ทะเบียนสมรสไม่ใช่แค่กระดาษ เปิดช่องกฎหมายเอาผิด เมื่อ ‘สามี’ มี ‘เมียน้อย’

ทะเบียนสมรส ไม่ใช่แค่เพียงกระดาษ

ทะเบียนสมรส ไม่ใช่แค่กระดาษ เปิดช่องกฎหมายเอาผิด เมื่อ ‘สามี’ มี ‘เมียน้อย’

ทะเบียนสมรส – จากกรณีข่าวสิบตำรวจเอกคนหนึ่งเข้าพิธีวิวาห์กับผู้หญิงอีกคน แล้วเมียหลวงพร้อมแม่สามีบุกไปโชว์ทะเบียนสมรสที่จดถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนจะเกิดการฟ้องร้อง กระทั่งล่าสุดศาลได้ตัดสินให้เมียน้อยจ่ายเงินค่าทดแทน จำนวน 200,000 บาท แก่เมียหลวง

เป็นที่ฮือฮาในสังคมไทยไม่น้อย ทะเบียนสมรส ไม่ใช่แค่กระดาษใบหนึ่ง และ “เมียหลวง” ก็สามารถลุกขึ้นมาปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองได้เช่นกัน

สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งช่วยเหลือผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในทุกเรื่อง ทั้งบริการด้านคำปรึกษาฟรี จัดหาทนายฟรี อย่างเรื่องสามีมีเมียน้อย ก็สามารถให้คำปรึกษาและจัดหาทนายฟ้องมานับไม่ถ้วน

นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เล่าว่า สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นสิทธิของภรรยาก็ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะการจัดการสินสมรส การรับสิทธิและสวัสดิการในฐานะคู่สมรส

Advertisement

แต่หากวันใดมีบุคคลที่สามมาแย่งสินสมรส หรือพูดง่ายๆ คือ เมียน้อยทั้งหลาย หากพบว่าได้อยู่กินกับสามีอย่างเปิดเผย มีหลักฐานว่าสามีได้จ่ายค่าเลี้ยงดูเขา เมียหลวงก็สามารถยื่นฟ้องเรียกค่าทดแทนบุคคลที่สามที่มาแย่งสินสมรสได้เลย หรือจะฟ้องสามีเพื่อนำไปสู่การหย่าร้าง หรือขอแบ่งสินสมรส หรือขอค่าทดแทนก็ได้

“เรื่องนี้มีเข้ามาที่สมาคมทุกวัน เมื่อขอความช่วยเหลือมาแล้ว เราก็จะเริ่มสืบว่าเป็นอย่างที่เขาแจ้งมาหรือไม่ อยู่กินกันอย่างไร แบบเปิดเผยหรือไม่ หากจริงก็จะทำคดียื่นฟ้องศาลให้ เมียหลวงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยฟ้องเพื่อขออย่าร้างกับสามี ยกเว้นบางครอบครัวที่อยู่ไม่ได้จริงๆ แต่จะเลือกฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าทดแทนจากเมียน้อย ซึ่งที่ผ่านมาเมียหลวงสามารถฟ้องร้องชนะ ได้ค่าทดแทนตั้งแต่หลักแสนจนถึงหลักล้านบาทมาแล้ว”

“การฟ้องพวกนี้ไม่ให้กล่าวหาอย่างเดียว ต้องมีพยานหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ที่สามีไปรับไปส่งเมียน้อยสม่ำเสมอ มีความสัมพันธ์อย่างเปิดเผย การชำระหนี้สินบัตรเครดิตที่นำจ่ายไปตรงที่อยู่บ้านเมียน้อย หลักฐานการใช้จ่ายละแวกบ้านเมียน้อยตลอด รายชื่อตั๋วเครื่องบินที่นั่งใกล้กัน ชื่อสามีที่ไปขอระบบสาธารณูปโภคให้บ้านเมียน้อย อันมีเหตุอันควรสงสัย”

Advertisement

ตัวกฎหมายที่ว่าคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลักๆ อยู่ที่ มาตรา 1523 ระบุให้สิทธิแก่ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่เป็นชู้ได้ โดยการเรียกร้องค่าทดแทนไม่ใช่เมียหลวงจะขอได้ตามใจชอบหรือตามความสะใจ แต่ศาลจะพิจารณาตามสมควรแก่พฤติการณ์และฐานะของเมียน้อย

การฟ้องร้องเมียน้อยเป็นหนทางที่ดีที่สุด เมียหลวงไม่ต้องเปลืองตัวบุกไปทำร้ายเมียน้อย ซึ่งเป็นสิ่ง ”ไม่ควรทำ เพราะจะกลายเป็นว่าเมียหลวงทำผิดกฎหมายเสียเอง เช่น ข้อหาทำร้ายร่างกาย บุกรุก” เช่นเดียวกับการโพสต์ประจานเมียน้อยในโซเชียลมีเดีย “ก็ไม่ควรทำ แม้กฎหมายจะคุ้มครองการโพสต์ในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ที่ไม่ควรทำเลยคือ การโพสต์เรื่องไม่จริง”

ที่น่าตลกคือ มีสามีบางคนที่มีเมียน้อยแล้วจะมาฟ้องหย่าเมียหลวง โดยอ้างว่าไม่ได้อยู่กินกับเมียหลวงมา 2-3 ปี นางสุทธินีบอกว่า กรณีนี้ไม่ใช่เหตุขอหย่าร้างได้ เนื่องจากสามีทิ้งไปเอง กลับกันหากเมียหลวงจะฟ้องหย่าสามีที่ทิ้งไปเกิน 1 ปี ก็เป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ หรือหากทั้งสามีภรรยาสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี หรือแยกกันโดยคำสั่งศาลเกิน 3 ปี ก็สามารถฟ้องอย่าได้ เพราะมีเหตุให้หย่า

“ไม่ว่าจะนำไปสู่การหย่าหรือไม่ อย่างน้อยๆ ผู้หญิงควรดำเนินการตามสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายพึงได้”

ส่วนเมียหลวงควรฟ้องหย่าสามีที่มีเมียน้อยหรือไม่นั้น นางสุทธินีบอกว่า คงจะไม่แนะนำว่าควรฟ้องหย่าหรือไม่ฟ้อง แต่ให้ดูเป็นรายพฤติกรรมไป ยกตัวอย่างผู้หญิงบางคนไม่ได้พึ่งพาสามี ถือว่าสามีทำผิดแล้ว ต้องหย่าอย่างเดียว ก็หย่าได้

แต่ก็มีผู้หญิงอีกส่วนที่ยังพึ่งพาสามี อย่างผู้หญิงที่ทำงานหาเงินคนเดียว ลูกก็ต้องดูแล เงินไม่พอใช้ ก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงดูบุตรได้ ยิ่งบางคนสามีทำงานมีสวัสดิการดี เช่น ข้าราชการ เมียหลวงและลูกๆ สามารถเบิกสวัสดิการต่างๆ ได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรีบนบุตร ที่สำคัญหากสามีตาย เมียหลวงมีสิทธิในการจัดการศพ ได้รับค่าทดแทนที่สามีตาย ตลอดจนมรดกต่างๆ อีก

“ที่พูดมาทั้งหมดคือ สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่สามีภรรยาที่อยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ซึ่งกรณีนี้เรียกร้องอะไรไม่ได้เลย ไม่มีสิทธิ แม้กระทั่งสามีเข้าโรงพยาบาลก็เซ็นรับรองให้ไม่ได้ ต้องไปตามญาติมา รวมถึงการจัดการทรัพย์สิน จัดการศพ ทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นแนะนำให้สามีภรรยาต้องจดทะเบียนสมรสไว้ เพื่อให้มีสิทธิตามกฎหมาย คุ้มครองตัวเองและลูก”

นางสุทธินี เมธีประภา

นายกสมาคมบัณฑิตสตรีกล่าวฝากว่า ฉะนั้นอยากเชิญชวนผู้หญิงที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเรื่องมีหนี้สิน มีปัญหาครอบครัว ปัญหามรดก ปัญหาการทำงาน ตลอดจนสามีมีเมียน้อย สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สมาคม ทั้งการไปที่สำนักงานฯ หรือโทรศัพท์สอบถามโทร.0-2241-0737 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว.com ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ที่สมาคมส่งทนายไปช่วยให้คำปรึกษากฎหมาย ปัญหาก็จะได้รับแก้ไข

“มาขอคำปรึกษากับสมาคม ไม่เสียเงินค่าบริการเลย เราทำฟรีให้ รวมถึงค่าทนาย นอกจากว่าใครพอมีเงิน ก็ให้ช่วยจ่ายค่ารถให้ทนาย เราทำงานช่วยเหลือผู้หญิงมา 73 ปี แล้ว” นางสุทธินีกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image