รู้ยัง! ความเท่าเทียมทางเพศ กระตุ้นเศรษฐกิจได้!

รู้ยัง! ความเท่าเทียมทางเพศ กระตุ้นเศรษฐกิจได้!

ในขณะที่หลายคนรุมตำหนิรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่ามีข้อบกพร่องตรงนั้น ยังขาดตรงนี้

ทว่า เนื้อในหนึ่งได้บรรจุเรื่องใหม่ เรื่องดี ไม่เคยมีมาก่อน ใน มาตรา 71 วรรค 4 ที่ระบุว่า “การจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม”

แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของงานประชุม “การสร้างนโยบายและงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ” (Gender Responsive Policymaking and Budgeting) หรือจีอาร์บี จัดโดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และภาคีเครือข่าย ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันคนยังเข้าใจผิดเมื่อพูดถึงเรื่องจีอาร์บี ว่าคือการอยากได้งบประมาณพิเศษให้ผู้หญิง หรือการพยายามจะให้อะไรผู้หญิงมากขึ้น แต่จริงๆ จีอาร์บีคือการวิเคราะห์นโยบายและงบประมาณของรัฐแต่ละปี ว่าได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนกลุ่มต่างๆ อย่างไร มีความแตกต่างกันหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่พูดเฉพาะผู้หญิง หรือให้บทบาทเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เท่านั้น แต่พูดถึงคนทุกกลุ่ม ในลักษณะการคิดแบบองค์รวม และต้องเป็นบทบาทของทุกหน่วยงาน

Advertisement

“อย่างโครงการอีอีซี (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่มากของรัฐบาล นอกจากพูดเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีหรือไม่ที่จะพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ชาย ผู้หญิง คนพิการ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้กระทั่งคนในพื้นที่ เขาเหล่านั้นจะได้ประโยชน์และมีส่วนร่วมอย่างไร ที่เป็นการคิดถึงองค์รวม”

เธอแสดงความเป็นห่วงภาพรวมงบประมาณปี 2563 ก็คงยังไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางจีอาร์บี ส่วนใหญ่ยังเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้มีมุมมองหรือโครงการพัฒนาทางสังคมที่จะเสริมด้านเศรษฐกิจ

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เธอยกตัวอย่างสหราชอาณาจักร ที่ทุ่มงบประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ลงไปในการดูแลเด็กแรกเกิดจนถึงปฐมวัย ผ่านการก่อตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ เกิดการจ้างงานเจ้าหน้าที่กว่า 1.5 ล้านตำแหน่ง มาดูแลและส่งเสริมพัฒนาเด็ก

Advertisement

“ผลออกมาว่าเมื่อเด็กได้รับการดูแลจากระบบที่ดี ผู้หญิงก็เริ่มกลับไปทำงาน กล้าตัดสินใจมีบุตรเพิ่ม มีรายได้จ่ายภาษีให้ประเทศมากขึ้น แก้ปัญหาสังคมสูงวัย และเพิ่มรายได้ให้ประเทศ ขณะที่ในงบประมาณเท่ากัน หากนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเกิดการจ้างงานแรงงานก่อสร้าง ประมาณ 7.5 แสนคน แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งเงินเหล่านี้จะไปเพิ่มคุณภาพชีวิตภรรยาและลูกหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้”

และท่ามกลางโลกยุคดิจิทัลที่รัฐบาลไทยประกาศตัวเข้าสู่ยุค 4.0 เธอยิ่งเป็นห่วงภาวะคนตกงาน จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาแทนที่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีโอกาสตกงานมากกว่าผู้ชาย ฉะนั้นถึงเวลาแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวง พม., คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงบประมาณ รวมถึงฝ่ายบริหารนโยบาย จะหันมาทำความเข้าใจ “การออกแบบนโยบายที่สามารถลงทุนทางสังคมได้ด้วย ไม่ใช่เน้นลงทุนก่อสร้างอย่างเดียว”

เรืองรวี พิชัยกุล

ภายในงานมีการถอดบทเรียนสหราชอาณาจักร ที่ก้าวหน้าเรื่องจีอาร์บีในระดับโลก และผลศึกษาเปรียบเทียบระดับนานาชาติ

จาเน็ต ไวต์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านจีอาร์บี จาก The Westminster Foundation for Democracy (WFD) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้สหราชอาณาจักรทำเรื่องนี้ได้เป็นรูปธรรม เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอ็นจีโอ นักวิชาการ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีการคำนวณประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้ หากรัฐดำเนินนโยบายจีอาร์บีให้รัฐบาลประกอบการตัดสินใจ ฉะนั้น จึงเป็นโครงการที่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ว่าทำไมต้องทำ ทำแล้วเกิดประโยชน์อะไร นำไปสู่นโยบายที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

“จากการลงทุนด้วยแนวทางจีอาร์บี สหราชอาณาจักรได้ผลตอบแทนกลับถึงร้อยละ 95 ถึงร้อยละ 89 เช่นเดียวกับ 7 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ลงทุนประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเหมือนกัน ผลปรากฏว่าเขาสามารถสร้างงานให้ผู้หญิงได้มาก และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศได้ไม่น้อยเช่นกัน”

เธอยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายเอื้อธุรกิจสตาร์ตอัพของผู้หญิง ตั้งแต่กฎหมายเงินกู้ที่ยกเลิกต้องมีผู้ชายมาค้ำประกันเหมือนในอดีต การมีสภานักธุรกิจสตรีของสหรัฐ ซึ่งมีเครือข่ายนักธุรกิจสตรีมากกว่า 100 บริษัท เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนผู้หญิงทำธุรกิจ มีศูนย์จัดอบรม เวิร์กช็อป และมีหน่วยงานของรัฐดูแลเรื่องเงินกู้ให้นักธุรกิจหญิงโดยเฉพาะ จนพวกเธอสามารถตั้งธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งได้ เร็วๆ นี้ สหรัฐยังเตรียมแถลงข้อมูลเป็นตารางอีกว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้สามารถทำให้ผู้หญิงเข้าสู่การทำงานได้อย่างไร เท่าไหร่ พร้อมการประเมินผล

จาเน็ตเล่าอีกว่า จากการศึกษาประเทศไทยผ่านข้อมูลของสำนักงานสถิติ พบแนวโน้มผู้หญิงทำธุรกิจน้อยลง มีอัตราว่างงานหรือทำงานแบบไม่มีรายได้ในครอบครัวถึง 5.2 ล้านคน เมื่อพวกเธอรู้สึกไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อยลง ทำให้เด็กเกิดใหม่ของไทยต่ำลงมาก เมื่อนั้นวัยแรงงานในอนาคตของไทยก็จะลดลง รายได้เข้ารัฐก็จะต่ำลงตาม ในขณะที่รัฐต้องมีภาระงบประมาณสาธารณสุขเพิ่มเพราะสังคมสูงวัยสูงขึ้น

“ทั้งหมดนี้จะบอกว่า ภาครัฐคงต้องมีมาตรการช่วยเหลือและให้โอกาสผู้หญิงให้มากกว่านี้ เพราะที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้ก็จะวนกลับไปกระตุ้นเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตในอนาคตของประเทศได้” จาเน็ตกล่าวทิ้งท้าย

จาเน็ต ไวต์ช
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image