เทิดพระเกียรติ ‘สมเด็จพระพันวัสสาฯ’ สตรีล้ำสมัย-บุคคลสำคัญของโลก

เทิดพระเกียรติ ‘สมเด็จพระพันวัสสาฯ’ สตรีล้ำสมัย-บุคคลสำคัญของโลก

สมเด็จพระพันวัสสาฯ – ได้รับการเทิดทูนให้เป็น “ผู้หญิงล้ำสมัย” ที่ทรงสร้างคุณูปการหลายด้านแก่ประเทศไทย และยังทรงมีพระชนม์ชีพยาวนานถึง 6 รัชกาล เพื่อให้คนไทยได้รู้จักและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการ “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ แห่ง “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”

โอกาสนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ คุณชวลี อมาตยกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสา ร่วมเป็นประธานเปิดงาน โดยมี ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมในพิธีเปิด พร้อมด้วย ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ฯลฯ เข้าร่วม ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 สยามพารากอน

คุณชวลี อมาตยกุล,ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน,อิทธิพล คุณปลื้ม ,ชฎาทิพ จูตระกูล
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ชมนิทรรศการภายในงาน

คุณชวลี อมาตยกุล กล่าวภายหลังเปิดงานว่า ที่มาของชื่อนิทรรศการ “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” คือ การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในวังสระปทุม ซึ่งนิทรรศการแห่งนี้เหมือนเป็นการเกริ่นนำพิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบ ที่จะเปิดช่วงปลายปีนี้ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม โดยได้รวบรวมช่วงเวลาสำคัญของพระองค์ เพื่อให้คนได้รู้ว่าพระองค์ทรงทำอะไรบ้าง มีเหตุการณ์สำคัญอะไร

“ไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้ คือการนำเสนอไทม์ไลน์ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ว่าทรงมีพระชนม์ชีพ มาถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 4-9 เกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักประวัติศาสตร์ของชาติเรา”

Advertisement

ภายในนิทรรศการครั้งนี้ มีเนื้อหาจัดแบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคที่ 1 บรมอัยยิกาพงศานุประวัติ จัดแสดงพระราชประวัติแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชนม์ชีพยาวนาน 6 รัชกาล มีพระจริยวัตรอันงดงาม และบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์อเนกประการ

ภาคที่ 1 บรมอัยยิกาพงศานุประวัติ
ภาคที่ 1 บรมอัยยิกาพงศานุประวัติ
ภาคที่ 1 บรมอัยยิกาพงศานุประวัติ

ภาคที่ 2 ไพรัชวิวิธทัศนประสิทธิ จัดแสดงพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเย็บปักถักร้อยซึ่งเป็นศิลปะขั้นสูงของราชสำนัก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้ทรงอำนวยการจัดงานนิทรรศการศิลปหัตถกรรมสตรีไทย ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ทำให้ชื่อเสียงและคุณสมบัติของสตรีไทย เผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ดังปรากฏในงานแสดงนิทรรศการสินค้าโลก เวิลด์โคลัมเบียนเอ็กซ์โปซิชัน 1893 (World”s Columbian Exposition 1893) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา

“เมื่อชมโซนนี้จะรับรู้เหมือนกันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้หญิงล้ำสมัย ทรงคิดแบบที่คนสมัยก่อนไม่คิด อย่างครั้งนึงที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้พระองค์เป็นแม่งาน จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี ณ ท้องสนามหลวง ตอนนั้นทรงจัดเป็นการจัดงานแฟร์ หรืองานโอท็อปในปัจจุบัน ที่จัดแสดงผลงานของผู้หญิง เพื่อนำมาทดลองค้าขาย ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน หลังจากนั้นไม่ถึง 10 ปี ก็เสด็จฯไปจัดงานที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ตอนแรกก็ทรงกังวลเหมือนกันว่าจะจัดได้หรือไม่ แต่ก็ทรงตั้งทีมขึ้นมา แบ่งงานแบ่งหน้าที่ให้คนนั้นคนนี้ ยิ่งสมัยก่อนยังขนส่งทางเรือ คิดดูกว่าจะเดินทางไปถึงใช้เวลานานแค่ไหน แต่ผลงานที่ส่งไปประกวดก็ได้รับหลายรางวัล งานที่จัดแสดง เช่น งานร้อยดอกไม้ ก็ได้รับความสนใจจากฝรั่งมานั่งเรียนเป็นวันๆ”

Advertisement

“จากการค้นคว้าข้อมูล ยังพบว่าคนสมัยก่อนมีวิธีการถนอมอาหารที่ส่งทางเรือ โดยใช้วิธีใส่โหล และซีลด้วยขี้ผึ้ง เพื่อไม่ให้มีอะไรเข้าไปได้ เป็นภูมิปัญญาที่น่าทึ่งมาก”

ภาคที่ 2 ไพรัชวิวิธทัศนประสิทธิ
ภาคที่ 2 ไพรัชวิวิธทัศนประสิทธิ
ภาคที่ 2 ไพรัชวิวิธทัศนประสิทธิ

ภาคที่ 3 ราชกรณียกิจวรประกาศ จัดแสดงพระราชกรณียกิจสำคัญน้อยใหญ่ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงปฏิบัติบำเพ็ญตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งด้านการสาธารณสุข การแพทย์ การศึกษาวัฒนธรรม และมนุษยศาสตร์ องค์การยูเนสโกประกาศเฉลิมพระเกียรติให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้มีผลงานดีเด่น ในโอกาสครบ 150 ปี พระราชสมภพ 10 กันยายน พ.ศ.2555

ภาคที่ 3 ราชกรณียกิจวรประกาศ
ภาคที่ 3 ราชกรณียกิจวรประกาศ
ภาคที่ 3 ราชกรณียกิจวรประกาศ
ภาคที่ 3 ราชกรณียกิจวรประกาศ

ภาคที่ 4 ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา

คุณชวลีกล่าวอีกว่า สมัยก่อนผู้หญิงไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ จะเรียนแค่เย็บปักถักร้อย หรือเรียนวิชากุลสตรี พระองค์ก็ทรงส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เรียนเย็บปักถักร้อย จนเป็นโรงทอผ้าขึ้น และเป็นอาชีพ นอกจากนี้ ยังทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษา จากการพระราชทานทุนการศึกษา เพื่อให้คนมีโอกาสศึกษาต่อ เหล่านี้ถูกนำมาจัดแสดง

ในนิทรรศการยังนำเอกสารจดหมายเหตุ และสิ่งของส่วนพระองค์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เช่น ฉากผ้าปักอายุกว่า 100 ปี, สมุดรูปเล่าเรื่องสยาม (จำลอง) ซึ่งเคยพระราชทาน มิสซิส พาล์เมอร์ ประธานกรรมการผู้จัดงานฝ่ายสตรีของงานเวิลด์โคลัมเบียนเอ็กซ์โปซิชัน 1893 (World”s Columbian Exposition 1893) รวมถึงขนมไทยโบราณ ที่เคยส่งไปร่วมประกวดในงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสาธิตและทดลองการทำอาหารและงานฝีมือไทย เช่น ปั้นสิบ ขนมบุหลันดั้นเมฆ, งานร้อยมาลัย, งานพับดอกบัว โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย

ภาคที่ 4 ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์
ภาคที่ 4 ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์
ภาคที่ 4 ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์
ภาคที่ 4 ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์

บรรยากาศในนิทรรศการ

ฉากประดับด้วยภาพปักอายุกว่า 100 ปี (สิ่งของส่วนพระองค์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
หนังสือและนิตยสารที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรงทรงครั้งดำรงพระชนม์ชีพ
หมอนปักรูปเสือ ได้รับรางวัลจากงานเวิลด์โคลัมเบียเอ็กซ์โปซิชั่น 1893

สนใจเข้าชมนิทรรศการ “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” ได้ทุกวัน ระหว่างนี้ถึงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2563 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image