ลดทุกข์ ปรับโถ ห้องน้ำ ‘เป็นมิตร’ คนสูงวัย

ลดทุกข์ ปรับโถ ห้องน้ำ ‘เป็นมิตร’ คนสูงวัย

คนสูงวัย – ไม่เพียงเป็นพื้นที่ปลดทุกข์ให้ใครหลายคน “ห้องน้ำ” ยังอาจเป็นพื้นที่ “สร้างทุกข์” ให้กับคนบางคน โดยเฉพาะกับ “ผู้สูงอายุ” ที่ถ้าหากไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดี อาจจะทำให้ประสบอุบัติเหตุในห้องน้ำได้รับบาดเจ็บ พิการ กระทั่งเสียชีวิตได้

เป็นเรื่อง “น่าห่วง” ในช่วง “สังคมสูงวัย” ของประเทศไทย ที่สะท้อนผ่านข้อมูล สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษา ณ ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาล ระหว่างปี พ.ศ.2554-2558 เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบผู้บาดเจ็บรุนแรงถึง 12,252 ราย เสียชีวิต 546 ราย อัตราบาดเจ็บตาย ร้อยละ 4.46

พบการบาดเจ็บจากการพลัดตก หกล้ม บนพื้นระดับเดียวกันจากการลื่น สะดุด และเสียหลัก ร้อยละ 60 และสถานที่เกิดเหตุบาดเจ็บสูงสุดคือ บริเวณบ้าน ร้อยละ 83.37

เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บดังกล่าว จึงต้อง “สร้างความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ” กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงร่วมกับหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวงกลาโหมรวมถึงภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการ “ส่งความสุข ลดทุกข์ ปรับโถ” ดำเนินการปรับปรุงห้องน้ำของผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐาน เช่น เปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ เพิ่มราวจับเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และลดการเกิดอุบัติเหตุผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในห้องน้ำ โดยมีเป้าหมายปรับปรุง 5,000 แห่งทั่วประเทศ

Advertisement
กนกวรรณ เหลืองมงคลเลิศ

นางสาวกนกวรรณ เหลืองมงคลเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มระบบดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุ กรม ผส.เปิดเผยว่า จากสถิติของสํานักระบาดวิทยา พบว่า ผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 3 ราย โดยส่วนใหญ่พบเกิดเหตุในบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ภายในห้องน้ำ จากพื้นลื่น พื้นต่างระดับ อันเป็นสาเหตุให้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จึงมีโครงการนี้ โดยได้ทำการออกสำรวจห้องน้ำตามครัวเรือนสูงวัยทั่วประเทศ พบเบื้องต้นมีห้องน้ำไม่เหมาะสม จำนวน 9,444 แห่ง จึงมีการจัดงบประมาณสนับสนุนมาส่วนหนึ่งทยอยปรับปรุงให้

ขณะเดียวกันอยากเชิญประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมสนับสนุนและสมทบทุนโครงการได้ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0-2642-4305-6

ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้เผยแพร่แบบก่อสร้างห้องน้ำที่รองรับคนทุกวัย อย่างของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่แนะนำว่า ห้องน้ำเป็นห้องที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงแนะนำดังนี้ ห้องน้ำไม่ควรอยู่ไกลจากห้องนอนผู้สูงอายุ เพราะหลายท่านกลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ห้องน้ำควรมีขนาดที่พอดีเหมาะสม อย่างขนาด 1.65-2.75 เมตร โดยมีพื้นที่ว่างภายในเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อรองรับการใช้งานโดยรถวีลแชร์ รวมถึงห้องน้ำควรมีราวจับจากภายนอก เช่น จากห้องนอนต่อเนื่องมาที่ห้องน้ำได้ ภายในห้องน้ำควรมีราวจับที่สามารถเดินได้ทั่วห้อง, พื้นห้องน้ำควรมีระดับเสมอกัน ถ้าจำเป็นต้องมีพื้นต่างระดับควรเป็นทางลาด และวัสดุที่ไม่ลื่น มีการระบายน้ำดี แยกส่วนพื้นที่แห้งและเปียกชัดเจน แสงสว่างเพียงพอ และควรมีที่นั่งเพื่อใช้ฝักบัวอาบน้ำ ลดการออกแรงจากการอาบด้วยขันน้ำ

Advertisement

ในส่วนโถส้วม ควรติดตั้งแบบนั่งราบ ห่างจากฝาผนังด้านข้างมาถึงกลางโถสุขภัณฑ์ประมาณ 45 เซนติเมตร ช่องประตูเข้าห้องน้ำมีขนาดไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ประตูควรเป็นบานเลื่อนเปิดปิดและสามารถปลดล็อกจากด้านนอกได้ กรณีเข้าไปช่วยเหลือผู้สูงอายุหกล้ม ภายในตกแต่งสีผนังกับสีพื้นที่ตัดกันชัดเจน ช่วยในการมองเห็น เพียงเท่านี้ก็จะได้ห้องน้ำที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และคนทุกวัยได้

ลงทุนอีกนิด ชีวิตปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image