ตามกระแสธุรกิจ ‘ยุคนิวนอร์มอล’ สร้างภูมิคุ้มกัน ‘ผู้ประกอบการหญิง’

ตามกระแสธุรกิจ ‘ยุคนิวนอร์มอล’ สร้างภูมิคุ้มกัน ‘ผู้ประกอบการหญิง’

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็น “ฝันร้าย” ของผู้ประกอบการทุกประเภท เพราะทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากพิษของโรคระบาด ทำให้แนวทางการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปจากเดิม จนเกิดเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภค ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นที่จะต้องวิ่งให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย

และเพื่อส่งเสริมความรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน โดยการเพิ่มทักษะและโอกาสในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชนสตรีที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีรายได้ในยุคนิว นอร์มอล เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนแห่งประเทศไทย (AWEN Thailand) นำโดย คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีชุมชนในยุควิถีชีวิตใหม่ (โควิด-19)” ซึ่งมีหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การปรับแนวทางและกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ยุคโควิด 19 การปรับโมเดลธุรกิจสู่การขายและการตลาดออนไลน์ และการสร้างวินัยทางการออมเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพบพี่เลี้ยงทางธุรกิจร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ ห้องประชุม เอ็มเอสซี ฮอลล์ โรงแรมรามาดา พลาซ่า แม่น้ำริเวอร์ไซด์ โดยมีผู้ประกอบการสตรีในชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรม เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ในช่วงล็อกดาวน์ ให้ทุกคนอยู่บ้าน และการเว้นระยะห่างทางสังคม สตรีซึ่งเดิมทีมีภาระในบ้านมากมายอยู่แล้ว ก็ต้องดูแลคนในครอบครัวมากขึ้นกว่าปกติ อาจกล่าวได้ว่าสตรีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงความเครียดที่ต้องอยู่บ้านนานๆ ไปทำงานไม่ได้ ครอบครัวขาดรายได้ อยู่ในครอบครัวที่มีผู้พึ่งพิง (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และดูแลเด็กๆ) และต้องรับภาระค่าใช้จ่าย รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว หลายครอบครัวประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือขาดรายได้จากการถูกให้ออกจากงาน

Advertisement

ทว่าในทางกลับกันมาตรการล็อกดาวน์ ก็มีข้อดีอยู่คือบางครอบครัวพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนรายได้ให้ครอบครัว โดยใช้ทักษะความสามารถที่มีอยู่แล้ว เช่น ทำอาหาร ขนม ทำสินค้าผลิตภัณฑ์ด้วยมือ ขายสินค้าทางออนไลน์ โดยสตรีและลูกช่วยกันผู้ผลิตสินค้า และคู่หรือสามีรับผิดชอบการขนส่งไปถึงมือลูกค้า เป็นการเพิ่มรายได้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ครอบครัว

กลายเป็นว่าอาชีพเสริมที่ทำช่วงโควิด กลายเป็นอาชีพหลักที่มีรายได้มากกว่างานประจำ และค้าขายออนไลน์จนสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ครอบครัวอื่นๆ และชุมชน และก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ๆ มากมายด้วยฝีมือคนไทย การเรียนรู้ทักษะในยุคนิว นอร์มอล ทั้งการวางแผนธุรกิจ การตลาด การเงิน ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และส่งต่อความรู้ให้สมาชิกกลุ่มอาชีพในชุมชนได้

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดพม.(ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว)
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดพม.(ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว)

Advertisement

นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ที่ปรึกษาสมาพันธ์ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการสตรีว่า จะประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ 1.คุณสมบัติของสตรี ประกอบด้วย ความเข้มแข็ง, เคารพตัวเอง, พึ่งตัวเองได้, ตระหนักในความเป็นแม่, มีบทบาทต่อสังคมและประเทศ และสนใจในกิจกรรมของสตรีระหว่างประเทศ 2.การทำงานร่วมกันของคนต่างวัย เชื่อมั่นว่าคนต่างวัยสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยความรู้ความสามารถเฉพาะตัว

ยกตัวอย่าง คน 3 วัย ได้แก่ วัยวัฒนา คือผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง, วัยพัฒนา คือผู้ที่กำลังทำงาน เป็นคลังปัญญา และวัยก้าวหน้า คือผู้เริ่มทำงาน ซึ่งมีความสันทัดด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การสื่อสาร ถือเป็นคลังอนาคต

อย่างไรก็ดี ผู้อาวุโสต้องมีเมตตาและให้อภัย ในขณะเดียวกันผู้เยาว์ก็ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพและกตัญญู ประการที่ 3.ใจที่พร้อมสู้ นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะใจที่คิดสู้จะทำให้มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นยืนหยัดมีวินัยและความรับผิดชอบพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้คนรอบตัว

ดร.อารดา มหามิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ม.หอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า จากผลสำรวจพบว่าโควิดสร้างความกังวลให้คนไทยหันมาสร้างวินัยทางการเงินมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยเปลี่ยน ซื้อจากหน้าร้านน้อยลง สวนทางกับอัตราการซื้อของออนไลน์ที่พุ่งสูงขึ้นถึง 70% ในต่างจังหวัด ชี้ให้เห็นว่าตลาดออนไลน์กำลังมาแรงและโควิดก็เป็นตัวเร่งให้เข้าสู่โลกดิจิทัลไวขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวรับโอกาสนี้ เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งความไม่แน่นอน นอกจากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแล้ว การแข่งขันก็ยังเปลี่ยน คนนอกตลาดเข้ามาจอยในตลาดได้ เช่น ร้านอาหารที่อยู่บ้านทำก็เปิดขายดิลิเวอรีได้

ฉะนั้นจึงอย่ายึดติดกับช่องทางเดิมๆ ให้เพิ่มช่องทางการขายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Omni Channel สุดท้ายเทคโนโลยีก็เปลี่ยน ผู้ประกอบการเข้าถึงธุรกิจได้ง่ายผ่านมือถือ เปิดทำการได้ 24 ชั่วโมง ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำการตลาดช่วยได้ เพราะฉะนั้นให้ทำความเข้าใจตัวเอง เรียนรู้ และรีบปรับโมเดลธุรกิจตอบรับการเปลี่ยนแปลง

“อย่าทำตัวเป็นกำแพงแต่ให้เป็นกังหันที่พร้อมเปลี่ยนแปลง” ดร.อารดากล่าว

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

ดร.อารดา มหามิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ม.หอการค้าไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image