8 หนังสือต้องอ่านเพิ่ม ทักษะชีวิต “หยุดระเบิดเวลา” ให้ แสงสว่างสังคม

8 หนังสือต้องอ่านเพิ่ม ทักษะชีวิต “หยุดระเบิดเวลา” ให้ แสงสว่างสังคม

ในยุคดิสรัปชั่น (Disruption) แม้สังคมจะเริ่มหันหลังให้สิ่งพิมพ์ แต่หนังสือก็ยังคงเป็นที่ยอมรับ ในโลกแห่งความรู้ซึ้งศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ “ทักษะชีวิต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดและสำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน ท่ามกลางวิถีชีวิตเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว แต่คุณภาพประชากรไม่หมุนตาม จึงเกิดปัญหาทางสังคมขึ้นมามากมาย

เพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นสังคมแห่งคุณภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จึงจัดโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะทางสังคม (อ่าน เอา เรื่อง) เพื่อพัฒนาบุคลากรภายในกระทรวง พม. ก่อนให้นำขยายผลไปยังสังคมต่อไป ภายในงานยังได้เชิญนักเขียนนักแปลหนังสือเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว มาเปิดทรรศนะ ณ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

Advertisement

จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปัจจุบันมีครอบครัวถึง 5 แสนครอบครัวที่เป็นแม่วัยใส ครอบครัวแหว่งกลาง งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ภาวะความล้มเหลวของครอบครัว มีโอกาสนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมสูงในอนาคต ฉะนั้นต้องหยุดระเบิดเวลา ด้วยการให้แสงสว่างแก่สังคม จึงอยากนำเสนอ 8 หนังสือ ที่จะเป็นปัญญาและประโยชน์แก่สังคม

เริ่มต้นที่หนังสือเด็ก พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์ ผู้เขียนหนังสือ “คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์” เล่าว่า จากการทำคลอดมาไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย มีแม่เสียชีวิต 5 ราย และเด็กเสียชีวิตอีก 100 กว่าราย ดิฉันค้นพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่อยู่ที่ความไม่พร้อม ความไม่รู้ และไม่มีประสบการณ์ของผู้หญิงตั้งครรภ์ ดิฉันจึงทำหนังสือแนะนำดังกล่าว

หนังสือเล่มนี้แนะนำตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ตั้งแต่ให้คู่สามีภรรยาต้องเจาะเลือดตรวจก่อน มีการฉีดวัคซีน หรือหากเป็นโรคก็จะต้องรักษาให้หายก่อนมีบุตร 6 เดือน เรื่อยมาจนถึงการสังเกตอาการตั้งครรภ์ช่วงเดือนแรกๆ อาทิ เต้านมคัด ท้องใหญ่ขึ้น ไม่ใช่อาการอาเจียนอย่างในละคร และอาการตลอดอายุครรภ์ ตลอดจนแนะนำการคุมกำเนิด ว่ามีวิธีการและประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง เพราะพบผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้ามาจำนวนมาก

 

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

ถัดมาที่หนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” หนังสือดังที่แปลโดย พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเล่นกับความมหัศจรรย์ของสมองเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี สามารถเรียนรู้อะไรได้มากมาย หากได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งยังยกผลงานชิ้นเอก ทำได้เป็นที่ประจักษ์ตามหนังสือคือ ลูกและหลาน

พรอนงค์เล่าว่า ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาญี่ปุ่น จนต้องตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเลี้ยงลูก เพราะเห็นความสำคัญของสมองเด็ก ที่เรียนรู้ทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน จนตอนนี้ลูกดิฉันเป็นหมอ และมีลูกสาววัย 2 ขวบเศษ เราพัฒนาการเรียนรู้ไม่หยุด หลานก็สนุกด้วย ทำให้วันนี้เธอสามารถพูดได้ 3 ภาษา ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ และไทย บ่งบอกชัดเจนว่าการพัฒนาเด็ก สามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และแรกเกิด อย่ารอให้ถึงชั้นอนุบาลที่สายเสียแล้ว

รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว
รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว
พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา
พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา

เด็กเก่งยังไม่พอ ต้องดีด้วย สะท้อนผ่านผลสำรวจที่ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ผู้เขียนหนังสือ “ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย” บอกว่า จากการสำรวจวัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใน 5 ต้นทุนชีวิต คือ บ้าน ชุมชน โรงเรียน เพื่อน และตัวเอง หลายปีที่ผ่านมา พบวัยรุ่นไทยมีความเป็นจิตอาสาและมีน้ำใจต่ำ ขณะที่เด็กเรียนเก่ง เป็นกลุ่มเด็กที่เห็นแก่ตัวที่สุด

“ตรงนี้ทำลายสมมุติฐานของพ่อแม่หลายคน ที่พยายามส่งลูกให้ได้เรียนสูงๆ เพื่อเป็นคนดี คนเก่งในอนาคต ว่าไม่จริงเสมอไป ฉะนั้นเราต้องสอนต้นทุนชีวิตที่ถูกต้องกับเด็ก” นพ.สุริยเดวกล่าว

ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย
ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

ส่วนจะเลี้ยงลูกแบบเข้ม สายกลาง หรือหย่อน พ.อ.นพ.ฐิติศักดิ์ กิจทวีสิน อายุรแพทย์ทั่วไป ผู้เขียนหนังสือ “เลี้ยงลูกด้วยสติ” แนะนำว่า พ่อแม่ที่จับตาลูกทุกก้าว ให้ลูกทำตามคำบอก 1 2 3 4 … อนาคตที่เขาต้องออกไปทำงาน เขาจะมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ ปรับตัว และแก้ปัญหา แต่หากเลี้ยงแบบปล่อยตามใจลูก ก็จะได้ลูกที่อ่อนแอ อ่อนไหว และไร้ทิศทาง ฉะนั้นต้องอยู่ตรงกลาง ที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดแต่ไม่ควบคุม ห่วงแต่ไม่คาดหวัง ให้พลัง และสร้างบรรยากาศที่ดีให้เด็กมีความสุข ก็จะได้ผู้ใหญ่ที่สามารถอยู่กับคนอื่นได้ง่าย มีความคิดสร้างสรรค์ เห็นอกเห็นใจคนอื่น และคิดวิเคราะห์เป็น

“อยากให้ลูกเป็นอย่างไร พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง ไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องไม่ทำสิ่งนั้น เหล่านี้คือการเลี้ยงลูกอย่างมีสติ สำคัญคือการต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ดีต้องไม่ใช่เลี้ยงลูกในสิ่งที่อยากให้เขาเป็น แต่ต้องเลี้ยงด้วยการสนับสนุนส่งเสริมในสิ่งที่เขาอยากเป็น” พ.อ.นพ.ฐิติศักดิ์กล่าว

เลี้ยงลูกด้วยสติ
เลี้ยงลูกด้วยสติ
พ.อ.นพ.ฐิติศักดิ์ กิจทวีสิน
พ.อ.นพ.ฐิติศักดิ์ กิจทวีสิน

ภายในงานยังมีมุมมองดีๆ อย่างการต้องเป็นพ่อแม่นักการตลาด ที่ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาขายลูกค้าในปัจจุบัน กล่าวคือการเลี้ยงลูกเจนแซด โดยจิรายุ แก้วพะเยาว์ ผู้เขียนหนังสือ “Family 4.0” รวมถึงเลือกเสพเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ชีวิตมีความสุข ท่ามกลางยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้น โดย นพ.โมทย์ศักดิ์ แสงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมอง ผู้เขียนหนังสือ “โค้ชความคิด” และการเสพสื่อสมัยใหม่ “เฟซบุ๊ก ไลน์ และกูเกิล” อย่างมีสติ เท่าทัน และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยอุกฤษฏ์ ตั้งสืบสกุล ผู้เขียนหนังสือ “เพิ่มยอดขายด้วย Facebook รุกด้วย LINE OA ขยายด้วย Google”

ปิดท้ายด้วยเทรนด์มาแรงครอบครัวไทย “คนหลากหลายทางเพศ” โดย พอลลีน งามพริ้ง อดีตประธานชมรมเชียร์ไทย ผู้เขียนหนังสือ “รองเท้าที่คับเกิน” บอกเล่าประสบการณ์ลูกชายในครอบครัวตำรวจและนักมวย เพื่อให้สังคมเปิดใจและเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศของสมาชิกในครอบครัว

รองเท้าที่คับเกิน
รองเท้าที่คับเกิน
พอลลีน งามพริ้ง
พอลลีน งามพริ้ง

นพ.โมทย์ศักดิ์ แสงทอง

นพ.โมทย์ศักดิ์ แสงทอง

โค้ชความคิด
โค้ชความคิด
จิรายุ แก้วพะเยาว์
จิรายุ แก้วพะเยาว์
Family 4.0
Family 4.0
เพิ่มยอดขายด้วย Facebook รุกด้วย LINE OA ขยายด้วย Google
เพิ่มยอดขายด้วย Facebook รุกด้วย LINE OA ขยายด้วย Google
อุกฤษฏ์ ตั้งสืบสกุล
อุกฤษฏ์ ตั้งสืบสกุล

ครบเครื่องเรื่องจะพัฒนาสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image