบว่าการตายของลันลาเบลเกี่ยวข้องกับ “น้ำอุ่น” นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร พริตตี้บอยหรือไม่ ซึ่งล่าสุด ตำรวจได้รวบตัวน้ำอุ่นเมื่อคืนที่ผ่านมา ก่อนนำตัวเข้าสอบปากคำ โดยเจ้าตัวยังเสียงแข็งคิดว่าแค่เมา แต่ไม่ตาย อ่านข่าวเพิ่มเติม ตร.นำหมายจับรวบตัว ”น้ำอุ่น” สอบเครียด หลังเจ้าตัวพยายามโทรหาพ่อแม่ช่วย(ชมคลิป) อ่านข่าวเพิ่มเติม ฝากขังน้ำอุ่นพรุ่งนี้ ให้การภาคเสธอ้างไม่รู้’ลันลาเบล’ตาย ตร.เตรียมขยายผลผู้เกี่ยวข้องบ้านปาร์ตี้ “ลันลาเบล” ไม่ใช่เหยื่อแรก และคงไม่ใช่สุดท้าย จากข้างต้น เป็นคำกล่าวของ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งเธอมองว่า เคสของลันลาเบลสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมได้หลายแง่มุม “แง่มุมแรก จากที่ติดตามข่าว ตัวผู้ต้องสงสัยมีการสื่อสารกับเพื่อนในกลุ่มว่าจะมีการพาผู้หญิงไปกระทำการล่วงละเมิด ซึ่งถ้าเชื่อได้ตามข่าว มันสะท้อนว่า มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด แสดงให้ถึงทัศนคติที่อยู่ในสังคม และยังมีผู้หญิงที่ถูกกระทำแบบนี้อีก แต่อาจไม่ได้เป็นข่าวดัง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เห็นระดับความรุนแรงในสังคมไทย ที่น่าตกใจ ซึ่งมีผู้ชายจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้มองว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นความรุนแรง” “แง่มุมที่สอง คนที่ทราบข่าวบางส่วนได้ตั้งคำถามกับลันลาเบลว่า อาชีพแบบนี้ สมควรแล้ว หรือมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย สะท้อนทัศนคติส่วนหนึ่งของคนในสังคมที่น่าตกใจ ที่พอเห็นความรุนแรงทางเพศ ก็มีพฤติกรรมของการโทษเหยื่อ และเห็นว่า การกระทำของเหยื่อไม่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นความคิดที่ทำให้เกิดความรุนแรงซ้ำๆ ในสังคม ซึ่งอาชีพพริตตี้ เป็นอาชีพหนึ่งที่คนทำอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร เขาก็ควรได้รับสิทธิที่จะอยู่ได้อย่างปลอดภัย และประกอบอาชีพการงานได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่เป็นพริตตี้ แล้วจะต้องถูกทิ้งให้อยู่กับความเสี่ยง และถูกล่วงละเมิด”

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท

ซึ่งหนึ่งในที่พึ่งคือ “กฎหมาย” แต่แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมาย “ข่มขืนและฆ่า เท่ากับ ประหาร” แต่ปัญหา คือ การบังคับใช้กฎหมายยังไร้ประสิทธิภาพ “เราจะได้เห็นตำรวจทำงานจริงจัง ก็ต่อเมื่อกรณีนั้นเป็นข่าวดัง ทั้งที่การข่มขืนเกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวัน แต่เรื่องการบังคับใช้กฎหมายกลับไร้ประสิทธิภาพ ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ เพราะกลัวการกล่าวโทษจากสังคม อีกทั้งยังไม่ได้รับการตอบสนองในเรื่องการอำนวยความยุติธรรมอย่างจริงจัง หรือเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว กระบวนการหาหลักฐานไม่มีความละเอียดอ่อน วิธีการสอบสวนที่กระทำซ้ำๆ กระทบกระเทือนจิตใจ จากทั้งหมดทำให้มีผู้ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมน้อย ทำให้ผู้กระทำลอยนวล และสามารถไปทำกับคนอื่นได้อีก อย่างคดีของลันลาเบล ที่ผู้ต้องสงสัยไม่ได้กระทำกับลันลาเบลรายแรก ที่เป็นแบบนี้เพราะมีปัจจัยวงจรส่งเสริมให้การกระทำยังอยู่” ดร.วราภรณ์กล่าว ชายเป็นใหญ่ “รากปัญหา” กินเหล้า เคล้านารี วัฒนธรรมไม่เคยเปลี่ยน จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า จากกรณีนี้ จะเห็นชัดถึงค่านิยมผู้ชายที่ต้องการผู้หญิงมาบริการ ทำให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น วิธีคิดชายเป็นใหญ่สร้างผลกระทบและปัญหามากมาย ทำให้เกิดอาชีพแบบที่ลันลาเบลทำ เป็นช่องทางให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถทำอาชีพหาเงินได้มากๆ มาอยู่กระบวนการนี้ “ชายเป็นใหญ่ ต้องกินเหล้าเคล้านารี เป็นวัฒนธรรมที่ยังไม่เปลี่ยนในสังคมไทย เป็นวิธีคิดที่กดทับผู้หญิงหลายเรื่อง เพราะผู้หญิงบางคนไม่มีทางเลือก ก็ทำให้ทำอาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ ถูกข่มขืน ซึ่งมาจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การเลือกอาชีพเขาไม่มี ต้องไปสู้กับระบบ เพราะเขาต้องการรายได้ที่สูง อย่างลันลาเบลก็เป็นเสาหลักของครอบครัว “จากกรณีนี้ สะท้อนให้เห็นอีกว่าผู้ชายส่วนหนึ่ง ไม่ได้ถูกบ่มเพาะความยับยั้งชั่งใจเวลาที่มีความต้องการ แสดงว่า ครอบครัวไม่ได้สอน ซึ่งกลายมาเป็นวาทกรรมที่ผิดเพี้ยน ว่า ถ้าไม่มีอาชีพแบบนี้ เดี๋ยวคนก็ไปข่มขืน ซึ่งไม่ใช่เลย”

จะเด็จ เชาวน์วิไล

จะเด็จกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน อาชีพของผู้หญิงมีความหลากหลายและสลับซับซ้อนมาก แม้อาชีพพริตตี้จะมีความสุ่มเสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่เฉพาะอาชีพนี้เท่านี้ที่ถูกคุกคาม ทุกสาขาอาชีพเสี่ยงหมด ข้าราชการก็ยังถูกกระทำ ด้วยทัศนคติการใช้อำนาจที่เหนือกว่า และความไม่ยับยั้งชั่งใจ “เชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มาทำแบบนี้ ถ้าเขามีทางเลือกเขาไม่อยากทำ ดังนั้น รัฐมีอะไรคุ้มครองไหม โดยไม่ใช่การควบคุม แต่จะทำยังไงไม่ให้เขาถูกละเมิดสิทธิ ถูกคุกคาม นี่เป็นทางออกที่สำคัญ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องนำเรื่องนี้มาทำให้เป็นเรื่องเป็นราว อาจดึงคนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันหาทางออก แต่อย่าใช้วิธีการควบคุม เพราะจะยิ่งทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่มีอาชีพ และปัญหาจะยิ่งไปกันใหญ่” สุดท้าย จะเด็จย้ำว่า สังคมควรมีการเรียนรู้ ความคิดชายเป็นใหญ่ ที่นำไปสู่การละเมิด นำมาสู่ปัญหา เริ่มต้นที่ครอบครัวต้องปลูกฝังให้ลูกชายเคารพผู้หญิง สอนให้ทำงานบ้านเป็น ไม่เอาเปรียบผู้หญิง ต้องมีการบ่มเพาะในครอบครัว ส่วนผู้หญิงต้องกล้า หากเจอปัญหาอะไรต้องออกมาพูด อย่ากลัวหรืออาย และกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อไหร่จะทำหลักสูตรเพศวิถีที่ต้องทำตาม พ.ร.บ.ท้องไม่พร้อม ที่จะช่วยปรับความคิดให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องเพศวิถีที่ต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม “สังคมต้องมองว่า อาชีพนี้ไม่ได้มีพิษมีภัย สังคมต้องเข้าใจ ถ้าสังคมจะตั้งคำถาม อย่าตั้งคำถามที่อาชีพ สังคมต้องตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงมาทำอาชีพนี้เยอะขึ้น ต้องเข้าใจวัยรุ่นด้วย อย่าบอกว่าเป็นเด็กใจแตก ซึ่งไม่ใช่ประเด็น เวลาเกิดเคสอย่างนี้ สังคมต้องตั้งสติที่จะตั้งคำถามเชิงเหตุผล และจะรู้ว่า ปัญหานี้ คือปัญหาเชิงโครงสร้าง” จะเด็จทิ้งท้าย จะมีผู้หญิงอย่าง “ลันลาเบล” อีกกี่คน ที่เป็นเหยื่อของรากปัญหาเชิงโครงสร้าง “ชายเป็นใหญ่”  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image