ทุกข์สาหัสแม่-เมีย เปิดสถิติ ‘ความรุนแรงผู้หญิง’ พุ่ง ชี้โควิด-เหล้า ปัจจัยสำคัญ

ความรุนแรงในครอบครัว

ทุกข์สาหัสแม่-เมีย เปิดสถิติ ‘ความรุนแรงผู้หญิง’ พุ่ง ชี้โควิด-เหล้า ปัจจัยสำคัญ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม ที่ห้องนาคา ชั้น 2 เดอะฮอลล์ บางกอก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “แม่…ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย” สะท้อนปัญหาครอบครัวและความรุนแรงจากสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 เพื่อรณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2563 ซึ่งเปิดงานด้วยการแสดงละครสะท้อนสังคม ชุด “ชีวิตแม่ที่แบกรับและถูกทำร้าย” โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์

คลิปละครสะท้อนสังคม

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหภัณ รักษาการผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลสำรวจ ชี้ชัดว่าครึ่งปีแรก พ.ศ.2563 ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องงานที่ถูกเลิกจ้าง หรือการถูกลดชั่วโมง แต่ยังถูกกระทำความรุนแรงโดยมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ที่ยังเป็นต้นตอของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ ได้แก่ 1. ด้านสุขภาพ ทำลายภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า 2.ด้านอุบัติเหตุทางถนน ที่มากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล 3.ด้านเศรษฐกิจ เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาทต่อปี และ4.ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งต่อเด็กและผู้หญิง

Advertisement
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหภัณ

น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า จากการสำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัวของมูลนิธิฯ รอบครึ่งปี 2563 โดยการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 พบว่า มีการนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัวมากถึง 350 ข่าว ซึ่งเมื่อแบ่งตามประเภทความรุนแรง อันดับ 1 คือข่าวการฆ่ากันตาย คิดเป็นร้อยละ 57.4 ของข่าวความรุนแรงทั้งหมด รองลงมาคือมีเครื่องแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น ร้อยละ 21.2 ทำร้ายกัน ร้อยละ 14.6 ฆ่าตัวตาย ร้อยละ 10.9 ความรุนแรงทางเพศในครอบครัวร้อยละ 8.9 และตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร้อยละ 2.9 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข่าวความรุนแรงในครอบครัวของปี 2559 พบว่าสูงขึ้นถึง ร้อยละ 50 และสูงกว่าปี 2561 ร้อยละ 12

น.ส.จรีย์ กล่าวต่อว่า ในสถิติข่าวอันดับ 1 ฆ่ากันในครอบครัว พบว่า เป็นสามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว โดยมูลเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งหึงหวง ระแวงว่านอกใจ ความเครียด โมโหโดนขัดใจ ดื่มเหล้า ติดยาเสพติด รวมถึงมีอาการป่วย นอกจากนี้ยังพบข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัวสูงถึง 31 ข่าว และ 30 ข่าวเป็นการข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัว

จากสถิติที่กล่าวมาสะท้อนว่าผู้หญิงซึ่งเป็นทั้งแม่และภรรยาต้องแบกรับทั้งความคาดหวังของสังคมที่หล่อหลอมให้ดูแลครอบครัว ยังต้องรองรับอารมณ์สามีและถูกทำร้ายร่างกาย ฉะนั้นทางออกของปัญหาคือ ต้องรื้อสร้างวิธีคิดใหม่ โดย 1.ให้เรื่องครอบครัวเป็นของทั้งพ่อและแม่ มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่เลี้ยงลูก ทำงานบ้านด้วยกัน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 2.ภาครัฐประชาสัมพันธ์ช่องทางในการช่วยเหลือที่เป็นมิตร 3.ภาครัฐควรสร้างทางเลือกการมีอาชีพให้มากขึ้น ให้ผู้หญิงที่กำลังตกงานสามารถพึ่งตนเองได้ และ4.สังคมต้องไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว พบเห็นช่วยกันแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุได้ทันท่วงที

Advertisement
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image