ชีวิตยิ่งกว่าละคร ถูกข่มขืน แต่บอกไม่ได้!

ชีวิตยิ่งกว่าละคร ถูกข่มขืน แต่บอกไม่ได้!

แม้สังคมจะเริ่มตระหนักถึงภัยข่มขืน พยายามเรียกร้องให้ทางกฎหมายเพิ่มการลงโทษผู้กระทำอย่างรุนแรง เพื่อจะปรามคนที่คิดจะกระทำไม่ให้กระทำ ท่ามกลางข้อเรียกร้องต่างๆ สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศก็ยังเกิดขึ้นตลอด สร้างบาดแผลทางจิตใจจนยากจะลืมเลือน

เหยื่อบางคนมีการศึกษาดี ฐานะดี อาจนำพาตัวเองให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้นได้ แต่หลายคนไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซ้ำร้ายยังถูกเหนี่ยวรั้งไว้ด้วย “ความพิการ” ของร่างกาย ทำให้ตัวเองและครอบครัว ต้องจมอยู่กับความทุกข์แสนสาหัสตลอดกาล

เป็นเรื่องราวน่าสนใจถ่ายทอดในงานเสวนา “ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ” และเปิดตัวหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ เดอะฮอลล์ กรุงเทพ

Advertisement
การแสดงละครสะท้อนปัญหา
การแสดงละครสะท้อนปัญหา

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าว่า การล่วงละเมิดทางเพศในผู้พิการ นับวันจะเป็นปัญหาที่จะเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นคนพิการทางสติปัญญา หูหนวก ตาบอด พิการซ้ำซ้อน กระทั่งติดเตียง ก็ถูกข่มขืนได้ โดยจากการช่วยเหลือของมูลนิธิ และรวบรวมสถิติจากข่าว พบว่ามีผู้หญิงพิการถูกข่มขืนเฉลี่ย 3-4 คนต่อปี ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อเลี้ยง พี่ชาย เพื่อนบ้าน โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และข้อจำกัดของเหยื่อที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้กระทำ

“เพราะความพิการทำให้พวกเธอมีข้อจำกัดมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะการสื่อสาร บางรายพิการซ้ำซ้อน หูหนวก ตาบอด หากอยากร้องขอความช่วยเหลือหรือไปแจ้งความ จะต้องมีล่ามช่วยสื่อสาร ต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ไม่มีหลักฐานที่มากพอ ที่สำคัญคือ ความยากจน เราพบว่าหลายเคสเหยื่อไม่มีเงินสู้คดี นำไปสู่การไกล่เกลี่ย หรือคดีเงียบมากขึ้น บางเคสกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอุปสรรคเสียเอง อย่างเคสล่าสุดที่ช่วยเหยื่อจาก จ.พิษณุโลก คดีถูกเตะถ่วงจนใกล้หมดอายุความ”

จะเด็จ เชาว์วิไล

ยังมีเรื่องราวของผู้หญิงพิการถูกข่มขืนอีก 15 เคส บอกเล่าผ่านหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้”

Advertisement

อรสม สุทธิสาคร ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552 ผู้เขียน เล่าว่า จริงๆ ผู้หญิงถูกข่มขืน ล้วนต้องเผชิญกับปัญหาที่สาหัสอยู่แล้ว แต่เมื่อเพิ่มความพิการเข้าไป ปัญหาที่เผชิญก็ยิ่งหนักหน่วงกว่า ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเหยื่อและครอบครัว พบว่าการถูกข่มขืนเป็นเพียงประตูบานแรกนำไปสู่ปัญหาต่างๆ อย่างเคสเด็กหญิงพิการทางสติปัญญาถูกข่มขืน กลายเป็นว่าเหยื่อยิ่งเป็นภาระให้ผู้ปกครอง ออกไปทำมาหากินไม่ได้ ต้องเฝ้าอยู่บ้านเพราะกลัวถูกข่มขืนซ้ำ จึงได้แต่พึ่งพาเงินจากเบี้ยคนพิการและผู้สูงอายุ รวมๆ กันได้ 2-3 พันบาทต่อเดือน อีกรายผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว หลังเกิดเหตุการณ์ก็ทำให้ครอบครัวแตกแยก อีกรายเป็นเหยื่อชาติพันธุ์ หลังถูกข่มขืนครอบครัวต้องย้ายออกจากชุมชน เพราะถูกมองเป็นตัวเสนียดจัญไร เนื่องจากท้องไม่มีพ่อ

แต่ที่สะเทือนใจที่สุดคือ เคสยาย 84 ปี พิการนอนติดเตียง ถูกเพื่อนบ้านอายุ 89 ปี ข่มขืน ยายต้องติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตใน 2 สัปดาห์ต่อมา เคสนี้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องยอมความ เพราะลูกสาวทนความรู้สึกที่ต้องพูดซ้ำไปซ้ำมาในกระบวนการยุติธรรมไม่ไหว

“สิ่งที่เจอเหมือนกันในทุกเคสคือ พวกเธอและครอบครัวต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว เป็นความทุกข์ที่ไม่มีที่พึ่งพิง และดิ้นรนต่อสู้ตามลำพัง เพื่อต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ จะไปพึ่งสวัสดิการและบริการของรัฐ ก็ช่วยได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง จะพึ่งกระบวนการยุติธรรม ก็เข้าไม่ถึง เข้าไปก็ไม่มีพลังพอ สุดท้ายได้แค่ประนีประนอม”

อรสม สุทธิสาคร

วงเสวนายังคุ้ยปัญหาดังกล่าว พบอีกสาเหตุคือ การที่คนพิการเข้าไม่ถึงการศึกษา เพราะเติบโตอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรคือการสัมผัสไม่ดี จนนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ วัยรุ่นพิการทางสมองบางคน เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝนและรับการศึกษา ก็อาจแสดงออกตามธรรมชาติ อาจทำให้ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กให้ท่า สมยอมเอง ฉะนั้นก็ต้องเข้าใจและไม่ฉวยโอกาส

ขณะที่ทางออกของปัญหา หลายคนแสดงความเห็นด้วยกับการมี “เดย์แคร์” ในชุมชน เป็นเดย์แคร์ที่ขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข เข้าไปอบรมให้ความรู้ เพื่อให้พ่อแม่สามารถฝากลูก ฝากคนพิการ ให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องปลอดภัยระหว่างออกไปทำงานได้ ซึ่งเป็นที่น่าโชคดีว่าภาครัฐให้การสนับสนุนข้อเสนอนี้

วิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. เล่าว่า ในส่วนกระทรวง พม. เรามีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งให้ครัวเรือนและชุมชนทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคมได้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การกระตุ้นให้ท้องถิ่นจัดตั้ง “เดย์แคร์ ไนท์แคร์” ในชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ที่อยากให้มีบริการเพื่อดูแลบุตรหลาน และคนพิการ ในช่วงที่ผู้ปกครองไปทำงานหรือไปทำธุระได้ รวมถึงนโยบายการสร้างพื้นที่ชุมชนปลอดภัย ที่ผู้นำชุมชนจะเข้าใจปัญหาดังกล่าว มีการออกแบบระบบเฝ้าระวัง ระบบฟื้นฟู กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และติดตามการช่วยเหลือ ซึ่ง พม.เคยนำร่องในชุมชนพื้นที่ “จตุจักร บางกอกใหญ่ คลองเตย” ประสบความสำเร็จ มาถอดบทเรียนขยายผลต่อไป

รองอธิบดี สค.รับปากจะนำสภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของผู้หญิงพิการถูกข่มขืน ไปสู่การขับเคลื่อนแก้ปัญหา ก่อนฝากช่องทางให้คนพิการและครอบครัว หากถูกละเมิดทางเพศ ให้โทรแจ้งสายด่วนคนพิการ 1479 ของกรม พก. หรือสายด่วนช่วยเหลือสังคม 1300 ของกระทรวง พม. เพื่อไม่เผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว

วิจิตา รชตะนันทิกุล
หนังสือบาดแผลของดอกไม้
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image