ยกระดับคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยงานวิจัย ‘เอไอ แมมโมแกรม’

ยกระดับคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยงานวิจัย ‘เอไอ แมมโมแกรม’

มะเร็งเต้านม – จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้มากถึง 30% และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมในผู้หญิงในกรณีที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากแมมโมแกรมสามารถตรวจพบรอยโรคขนาดเล็กมากตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ร่างกายจะยังไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

ทว่าประเทศไทย แม้แมมโมแกรมจะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ภาครัฐไม่สามารถอุดหนุนให้อยู่ในสิทธิเบิกจ่ายได้ รวมถึงยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์รังสีวินิจฉัยไม่เพียงพอต่อผู้รับบริการ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงได้ริเริ่ม โครงการวิจัยพัฒนาระบบคัดกรองมะเร็งเต้านม AI Mammogram เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ด้วยความร่วมมือจากบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินภารกิจรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านมรูปแบบต่างๆ ภายใต้ “โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม”

สาธิตการใช้เครื่องแมมโมแกรม

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 13,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 4,000 รายต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความท้าทายของสถาบันมะเร็งฯ คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปตระหนักถึงภัยร้ายนี้และเห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี เพราะการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสรักษาโรคให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 มีโอกาสหายจากโรคสูงถึงเกือบ 100%

“หัวใจหลักของโครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องแมมโมแกรมให้ฉลาดและทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น โดยสามารถคัดแยกระดับความเสี่ยงของรอยโรคที่ตรวจพบได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ในการอ่านประเมินผลการตรวจแมมโมแกรม ทำให้เกิดผลดี 2 ประการ คือ ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์รังสีวินิจฉัยลง และยังช่วยลดต้นทุนในการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมที่ไม่จำเป็นของประชาชนลงได้มาก”

Advertisement

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย

นพ.สมชายกล่าวทิ้งท้ายว่า โครงงานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาโปรแกรมเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ระยะที่ 2 เป็นการสอนให้โปรแกรมเรียนรู้ เพื่อให้สามารถแยกกลุ่มความผิดปกติและความปกติออกจากกัน ซึ่งใช้เวลาราว 4-6 เดือน และระยะที่ 3 จะเริ่มทดลองใช้งานจริง เพื่อทดสอบความแม่นยำเบื้องต้นและพัฒนาปรับแต่งโปรแกรมให้เกิดความเสถียรยิ่งขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 4-6 เดือน

“หากโครงงานวิจัยประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ทางสถาบันฯตั้งใจจะนำไปใช้ตามโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสำหรับโรงพยาบาลอื่นๆ ของรัฐบาล จะคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำมาก เพื่อใช้เป็นทุนซ่อมบำรุงเครื่องมือ โดยเฉพาะส่วนประมวลผลและส่วนจัดเก็บข้อมูล รวมถึงนำไปพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อการต้านภัยมะเร็งต่อไป” นพ.สมชายกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image