‘วีมูฟ’ ชี้ รธน.60 ขัดหลักประชาธิปไตย แนะแก้ให้เป็นธรรมทุกเพศสภาพ

‘วีมูฟ’ ชี้ รธน.60 ขัดหลักประชาธิปไตย แนะแก้ให้ เป็นธรรมทุกเพศสภาพ

เป็นธรรมทุกเพศสภาพ – เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ขบวนผู้หญิงปฏิรููปประเทศไทย (WeMove) และองค์กรเครือข่าย ได้ออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีประเด็นในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการที่สร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม ผู้หญิง และเพศหลากหลายอย่างมาก

ตลอดช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือ วีมูฟ (WeMove) และองค์กรเครือข่ายได้เสนอหลายประเด็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้รับการยอมรับที่จะบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ 2560

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น ไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตย ขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอและกว้างขวาง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้บัญญัติเรื่องใหม่ๆ ที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย จึงทำให้เกิดปัญหานานัปการตั้งแต่ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ในการริเริ่มของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ วีมูฟและองค์กรเครือข่ายจึงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมกับทุกเพศสภาพ โดยเริ่มการศึกษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามีข้อเด่น ข้อด้อยอะไร และในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระนี้ควรมีกระบวนการอย่างไรในแบบที่ผู้หญิงและทุกเพศสภาพต้องการ

Advertisement

สำหรับ ข้อเสนอเชิงหลักการ ที่ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทยห่วงกังวลและต้องการผลักดันเป็นพิเศษ ทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย

1.ต้องประกันและบัญญัติเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน ความเสมอภาค และความเสมอภาคระหว่างเพศ อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

Advertisement

2.วีมูฟ ยืนยันหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยใช้มาตรการพิเศษเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางโอกาส เช่น การจัดให้มีสัดส่วนของหญิง-ชาย (Gender Quota) โดยให้มีเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามในองค์กรตัดสินใจทุกระดับ รวมทั้งในการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. และกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขอยืนยันการทำนโยบายและงบประมาณของรัฐทุกหน่วยงานที่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพ วัยและสภาพของบุคคล (Gender Responsive Budgeting-GRB) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 71 วรรค 4

3.ผู้หญิงและเพศหลากหลายต้องเข้าถึงและได้รับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องมีสันติภาพและปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เด็ก และผู้บริสุทธิ์ทุกศาสนา

4.เพิ่มกลไกและประสิทธิภาพของภาคประชาชนในการตรวจสอบนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรอิสระ

5.ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้หลักการข้อเสนอกฎหมาย เอื้ออำนวยต่อประชาชนมากกว่าปัจจุบัน

6.ยืนยันการจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และสุขภาพ

7.เพิ่มอำนาจการตัดสินใจของผู้หญิงในการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

8.ให้บัญญัติสิทธิแรงงานในหมวดสิทธิเสรีภาพ “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน สิทธิด้านหลักประกันในการดำรงชีพทั้งระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน มีระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน รวมทั้งระบบประกันสังคมที่เป็นอิสระ” และรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87, 98, 183 และ 190

ด้านข้อเสนอต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยประชาชนทุกเพศสภาพและทุกภาคส่วน คล้ายคลึงกับสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 2.มีกลไกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางตลอดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ก่อนร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ และหลังจากร่างเสร็จแล้ว และ 3.ให้ทำประชามติ โดยต้องเผยแพร่อย่างทั่วถึง และให้ประชาชนมีเวลาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image