เด็กถูกละเมิดทางเพศ หนูคิดไปเอง หรือผู้ใหญ่คิดผิดมาตลอด!!

เด็กถูกละเมิดทางเพศ หนูคิดไปเอง หรือผู้ใหญ่คิดผิดมาตลอด!!

“หลังจากถูกครูคนนึงคุกคามทางเพศ หนูก็พยายามติดต่อเพื่อเข้าหาผู้อำนวยการโรงเรียนผ่านครูที่สนิทใจกัน คำตอบที่ได้คือ ผู้อำนวยการมีงานค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น อยากให้ลองนัดเพื่อมาขอโทษกัน แบบเป็นปัญหาส่วนตัวก่อนดีไหม จะได้ไม่ต้องจะต้องเกิดความเสียหายเกินไปกับตัวเราและเขา และยังพูดทำนองว่าครูคนนั้นจะกล้าทำได้อย่างไร เขาเพิ่งเคยบวชเกือบจะได้เป็นบาทหลวงอยู่แล้ว (เงียบหายใจสักพัก) หนูไม่รู้จะพูดยังไงต่อเลย ในใจตอนนั้นเริ่มคิดว่า หรือเราคิดไปเองวะ”

คำพูดติดตลกจากประสบการณ์ที่ไม่ตลกของ นลินรัตน์ ตู้ทับทิม หรือ หมวยเอิน เยาวชนที่เคยถูกครูสมัยมัธยมคุกคามทางเพศ กำลังเป็นที่จับตาของสังคมหลังไปชูป้าย “หนูถูกครูทำอนาจาร โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” ในการชุมนุมของคณะราษฎร มาเปิดใจในการเสวนา “ไขปัญหา : เมื่อเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

หมวยเอินถ่ายทอดประสบการณ์ไร้เดียงสาในวัยมัธยม ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอรู้จักและสนิทสนมกับครูผู้ชายคนหนึ่งที่มาเล่นด้วย มาจับเส้นผม และพยายามเข้าใกล้ ในใจเธอไม่คิดลึกอะไร เพราะเห็นว่านักเรียนหญิงคนอื่นๆ ก็ประสบเช่นกัน จึงไม่ได้ระวังตัว จนนำไปสู่เหตุการณ์อันตราย ที่ครูขับรถไปส่งบ้าน ครั้งแรกถูกลูบขา ครั้งที่ 2 ตั้งใจขับรถมอเตอร์ไซค์และเบรกให้หน้าอกไปชนหลัง กระทั่งครั้งที่ 3 ที่ตามเข้าไปห้องน้ำ เข้ามาด้านหลังพยายามล้วงมือเข้ามาในเสื้อ จะมาจับหน้าอก ตอนนั้นเธอได้แต่ร้องไห้ และพยายามพาตัวเองออกมาจากอันตรายนั้น

Advertisement

นลินรัตน์ เล่าอีกว่า สิ่งที่หนูเผชิญมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ที่เป็นปัญหาระหว่างบุคคล แต่มันเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่หลังจากโพสต์เรียกร้องไป พบว่ามีนักเรียนกว่า 50 คน อินบ็อกซ์เข้ามาบอกว่าโดนเหมือนกัน แต่ละคนก็มาบอกคนละชื่อ มีทั้งครูคนเดียวกัน ครูคนอื่น ในลักษณะครูผู้ชายทำกับเด็กผู้หญิง ครูผู้ชายทำกับเด็กผู้ชาย ผู้ทรงศีลทำกับเด็กผู้ชาย ไม่เพียงในโรงเรียนเก่า ยังมีนักเรียนจากโรงเรียนอื่นจากหลายภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่โพสต์เข้ามาแจ้งว่าโดนเหมือนกัน ทำยังไงดี ไม่มีหลักฐาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

“มีน้องนักเรียนคนนึงแจ้งมาว่า หนูพยายามบอกพ่อกับแม่หลายครั้งแล้ว ว่าครูพยายามคุกคามทางเพศ โดยทำให้สอบตก เพื่อไปสอบซ่อมกับครูสองต่อสอง จะได้ลูบไล้ได้ แต่สุดท้ายกลับถูกพ่อแม่บอกว่า คิดไปเองหรือเปล่า ทำไมไม่เรียนให้เก่ง ทั้งที่น้องก็เรียนเก่งเป็นปกติอยู่แล้ว”

Advertisement

เธออยากเสนอให้มีการสร้างชุดความรู้สิทธิทางเพศ บรรจุในวิชาหน้าที่พลเมือง เชื่อว่าจะสามารถป้องกันเด็กไม่ให้ถูกใครกระทำ ขณะเดียวกันไม่ให้ไปกระทำใครได้ และฝากให้โรงเรียนทุกโรงเรียนไม่ว่าของรัฐบาล และเอกชน ควรมีกลไกทำงานร่วมกัน หากมีปัญหาสามารถร้องเรียนได้ และจะต้องนำไปสู่การสอบสวน เยียวยาผู้เสียหายอย่างแท้จริง เพราะกลไกในปัจจุบัน หากโยนให้นักเรียนดำเนินการเองหมด ที่สุดเรื่องก็เจรจาไกล่เกลี่ยถูกกลบไป

นลินรัตน์ ตู้ทับทิม

 

ขณะที่ ธารารัตน์ ปัญญา จากเหยื่อละเมิดทางเพศ สู่นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี เล่าว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ ก็พยายามสร้างความรับรู้แก่สังคมมาตลอด และไม่ให้เพิกเฉย จนตอนนี้สังคมเริ่มมีทัศนคติต่อเรื่องนี้ดีขึ้นมาก แต่ทั้งนี้ ต่อให้เหยื่อออกมาพูดแค่ไหน หากทุกองคาพยพไม่ขยับก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องคุ้มครองพลเมือง ตั้งแต่ไปแจ้งความดำเนินคดี พาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล และเยียวยา ไม่ใช่ผลักเป็นภาระเหยื่อต้องดำเนินการเองอย่างในปัจจุบัน

ธารารัตน์ ปัญญา

ด้าน ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มองว่า เพราะสังคมไทยชอบบอกว่าเด็กเป็นเสมือนผ้าขาว มองว่าเด็กดีควรเป็นเด็กที่ไร้เดียงสา โดยเฉพาะเรื่องเพศ เราจึงไม่ยอมพูดความจริงกันว่าทุกวันนี้ภัยทางเพศมีอยู่รอบตัวเด็ก ครอบครัวและโรงเรียนก็ไม่บอกไม่สอนให้เด็กเรียนรู้และมีทักษะ ในการป้องกันตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เอาแต่พูดลอยๆ ว่าเด็กผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว การพูดเพียงเท่านี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กมีทักษะป้องกันตัว หรือรับมือกับอันตรายทางเพศได้

“ที่ผ่านมาเรามักสอนเด็กว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องกตัญญูรู้คุณ ยิ่งเป็นญาติผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ยิ่งต้องเคารพ เราไม่สอนให้เด็กรู้จักแยกแยะระหว่างผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ กับผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต แสวงหาประโยชน์ ละเมิดสิทธิ หรือทำร้ายเด็ก พอวัฒนธรรมที่กดทับควบคุมเรื่องเพศของเด็ก กับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันมาเจอกัน ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือโรงเรียน มันก็มีโอกาสที่เด็กจะถูกละเมิดทางเพศได้มาก และเมื่อเกิดเรื่อง เด็กก็มักไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกใคร เพราะสิ่งที่เขาเจอมันขัดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกสอนมา และคนในสังคมบางกลุ่มจะหันมาประณามเด็กว่า โกหกหรือใจแตก ถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังอยู่ในสังคม ที่ยอมรับให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้โดยปริยาย”

ดร.วราภรณ์ ยังมองสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2564 ว่า ขณะนี้ที่มีคนรุ่นใหม่หลายคน ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ถูกคุกคามและละเมิดทางเพศ เชื่อว่าเป็นโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้และแก้ไข ปฏิกิริยาในโซเชียลมีเดียก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยตั้งคำถามเหยื่อว่าทำยังไงให้ถูกกระทำ เพื่อตีตราและโทษเหยื่อ ตอนนี้เริ่มมีการตั้งคำถามกลับต่อความคิดที่ไม่ถูกต้องนี้มากขึ้น ปี 2564 จึงเป็นโอกาสที่ภาคประชาสังคมจะทำงานร่วมกับผู้เสียหาย ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ต้องมาร่วมรับรู้กระแสและเปลี่ยนแปลง

ร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพียงปรับความคิด

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image