เจาะลึก รายงาน กมธ. ‘ป้องกันข่มขืน-ล่วงละเมิดทางเพศ’ หลากหนทางแก้ที่ไม่ใช่แค่ ‘ฉีดให้ฝ่อ’

เจาะลึก รายงาน กมธ. ‘ป้องกันข่มขืน-ล่วงละเมิดทางเพศ’ หลากหนทางแก้ที่ไม่ใช่แค่ ‘ฉีดให้ฝ่อ’

ข่มขืน และการคุกคามทางเพศ นับเป็นปัญหาที่ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปี ก็ยังคงเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตกในสังคมไทย ไม่ว่าจะแก้กฎหมายกี่ฉบับ หรือจัดสัมมนาแนะแนวทางการทำงานเท่าใด สถิติคดีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ยังมีจำนวนมาก

และยังมีข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด ยิ่งในช่วงปลายปี 2562 ที่ปรากฏข่าวขึ้นจำนวนมาก สังคมเรียกร้องให้ ข่มขืน = ประหาร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาพผู้แทนราษฎร ขึ้นระดมสมอง ออกมาเป็นรายงานผลการศึกษา นำมาเปิดเผยในเวทีรับฟังความเห็น รวมพลังสู่ทางเลือก ทางรอดของทุกเพศสภาพ เจนเดอร์ โค โซลูชั่นส์ อีพี 3 : นักรัฐสภาสตรีขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศ จัดโดยสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ณ ศูนย์ประชาวายุภักษ์

รายงาน กมธ.ดังกล่าว ได้นำเข้าสภาเป็นที่เรียบร้อย สร้างความสนใจให้กับประชาชน ที่เสนอให้ “ฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อ” ในทุก 3 เดือน ลดฮอร์โมนหลังพ้นโทษ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาข่มขืมไม่ได้มีเพียง “การฉีดยาปรับฮอร์โมน” เท่านั้น ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาปลายเหตุอีกจำนวนมาก

เห็นพ้อง ปัญหาเกิดจาก “ทัศนคติ”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. ที่มาเป็นตัวแทนเปิดเผยถึงผลการศึกษาว่า รายงานผลการศึกษาของ กมธ.ชุดนี้ เห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยที่นำมาซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศ เกิดจากมุมมอง เจตคติ การมองว่ามีอำนาจเหนือกว่าของผู้กระทำ มากกว่าเรื่องการแต่งตัวอย่างไร หรือการเอาตัวไปที่เปลี่ยว ซึ่งการจะป้องกันก่อนเกิดเหตุที่ดี ก็คือการเสริมสร้างทัศนคติที่ดี

Advertisement

นอกจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะต้องเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแล้ว ก็ยังขอให้กระทรวงมหาดไทย ทำชุดข้อมูลเพื่อให้เข้าถึงแต่ละท้องถิ่นได้ดี และในกระบวนการสร้างความเข้าใจ ก็ควรจะเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย 0-8 ปี ให้เขาเรียนรู้เรื่องสิทธิในพื้นที่ส่วนตัว และไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น รวมไปถึงการปรับหลักสูตรเพศวิถีศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องปรับให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ มีทางเลือกใหม่ๆ อย่างเช่น การ์ดเกม ให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น

แนะปรับรูปแบบการทำงาน

ผลการศึกษา ยังพบว่าการดำเนินงานของภาครัฐในหลายส่วน ยังมีจุดอ่อน ณัฐวุฒิ เผยว่า เราเสนอให้มีแนวทางปฏิบัติในการหาข้อเท็จจริงของผู้ปฏิบัติงานให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ที่ผ่านมาขั้นตอนต่างๆ ทำให้เหยื่อเหมือนถูกกระทำซ้ำ เพราะต้องเล่าเรื่องราวนั้นๆ เป็นสิบครั้ง จึงควรมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน หลายครั้งรูปแบบการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุของเรายังไม่ทันต่อเหตุการณ์ อย่างเบอร์ 1300 ของ พม.ก็ไม่สามารถช่วยเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้ จึงควรมีช่องทางใหม่ๆ อย่างแอพพลิเคชั่นมือถือ ที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่ายกว่าเบอร์ฮอตไลน์

“แม้ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีสหวิชาชีพ ทำงานช่วยเหลือ แต่ศักยภาพของแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน บางกรณีเด็กต้องกลับไปอยู่สภาพสังคมเดิม ทั้งๆ ที่เขาไม่ต้องการ ผลการศึกษาพบว่าเด็กมัธยมถูกละเมิดเยอะ เด็กก็ไม่กล้าที่จะบอกครู นักจิตวิทยาแต่ละพื้นที่มีไม่เพียงพอ มีแค่ 25 จาก 200 กว่าเขต เราเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัด จึงเสนอให้ติดอาวุธครูแนะแนว ให้เด็กได้กล้าจะพูดมากขึ้น” ณัฐวุฒิเผย

ตีบท กฎหมาย กระทำชำเรา

พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ในฐานะรอง กมธ. ผู้จัดทำผลการศึกษา เผยว่า จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการปรับกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนเมื่อปี 2562 แก้ไขบทนิยาม ว่ากระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศ ของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับผู้บังคับใช้กฎหมายไม่น้อย เพราะไม่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป กฎหมายนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงจะข่มขืนผู้ชาย ทั้งที่มีกรณีครูผู้หญิงบังคับนักเรียนชายกระทำ

จึงเห็นควรให้ปรับแก้ 2 แนวทาง คือ ปรับบทกฎหมายเป็น การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใด ของผู้กระทำหรือของผู้อื่นล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือของผู้กระทำ หรือกลับไปใช้นิยามของปี 2550 ที่หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้อื่น เพื่อให้เข้ากับสังคมมากขึ้น

นอกจากนี้ พ.ต.อ.หญิงปวีณากล่าวว่า การคุกคามทางเพศนั้นยังไม่มีการระบุนิยามอย่างชัดเจน เป็นความผิดแบบลหุโทษ ต้องไปใช้กฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ประกอบ แต่ความเป็นจริง ผู้ถูกกระทำหลายคนถูกคุกคาม ตั้งแต่สายตาไปจนถึงการติดตาม สตอล์กเกอร์ มายืนยิ้มหน้าบ้านพัก จนต้องย้ายบ้านหนี หรือส่งข้อความคุกคามทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จึงเห็นว่าควรจะเพิ่มบทนิยามคำว่าคุกคามทางเพศ เพิ่มบทลงโทษให้มากกว่าลหุโทษ

พ.ต.อ.หญิงปวีณา

มาตรการ “ผู้กระทำ”

ในแง่ของการฟื้นฟูเยียวยานั้น ณัฐวุฒิกล่าวว่า เริ่มต้นจากกลุ่มของผู้กระทำ เราพบว่าราชทัณฑ์ไม่มีโปรแกรมประเมินว่า ผู้กระทำผิดในคดีเหล่านี้ มีอาการจิตเวชหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถออกรูปแบบการบำบัดก่อนปล่อยตัว นอกจากนี้ คณะ กมธ.มีการพิจารณาถึงการเก็บดีเอ็นเอ และการลงทะเบียนของผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตามการกระทำผิดซ้ำ

กับข้อสงสัย ที่เคยเป็นกรณีวิวาทะก่อนหน้านี้ เรื่องการฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อนั้น ณัฐวุฒิเผยว่า กมธ.ได้พิจารณาถึงกรณีการใช้ยาเพื่อปรับฮอร์โมนของผู้กระทำผิด โดยพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ใช้เป็นการลงโทษได้หรือไม่ และควรใช้กับทุกคนหรือเปล่า โดยเห็นว่าหากจะใช้ควรใช้ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นภัยต่อสังคม กระทำผิดซ้ำกับเด็ก มีความผิดปกติ และมีความเสี่ยงหากปล่อยตัว

นอกจากนี้ กมธ.ยังเสนอให้กลับไปพิจารณามาตรการเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนผู้อยู่ในการดูแล และยังพิจารณาถึงเรื่องเซ็กซ์ทอย จากที่หลายคนมองว่าจะช่วยลดการคุกคามทางเพศ ว่าไม่สามารถช่วยได้ อ้างอิงจากผลวิจัยต่างๆ

จุดอ่อน ผลการศึกษา

ด้วยเวลาที่ กมธ.ชุดนี้ใช้เวลาศึกษาเพียง 6 เดือน ณัฐวุฒิยอมรับว่า ยังตกหล่นในหลายประเด็น เช่น การเยียวยาครอบครัวของผู้ถูกกระทำ และยังไปไม่ถึงการเสนอแก้กฎหมายมาตราใดอย่างชัดเจน ซึ่งผลการศึกษาฉบับนี้ จะนำเข้ารายงานต่อรัฐสภา และหากสภาเห็นชอบกับข้อสังเกต ก็จะส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐจะนำไปทำต่อ ส่วนการแก้ไขกฎหมายต่างๆ นั้น ก็หวังว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะมองเป็นปัญหาเร่งด่วนที่นำไปปรับแก้ ยกร่างกฎหมายในอนาคต

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรานั้น เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโครงสร้างทางสังคม การจะแก้ไขต้องแก้ตั้งแต่โครงสร้างใหญ่ เช่น กระจายอำนาจให้แต่ละท้องที่ ที่รู้จักพื้นที่ดี ให้เขาได้ติดอาวุธ สอดส่องเรื่องนี้ รวมไปถึงปรับวิธีคิด มุมมอง ตั้งแต่ตัวเรา เพราะจากประสบการณ์การทำงาน เราพบว่า การแก้กฎหมาย ไม่เท่ากับการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และทัศนคติของคนในสังคมเอง” ณัฐวุฒิทิ้งท้าย

การแก้ปัญหาต้องแก้ให้รอบด้าน โดยเฉพาะต้นเหตุของปัญหาที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

ณัฐวุฒิ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image