พช. ปลื้ม ‘ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ จุดประกายการพัฒนาผ้าไทยสู่สากล

พช. ปลื้ม ‘ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ จุดประกายการพัฒนาผ้าไทยสู่สากล

วันที่ 23 มกราคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระกรุณาประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่ ชื่อลาย ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน และประทานอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทานต่อไป โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับสนองพระกรุณาธิคุณ มอบแบบลาย ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไปสู่กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งถือเอาฤกษ์มงคลในวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นำความปลาบปลื้มมาสู่เหล่าข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่ายกลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ที่ได้รับโอกาสอันพิเศษเช่นนี้

ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีพระราชประสงค์ให้ ศิลปิน ช่างทอผ้าทุกภูมิภาค ที่รับพระกรุณานำลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไปเป็นต้นแบบ หรือแบบฝึกหัดในการรังสรรค์ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิปัญญาของทุกภูมิภาค ดึงอัตลักษณ์ศิลปะชุมชน กระตุ้นช่างฝีมือท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ โดยมีผ้าไทยประจำถิ่นเป็นสื่อนำ เพื่อคงคุณค่าแห่งภูมิปัญญา ควบคู่ไปกับการประยุกต์พัฒนาต่อยอดได้อย่างสมบูรณ์ ให้ผ้าไทยมีชีวิตชีวาอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป

โดยความคืบหน้าในขณะนี้ทราบว่ามีกลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มผู้ทอผ้าราว 1,022 กลุ่ม ใน 74 จังหวัด ทั่วทุกภาค ได้รับมอบลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งต่างมีความชื่นชมในพระปรีชาญาณของพระองค์ และได้ลงมือทุ่มเทตั้งใจในการถักทอด้วยฝีมืออันประณีต ด้วยทุกภาคต่างมีผ้าตามแบบฉบับเฉพาะถิ่นอันขึ้นชื่อ เช่น ผ้ามัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวน สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามกรรมวิธีการประดิษฐ์ลวดลายให้เกิดบนผืนผ้าด้วยการใช้เชือกมัดเส้นไหมหรือฝ้ายส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีเวลาย้อมเป็นเปราะหลังจากการย้อมแล้วเมื่อตัดเส้นเชือกที่มัดออกจึง เกิดลวดลายตามต้องการ โดยมีการพัฒนาต่อยอดจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นอย่างกลุ่มทอผ้าย้อมคราม บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร จุดเด่นสำคัญคือการการนำวัตถุดิบจำพวกฝ้ายมากรอเป็นด้าย แล้วนำมาเรียงเพื่อแกะลายมัดหมี่บนผืนผ้า และนำมาย้อมครามด้วยสีธรรมชาติ ใบคราม ขี้เถ้า และเปลือกไม้ ใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน จนได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดสกลนคร ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของพระวินิจฉัยในการออกแบบลายผ้า ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

Advertisement

ผ้ายกดอก ที่ทุกผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว ทอยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ซึ่งเทคนิคในการทอยกให้เกิดลวดลายนี้เรียกว่า เทคนิคการยกดอก โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนโดยรูปแบบของลวดลายผ้ายกลำพูน มีลวดลายที่หลากหลายผสมผสานกัน เอกลักษณ์คือลายดอกพิกุลหรือดอกแก้วเป็นลวดลายผ้าโบราณ

ผ้าขิด ที่ทอขึ้นและสร้างลายด้วยวิธีการที่เรียกว่า ขิด หรือ สะกิด แพร่หลายทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีการทอผ้าขิดมากที่สุด ทางจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสระเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ กรรมวิธีที่ต้องมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่นๆ เพราะทอยาก ด้วยการงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อสร้างลวดลาย เพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเหมือนการจก แต่ลายขิดทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าโดยใช้ไม้แผ่นบางๆ เรียกว่า ไม้ค้ำ สอดเข้าไปในเส้นด้ายยืนเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่างๆ เห็นจากทั้งด้านหน้าและหลังของผืนผ้า ผ้าขิดจึงมีลักษณะพิเศษที่ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติ ลายรูปสัตว์ต่างๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้ ลายเหล่านี้มีมากมายสะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น

Advertisement

ผ้าปัก ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าชนเผ่า มีทั้งการปัก การเย็บ และการเขียนเทียน โดยเฉพาะผ้าปักม้งทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายทอมือ และ ผ้าใยกัญชง เทคนิคที่ใช้ในการปักผ้าม้งโดยหลักจะมี 2 แบบคือ แบบปักเป็นกากบาท และอีกแบบหนึ่งคือ การปักแบบเย็บปะติด เอกลักษณ์ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าของชาวเผ่าม้งมีหลากหลายลักษณะ ทั้งลวดลายดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ลวดลายที่ถูกสร้างสรรค์จากจินตนาการเลียนแบบมาจากธรรมชาติ วิถีชีวิต ปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย

ผ้าบาติก ถือเป็นหัตถศิลป์ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของภาคใต้ มีชื่อเสียงในหลายจังหวัดทางจังหวัดยะลา ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ภูเก็ตโดยการใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ความโดดเด่นของผ้าบาติกจึงอยู่ที่การใช้สี และลวดลายที่คมชัดของภาพ ผ้าบาติกจึงเป็นจิตรกรรมที่สามารถบอกเล่าทั้งถิ่นที่มา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ธรรมชาติ ไปจนถึงเอกลักษณ์ของแหล่งผลิตนั้นเอง

จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงสุดยอดภูมิปัญญาที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยพลังฝีมือของพี่น้องกลุ่มทอผ้าไทย ในวันนี้จึงเริ่มเห็นผลงานจากความตั้งใจที่เรียกได้ว่าหากเสร็จสมบูรณ์ย่อมเป็นผลงานที่มีคุณค่าอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น ผ้าปัก กลุ่มผ้าปักชนเผ่าม้ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มปักลายพระราชทานและคิดต่อยอดโดยจะนำลายผ้าปักของเผ่าม้งมาประดับ, กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี ใช้กรรมวิธีการทอแบบผสมผสาน ไหม และ ฝ้าย, กลุ่มทอผ้าบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา ทอเป็นผ้าสีส้มเป็นสีประจำพระองค์และเป็นสีประจำจังหวัดโดยใช้สีธรรมชาติจากต้นคำแสดตัว S สิบแถวเป็นผ้าไหมมัดหมี่ตัวเชิงจะทำเป็นผ้าขิดเก็บตะกอแบบผู้ดีอีสาน

หรือการใช้เทคนิคสร้างสรรค์บนผืนผ้าบาติก โดย ครูสิริชัย จันทร์ส่องแสง หรือครูชัย ร้านชัยบาติก ซึ่งเป็นผู้ผลิตผ้าบาติกรายแรกของจังหวัดภูเก็ต ที่แม้ว่าเอกลักษณ์ของ ผ้าบาติก หรือ ผ้าปาเต๊ะ จะไม่ใช่การถักทอ แต่ก็อยู่ที่การเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียนแล้วจึงนำไปย้อมแต่งแต้มสี โดยเป็นเรื่องน่ายินดีที่ครูชัย ได้ใช้ภูมิปัญญาในการริเริ่มแกะลายต้นแบบจาก ลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งได้เตรียมความพร้อมเผยแพร่ให้กลุ่มต่างๆ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการไปผลิตเป็นผ้าบาติก ด้วยความยินดีไม่หวงห้าม เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตต่อไป

อธิบดีพช. กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ผ้าบาติกจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น กลุ่มฅญาบาติก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ได้นำผ้าไหมมาเขียนลวดลายเป็น รูปตัว S ด้วยเทคนิคการใช้กาวกั้นเทียนเป็นรูปร่าง และหลังจากนั้นนำน้ำเทียนมาเขียนตามแบบร่าง โดยผ้าไหมที่ใช้มีขนาด 2 หลา แล้วนำผ้ามาย้อมเป็นสีเขียวใบตองอ่อน ตามเทรนด์ความฝันแห่งวันวาน ในหนังสือ (THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING / SUMMER) เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงนิมิตหมายอันดีจากความสามารถสร้างสรรค์เรียงร้อยพัฒนาต่อยอดในกระบวนวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น สมดังพระดำริของพระองค์ ที่ว่า ผ้าไทยใส่ให้สนุก คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมกระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส

พช. มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในการสนองงานตามพระดำริของพระองค์ โดยมีแผนในการดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และได้ตั้งคณะทำงานติดตามผลการดำเนินงาน ผ้าไทยใส่ให้สนุก ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 28 มกราคม 2563 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และดำเนินการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป

ลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทยทุกคน และประทานอนุญาตให้คนไทยทุกคนสามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ หรือภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ชุมชนได้ แม้ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทานตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้จัดขึ้น อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของการจัดพิธีที่ต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด และการเชิญมารับมอบอาจไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th หรือทาง Facebook กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image