จับเข่าคุย 3 ส.ส.หญิง ‘ตั๊น-เดียร์-ช่อ’ ฝุ่นข่าวฉาว…กลบบทบาท

จับเข่าคุย 3 ส.ส.หญิง ‘ตั๊น-เดียร์-ช่อ’ ฝุ่นข่าวฉาว…กลบบทบาท

3 ส.ส.หญิง – ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา “แวดวงการเมือง” นับเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทย เมื่อประเทศไทยมีการเลือกตั้ง แต่ละพรรคลุกขึ้นมารณรงค์นำประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ก็ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จวบจนกระทั่ง ส่งผู้แทนเข้าทำหน้าที่ในรัฐสภา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปีนี้ “ผู้หญิง” ลุกขึ้นมามีบทบาทในแวดวงการเมืองมากกว่าที่เคย แต่ละคนเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องในประเด็นหนักๆ ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา และการทหาร แต่ก็ยังถูกสังคมนำเสนอเรื่องของความงาม เสื้อผ้า และประเด็นดราม่า กลบความคิดที่พวกเธออยากจะถ่ายทอด และยังถูกข่าวฉาวโจมตี ไม่เปลี่ยนไปจาก ส.ส.หญิงรุ่นพี่

และ 3 สาว ที่มักถูกจับตามองจากสื่อเป็นพิเศษ อาจจะเพราะความโดดเด่น ไม่ว่าด้วย หน้าตา ความคิด หรือการแต่งกาย จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในโลกออนไลน์อยู่บ่อยๆ คงไม่พ้น “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, “เดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ “ตั๊น” จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่หยิบยกเรื่องราวของเธอ มาบอกเล่าบนเวทีด้วยกันครั้งแรก ในงานการบรรยาย “ดราก้อนฟลาย ซัมมิท” จากโครงการดราก้อนฟลาย 360 ที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์สร้างจุดเปลี่ยนทางความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมไทยและเอเชีย ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กับหัวข้อที่เข้ากับพวกเธอเป็นอย่างดี

“Not Just Another Pretty Face”

Advertisement
ตั๊น-เดียร์-ช่อ

 

เมื่อสาวสังคม ก้าวสู่โลกการเมือง

ตั๊น “จิตภัสร์” สาวรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากที่สุด ผู้เป็นที่รู้จักในสังคมก่อนจะก้าวมาทำงานการเมือง เปิดเวทีด้วยการพูดถึงสิ่งที่เธอต้องเจอ เมื่อตัดสินใจก้าวสู่โลกอีกใบ ทั้งๆ ที่เตรียมใจไว้ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่อยากให้ทำงานตรงนี้ แต่ความใฝ่ฝันอยากจะทำเพื่อประเทศชาติ ก็ผลักดันให้เธออยู่ตรงนี้เกือบ 10 ปีแล้ว

“สิ่งที่ตั๊นเจอ ก็เหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ เช่น การใส่ร้ายป้ายสี แต่งข่าว บิดเบือนข้อมูล ตัดแต่งรูป ด้วยผู้หญิงอาจจะเป็นเป้ามากกว่าผู้ชาย แต่การที่เราเป็นเป้า ก็อาจมาจากที่ครอบครัวเรามีฐานะ ทำให้คนสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมไปด้วย ทำให้เวลาทำอะไร ก็ไปกระทบกับธุรกิจครอบครัว ทำให้เราต้องเปลี่ยนนามสกุล”

Advertisement

“นอกเหนือไปจากตัวตั๊นเอง ส.ส.หญิงในอดีต โดนข่าวลือสารพัด เมื่อก่อนไม่เข้าใจหรอก คิดว่าเขาคงจะทำ ไปโรงแรมนี้ตามข่าว แต่พออยู่จุดนี้ เวลาได้ยินข่าวลือก็จะคิดเลยว่าอาจจะไม่จริง คิดอีกมุมไม่ได้เชื่อเพื่อเอามันอย่างเดียว คนอาจมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ดูอ่อนแอกว่า เมื่อไหร่จะแข่งขันกันในเชิงสร้างสรรค์ ด้วยความรู้ แทนที่จะแข่งว่าวันนี้แต่งตัวอย่างไร หน้าตาอย่างไร เรื่องนี้นอกจากผู้ชายต้องการความเข้าใจจากผู้ชายแล้ว ผู้หญิงก็ต้องให้กำลังใจกันด้วย”

“แต่เราก็พยายามมองในภาพใหญ่ว่า เราอยากทำงานเพื่อประเทศ พยายามนำกำลังใจคนรอบข้าง ประชาชน ฝ่าฟันอุปสรรค ไม่ง่ายแต่ก็ผ่านมาได้”

“ตั๊น” จิตภัสร์ กฤดากร

 

3 เรื่องจี๊ด รับน้องใหม่สู่รัฐสภา

ก้าวเข้าสู่ “รัฐสภา” เป็นปีแรกก็จริง แต่สิ่งที่โฆษกสาวพรรคอนาคตใหม่ เจอก็เรียกว่าสาหัสไม่น้อย ทั้งเรื่องแนวคิด เสื้อผ้าหน้าผม หรือวาทะต่างๆ ในสภา จนอาจเรียกว่าตำบลกระสุนตกก็ไม่ปาน

“แวดวงนักการเมือง เป็นอะไรที่ผู้ช้าย ผู้ชาย แน่นอนแม้ว่าประเทศนี้จะมีนักการเมืองผู้หญิงมาโดยตลอดในหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยมีนักการเมืองหญิงคนไทยที่มีอิทธิพลพอจะเป็นเจ้าวงการได้ พอพูดถึงนักการเมือง ก็จะเห็นภาพผู้ชายทันที ทำให้เมื่อผู้หญิงก้าวสู่สังเวียนผู้ชาย จึงมีราคาที่ต้องจ่ายหนัก”

ก่อน ช่อ-พรรณิการ์ จับไมค์ร่ายยาวสรุป 3 เรื่องราว

เรื่องแรก การถูกแซวในรัฐสภา ช่อเผยว่า เข้าสภาวันแรก ก็เตรียมใจไว้แล้วว่า เป็น ส.ส.สมัยแรก อายุไม่เยอะ อยู่อนาคตใหม่ ก็คงมีความล่อเป้าบางอย่าง วันแรกก็เจอการแซวต่อหน้าต่อตา ห่างจากบัลลังก์ประธานไม่ถึง 10 เมตร โดย ส.ส.ชายที่ทำท่าเป็นโทรศัพท์ว่า “เห้ย มึง มาที่สภาดิวะ ผู้หญิงสาวๆ สวยๆ เยอะมากเลยเนี่ย” ด้วยน้ำเสียงอันดัง ความช็อกสำหรับเราไม่ใช่แค่เจอการแซวสาวเหมือนสามแยก แต่เป็นเพราะทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นดูปกติ ไม่แปลกใจ ไม่ใช่แค่เราแต่เพื่อน ส.ส.แอลจีบีที ก็ถูกโห่แซวเช่นกัน นี่ถือเป็น sexual harassment หรือการคุกคามทางเพศ ที่เราเจอในที่ทำงาน ซึ่งเป็นที่ที่พื้นฐานความเท่าเทียมและเสมอภาคควรได้รับความเคารพอย่างสภา

นอกสภา ช่อเจอกับเฟคนิวส์ ทั้งการบิดเบือนข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเสื้อผ้าหน้าผม เรื่องส่วนตัว ทั้งจริงและไม่จริง แตกต่างจากผู้ชายที่เฟคนิวส์ ที่ซัดสาดพวกเขานั้นมาจากประเด็นเนื้อหาสาระที่พูด ส.ส.ชายไม่ค่อยโดนด่าว่า อ้วน หัวล้าน ลงพุง แต่พอเป็นผู้หญิงจะต้องโดนว่า แต่งตัวบ้าอะไรเนี่ย อิอ้วน อิดำ อิคางทูม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ไม่เกี่ยวกับงาน แต่ยังไปทำให้สาระที่เขากำลังทำลดลงไป

เรื่องสุดท้ายคือเรื่องของ กำแพงคุณวุฒิและวัยวุฒิ ที่ช่อบอกว่า หากอยู่ในวงการอื่นอายุ 30 ปี ไม่ใช่เด็ก แต่การอยู่ในแวดวงการเมืองที่ว่าอายุน้อย ครั้งหนึ่งช่อ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ วันที่ 2 ได้นั่งหัวโต๊ะประชุมแทน อ.ปิยบุตร ประธาน กมธ.ที่ติดธุระ แม้ว่าเขาจะต้อนรับดี มีมารยาท แต่ก็มีความไม่สบายใจอะไรบางอย่าง เพราะว่านี่คืออาณาจักรของผู้ชาย ซึ่งจะเป็นผู้ชายไม่เป็นไร แต่เป็นผู้หญิงที่เด็ก มันมีกำแพงขึ้นมา

พรรณิการ์ วานิช

จาก’ผู้จัดการทีมฟุตบอล’สู่ ส.ส.หญิง

สำหรับ ส.ส.หน้าใหม่อย่าง “มาดามเดียร์” เธอบอกว่า ยอมรับว่าการทำงานการเมืองที่เป็นเหมือนโลกของผู้ชาย ไม่สามารถห้ามความคิดของคนได้ กับเรื่องที่คนเข้ามาทักเรื่องชุด หรือกระเป๋า ไม่ได้คิดว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร คนชมเข้ามาก็ขอบคุณ แต่เรื่องพวกนี้เป็นแค่กายภาพเปลือกนอก อยากให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำมากกว่า

พร้อมยกประสบการณ์ เมื่อครั้งเป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยว่า แม้ว่าจะไม่เคยคิดถึงเรื่องเพศ แต่ก็จะมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยว ตอนที่ไปทำฟุตบอล ก็โดนเกรียนฟุตบอลคอมเมนต์เยอะมาก ต่อต้านว่าผู้หญิงจะรู้เรื่องหรือ จะทำได้ไหม ตอนที่พาทีมไปแข่งซีเกมส์ที่มาเลเซีย เรานั่งในห้องแถลงข่าวเป็นผู้หญิงคนเดียว ทั้งโค้ช ผู้จัดการทีม เป็นผู้ชายหมด กระทั่งสื่อมาถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ คนเดียว ก็เซอร์ไพรส์เราเหมือนกันว่า เราไม่เคยคิดเรื่องนี้ แต่ก็มีคนคิด แต่การทำฟุตบอลครั้งนั้น เราพาทีมไปชนะ ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย พิสูจน์ว่าเรื่องความอดทนของเพศแม่ ละเอียดอ่อน ทำบอลแบบหยินหยาง ไม่ได้กดดันอย่างเดียว แต่ห่วงเขาแบบครอบครัว อันนี้เป็นทีมเวิร์ก

อย่างไรก็ดี เดียร์มองว่า เพศไม่ใช่อุปสรรคของการทำงาน การเมืองเป็นเรื่องของการที่จะสามารถทำให้คำมั่นสัญญา หรือทำงานประสบความสำเร็จ ทำให้คนมีความหวัง คุณค่าการเมืองอยู่ตรงนั้น และเชื่อว่าความเป็นผู้หญิง จะก้าวไปถึงจุดสูงสุดได้ เช่น ผู้นำประเทศอย่าง เยอรมนี นิวซีแลนด์ โดยเฉพาะกับ แคร์รี หล่ำ ของฮ่องกง ที่กำลังเผชิญความกดดันหนัก หรือสมัยยิ่งลักษณ์ ที่ก็ต้องเผชิญกับความกดดันเยอะ ก็สามารถแบกรับได้

วทันยา วงษ์โอภาสี

เรื่องที่อยากทำ เมื่อได้เป็น ส.ส.หญิง

แม้ว่าจะสนใจการเมืองในภาพใหญ่ แต่เมื่อพูดเรื่องผู้หญิง ส.ส.อนาคตใหม่ ก็ยังมีเรื่องที่อยากทำอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิลาคลอด ที่ช่อบอกว่า สิทธิลาคลอดคือประตูไปสู่การที่ผู้หญิงได้มีความเท่าเทียมกับชายจริงๆ ที่ผ่านมาผู้หญิงมีสิทธิได้ลาคลอด แต่นายจ้างก็อาจจะคิดว่าไปจ้างผู้ชายดีกว่า เดี๋ยวผู้หญิงก็ลาคลอดลูก 3 เดือน ไม่ทำก็ไม่ได้ แต่การมีกฎหมายที่ดีย่อมดีกว่าไม่มีกฎหมายเลย พรรคอนาคตใหม่จึงกำลังจะเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 2 เท่าคือ 180 วัน และให้พ่อแม่แบ่งกันใช้ได้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งคู่ต้องช่วยกันดูแลลูก

สอง คือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ที่ช่อมองว่า แม้กฎหมายเรื่องนี้ของไทยจะมีความก้าวหน้า แต่ฉบับล่าสุดมีการปรับปรุงใหม่ไม่ให้ฟ้องอาญาในคดีความรุนแรงในครอบครัว เพื่อรักษาสถาบันครอบครัว ซึ่งการตัดสิทธิฟ้องอาญานี้ไม่ได้ เกิดเขาไม่อยากไกล่เกลี่ย ไม่อยากทนต่อ อยากฟ้องอาญาก็ต้องได้ทำ

ฟาก ส.ส.พลังประชารัฐ หยิบนโยบาย “มารดาประชารัฐ” มาเป็นสิ่งที่อยากผลักดัน โดยตั้งใจโฟกัสที่มารดาที่คลอดเด็ก เพราะการสร้างทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศชาติแข็งแรง พื้นฐานมีคุณภาพ ทำให้ต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ท้องจน 6 ขวบ อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกนโยบายเป็นนโยบายที่ดี แต่การจะออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ ญัตติด่วนที่เข้าสภาไปได้แค่ 20-30 หัวข้อ แต่มีรออยู่ 2-3 ร้อยแล้ว ไม่รู้ว่าญัตติทั้งหมดที่ยื่นไป จะผ่านกระบวนการรัฐสภาหรือเปล่า สิ่งที่ทำได้คือเรื่องการทำงานของเรา จะอภิปราย หรือใช้ชีวิตภายนอกก็ดี เริ่มได้เลยไม่ต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา ทั้งการวางตัว กิริยามารยาท การพูดจา มารยาท นี่เป็นสิ่งที่บอกว่าเพศหญิงทัดเทียมกับเพศชายได้

ไม่ปฏิเสธว่านโยบายต่างๆ ของแต่ละพรรค ที่มุ่งเน้นเรื่องสังคมเป็นเรื่องที่ดี แต่ จิตภัสร์อยากมุ่งเน้นไปที่เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากกว่า โดยเฉพาะรากฐานสำคัญคือ การศึกษา ซึ่งหากทุกคนได้มีสิทธิเท่าเทียมกัน เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าฐานะแบบไหนก็จะช่วยสร้างรากฐานที่มีคุณภาพได้ ให้เด็กวันนี้โตมาเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เข้าใจปัญหาสังคม รู้ว่าอะไรถูก ผิด รับผิดชอบต่อสังคม ปลูกฝังให้เคารพ และเข้าใจสังคม เพราะเราแก้ที่ปลายทางไม่ได้

 

ก้าวที่ต้องข้าม ของผู้หญิง

เมื่อเจอะเจอกับปัญหาต่างๆ นั้น หนทางต่อสู้ของพวกเธอ “ไม่เหมือนกัน”

วทันยา มองว่า สติเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด ที่จะทำให้ก้าวผ่านไปได้ ผู้หญิง หนีไม่พ้นเฟคนิวส์ หลายอย่าง อย่างเช่นการทำข่าวก็มักมีพาดหัวด้วยภาษาบางอย่าง เช่น วี๊ด เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นคนของประชาชนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญสิ่งเหล่านี้ ก็มีสติ ยึดมั่นในสิ่งที่ทำ ไม่หลงไปกับคนชม ส่วนคำด่าทอก็ประคับประคองใจ ไม่ให้ตกต่ำไปกับมัน

ขณะที่ ตั๊น ส.ส.ประชาธิปัตย์ มองว่า สิ่งที่พิสูจน์ตัวเองได้ดีก็คือการลงมือทำ เพราะเรื่องพูด ใครก็ทำได้ แต่การแก้ปัญหาต้องลงมือทำ อย่างการปรองดอง ที่มีสัมมนามากมายแต่ไม่ได้ลงมือทำ ก็จะเป็นแบบนี้ ข่าวที่ออกมาบังคับเขาไม่ได้หรอก อย่าไปเชื่อ ทำอย่างไรให้เรามีพื้นที่ทำงานได้ดีขึ้น ทำงานสบายใจมากขึ้น

ปิดท้ายด้วย พรรณิการ์ ที่บอกว่า กับเรื่องส่วนตัวนั้น เรื่องดราม่าเรียกได้ว่ามา silence เรา คือไม่ว่าให้พยายามทำงานมากแค่ไหน แต่สื่อก็ให้ความสนใจเรื่องดราม่า วิธีที่ได้ผลคือไม่ตอบโต้ เดินหน้าทำงานต่อไป เงียบในสิ่งที่ไม่มีสาระ และพูดในเรื่องที่ตั้งใจ มีคุณค่าต่อสังคม ด้วยการทำงานซ้ำๆ พิสูจน์ตัวเองซ้ำๆ เมื่อฝุ่นฟุ้งของดราม่าหายไป ที่ยังเหลืออยู่คือตัวเราและงานของเรา

ก่อนทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อยากจะเปลี่ยนที่สุด หรือให้มีน้อยที่สุดก็คือ อคติ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ อคติเป็นตัวเลวร้ายที่สุดที่ทำร้ายความงามของสังคม คนเราเห็นต่างกันได้ แตกต่างก็อยู่ด้วยกันได้ หากไม่มีอคติ บางครั้งคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกลียดเขาเพราะอะไร แต่ก็เกลียด คุณอยากเห็นคนใส่เสื้อตัวเดียวกัน ทำผมทรงเดียวกัน นั่นไม่สนุกหรือสวยงามเลย

“ฝากไว้ว่า หากเจอใครก็อยากให้เปิดใจ อย่าเกลียดเพราะข่าว หรือเพราะเพื่อนเราเกลียด แต่มองตัวตนของเขา แล้วค่อยรู้สึก” พรรณิการ์ทิ้งท้ายเวที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image