รู้จัก ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ หากได้บังคับใช้ จะคุ้มครองคนไทยทุกคน

ขจัดการเลือกปฏิบัติ

รู้จัก ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ หากได้บังคับใช้ จะคุ้มครองคนไทยทุกคน

ท่ามกลางปัจจุบันที่มีกฎหมายว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว อาทิ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติในทุกๆ ด้าน

จึงเป็นที่มาของ “ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …” ซึ่งปัจจุบันจัดทำตัวร่างแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างในขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอเป็นกฎหมายภาคประชาชนเข้าในสภาผู้แทนราษฎร

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ หนึ่งในผู้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ เล่าถึงที่มาว่า เดิมศูนย์ทำงานเรียกร้องสิทธิให้กับผู้มีเชื้อเอชไอวี เราค้นพบว่าไม่เพียงผู้มีเชื้อเอชไอวีจะถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การสมัครงานของภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่ประกาศชัดเจนว่าไม่รับเข้าทำงาน เรายังพบคนกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน จากเหตุแห่งเพศ ความพิการ ชาติพันธุ์ เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย โดยพบเรื่องการศึกษาและการทำงาน เป็นประเด็นที่มีการเลือกปฏิบัติมากที่สุด

“หากกฎหมายนี้บังคับใช้ จะคุ้มครองทุกคน ไม่ว่าคนไทย คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ไม่ว่าเหตุการณ์เลือกปฏิบัติจะเกิดในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ กระทั่งภาคเอกชน กฎหมายก็จะตามไปคุ้มครอง”

Advertisement

เปิดร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ภาคประชาชน ภายในมี 62 มาตรา มีความมุ่งหมายให้เป็นกฎหมายกลางขจัดการเลือกปฏิบัติ ท่ามกลางปัจจุบันที่มีกฎหมายว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว อาทิ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่เป็นเพียงกฎหมายเฉพาะกลุ่ม

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

สุภัทราเล่าอีกว่า วันนี้กลุ่มคนพิการยังสะท้อนมาว่า แม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ จะระบุชัดเจนว่าคนพิการจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่วันนี้พวกเขาก็ยังเข้าถึงบริการสาธารณะยากลำบาก ไม่มีลิฟต์ขึ้นรถไฟฟ้า ไม่มีการจ้างงานคนพิการอย่างแท้จริง การเข้าถึงบริการสุขภาพก็ยากลำบาก ขณะที่ในความเป็นมนุษย์ไม่ได้มีแค่มิติเดียว แต่ยังเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ บางคนอาจถูกเลือกปฏิบัติมากกว่า 1 มิติ เช่น เป็นเด็ก เป็นผู้หญิง เป็นคนพิการ เป็นคนชาติพันธุ์

ฉะนั้น คนทุกกลุ่มเห็นควรต้องมีกฎหมายกลาง ที่มาขจัดการเลือกปฏิบัติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้จึงระบุชัดเจนถึงการ “ห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ การติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ การทำงาน การศึกษา อบรม ศาสนาหรือความเชื่อ หรือความคิดเห็นทางการเมือง”

Advertisement

เพื่อไม่ให้กฎหมายเป็นเพียงกระดาษ ร่าง พ.ร.บ.ฯ จึงกำหนดให้มี 2 คณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการขจัดการเลือกปฏิบัติ เริ่มที่ คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยมี รมว.ยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่คณะกรรมการระดับนโยบาย และคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.) รับบทบาทหน้าที่กึ่งศาล คอยพิจารณาเรื่องร้องเรียนการเลือกปฏิบัติ หรือสามารถหยิบยกเหตุการณ์มาพิจารณาเองได้ แตกต่างจากคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ (วลพ.) ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ ที่ต้องให้มีผู้มาร้องก่อน เพราะไม่มีอำนาจไต่สวนเอง โดย คชป.สามารถออกคำสั่งระงับ ให้แก้ไข ชดเชย เยียวยา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำสอง

เธอยกกรณีกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจถูกองค์กรกีดกันและตีรายชื่อตกไปตอนยื่นสมัครงานว่า คิดว่าคงไม่มีองค์กรไหนที่จะอ้างเหตุผลนี้โดยตรง อาจไปอ้างถึงคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปพิสูจน์กันว่า ผลสุดท้ายเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และหากยังไม่พอใจผลการพิจารณา ก็สามารถร้องศาลได้

ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … เกิน 1 หมื่นกว่ารายชื่อแล้ว แม้จะครบ 1 หมื่นรายชื่อที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่สุภัทรายังอยากให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อสนับสนุนกันให้มาก เพื่อตอกย้ำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าเป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ

ก่อนคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image