ชีวิตที่ ‘ให้สังคมก่อน’ ไม่ได้เข้ามาเป็นสีสัน ‘ส.ท.อ๊อด ณภัทร’ นักการเมืองข้ามเพศคนแรกของระนอง

นักการเมืองข้ามเพศ คนแรกของระนอง

ชีวิตที่ ‘ให้สังคมก่อน’ ไม่ได้เข้ามาเป็นสีสัน ‘ส.ท.อ๊อด ณภัทร’ นักการเมืองข้ามเพศคนแรกของระนอง

  “ไม่ได้เข้ามาเพื่อเป็นสีสัน แต่ขอเป็นหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์พัฒนาให้ชาวบางริ้น”
  “โปรดอย่ามองว่าอ๊อดเป็นอะไร แต่ให้ดูว่าอ๊อดมาทำอะไร”

ประโยคหาเสียงที่กลายเป็นสโลแกนประจำตัวของผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลเมืองบางริ้น เขต 2 จังหวัดระนอง หมายเลข 6 ทีมบางริ้นพัฒนา “ณภัทร สมไทย” หรือ “อ๊อด” ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 43 ปี ที่หลังผ่านการนับคะแนนซึ่งผลคะแนนเป็นเอกฉันท์ มีมติรับรอง ณภัทร เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองบางริ้นอย่างเป็นทางการ

กลายเป็น “นักการเมืองหญิงข้ามเพศคนแรกของระนอง” ซึ่งนี่คือการลงสนามการเมืองครั้งแรกของเธอ

 

สำหรับพื้นที่ทางการเมือง ตลอดจนพื้นที่ของผู้นำนั้น อัตราการมีส่วนร่วมของ “ผู้หญิง” ว่ามีสัดส่วนที่น้อยแล้ว แต่กับ “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” (LGBTQN+) กลับน้อยยิ่งกว่าน้อย และไม่ว่าจะในบทบาทไหนพวกเขาและเธอต่างต้องต่อสู้เพื่อ “พิสูจน์” ตัวตนกันมาอย่างยาวนาน

อันเป็นที่มาของการแต่งตั้งเดือนมิถุนายน ให้เป็น “ไพร์ด มันธ์” (Pride Month) หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพื่อเฉลิมฉลองให้ทุกๆ การต่อสู้ที่ขับเคลื่อนไปสู่ “สังคมเท่าเทียม”

Advertisement

บทบาททางการเมืองของ ณภัทร สมไทย หรือ ส.ท.อ๊อด จึงเป็นสิ่งที่ได้รับเสียงชื่นชมภายในชุมชนแอลจีบีที ก่อนจะได้รับการแชร์ออกไปในวงกว้าง แม้ตำแหน่งที่ได้มาจะเป็นหนึ่งความสำเร็จในชีวิตของอ๊อด ทว่าเรื่องราวชีวิตของเธอกลับน่าสนใจมากกว่า

เพราะทุกก้าวของณภัทร เธอยืนหยัดด้วยลำแข้งที่แท้จริง

ณภัทร สมไทย หรือ ส.ท.อ๊อด

เข้มแข็งแต่อ่อนหวาน
ใช้ชีวิตแบบภูมิใจในสิ่งที่เป็น

ณภัทร เติบโตมาภายใต้การอุปการะเลี้ยงดูของแม่บุญธรรมที่อยากได้ลูกชาย ได้รับการเลี้ยงดูมากับลูกๆ ของแม่ที่เป็นผู้หญิง เธอรู้ตัวครั้งแรกว่าไม่ชอบการเป็นผู้ชายตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบการใช้ความรุนแรง ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยมากนัก และด้วยฐานะที่ยากจนจึงต้องทำงานไปด้วย

กล่าวได้ว่าค่อนชีวิต ณภัทร กับการทำงานเป็นของคู่กัน ตั้งแต่เด็กเธอจะรับขนมจากข้างบ้านไปขายเพื่อหาเงินไปโรงเรียน อาศัยกินข้าววัดเพราะโรงเรียนอยู่ติดวัด ซึ่งพระอาจารย์ก็มีเมตตาเก็บข้าวเที่ยงไว้ให้เสมอ จนกระทั่งจบป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ระหว่างนั้นมีอะไรที่ทำได้เธอก็ทำหมด ตั้งแต่เด็กเก็บขยะ-ของเก่า และเป็นเด็กปั๊ม เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนและใช้จ่ายโดยไม่ต้องเดือดร้อนแม่ กระทั่งพี่สาวแต่งงานเธอจึงตามไปอยู่ด้วยที่ภูเก็ตเพื่อเรียนการศึกษานอกโรงเรียนจนจบมัธยมต้น โดยระหว่างนั้นก็ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหารไปด้วย

เวลาผันผ่าน ณภัทร โตแล้วสาวแล้ว เริ่มแต่งกายเป็นผู้หญิงและไว้ผมยาว กระทั่งมีเพื่อนชวนไปทำงานเป็นคาบาเรต์โชว์ที่ภูเก็ต

“ตอนนั้นแม่ก็เริ่มรับได้แล้วที่เราเป็นกะเทย แม้จะไม่สนิทใจ” ณภัทรกล่าวและเล่าย้อนกลับไปว่า “เพราะแรกๆ แม่รับไม่ได้ เขาหวังที่จะได้ลูกผู้ชาย ซึ่งอ๊อดก็ไม่ได้พยายามอธิบายกับแม่เป็นคำพูด แต่เลือกอธิบายผ่านการทำงานแล้วส่งเงินให้แม่ ซึ่งพอแม่เห็นว่าทำงานได้ หาเงินได้ ตามประสาแม่ก็วางใจว่าลูกเลี้ยงตัวเองได้”

ณภัทรทำงานและส่งเงินทั้งหมดให้แม่ตลอด ทำงานเป็นนางโชว์อยู่หลายปีกระทั่งภูเก็ตประสบภัยพิบัติสึนามึ เศรษฐกิจร้านรวงได้รับผลกระทบระนาว ทำให้ ณภัทร ต้องควักเงินเก็บเดินทางกลับบ้านที่ระนอง

กระทั่งได้รับการชักชวนจาก “พี่จุ๊บ” พี่สาวคนสนิทเข้าสู่วงการ “ช่างแต่งหน้า” โดยใช้สกิลจากการเป็นนางโชว์ที่ต้องแต่งหน้าตัวเองทุกวันอยู่แล้ว กระทั่งพี่จุ๊บเปิด “เวดดิ้ง สตูดิโอ” จึงกลายเป็นอาชีพหลักของทั้งสองคนนับแต่นั้น

นอกจากความกตัญญูแล้ว ณภัทรยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่เสมอ ซึ่งเธอบอกว่าการได้ทำงานพบปะกับผู้คนเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบ ขณะเดียวกันสิ่งไหนที่เธอเคยได้รับเป็นโอกาสเธอก็อยากตอบแทนสู่สังคม

“ตอนเป็นเด็ก อ๊อดเรียนโรงเรียนวัดได้รับทุนการศึกษา วันนี้เราพอมีบ้างก็เลยทำการกุศลไปมอบทุนการศึกษาให้เด็กๆ ที่ขาดแคลนอยู่เสมอ” อ๊อดเล่า

และนอกจากนี้เธอยังทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรเผยแพร่เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ดิ้นโบราณจังหวัดระนอง อันเป็นการสืบสารมรดกวัฒนธรรมให้แก่เด็กๆ และตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ประสานงานกับหน่วยงานในการสร้างอาชีพให้แก่แม่บ้าน เป็นทีมงานจัดการประกวดธิดาระนอง และธิดาน้ำแร่ระนอง

กระทั่งในช่วงโควิด-19 ระบาด เธอก็ได้รับบริจาคผ้าเพื่อนำมาตัดเป็นปลอกหมอนเพื่อช่วยซัพพอร์ตโรงพยาบาลสนาม ตลอดจนประสานงานผู้ใหญ่ทำอาหารปรุงสุกแจกชาวบ้านและครอบครัวที่ขาดแคลน

ภาพที่อ๊อดแบกหามวัตถุดิบทำอาหาร น้ำแข็ง เข้าครัว ไปจนถึงนั่งเย็บปลอกหมอน แต่งตัวสวยออกไปเป็นวิทยากรตลอดจนเข้าร่วมประชุมงานสำคัญๆ ได้กลายเป็นภาพที่ชาวบางริ้นคุ้นตากันดี

“อ๊อดภูมิใจในตัวตนของอ๊อด ความที่เราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เรามีความแข็งแกร่งของผู้ชาย งานแบกหามก็ทำได้ และมีความอ่อนหวานของผู้หญิง อ๊อดว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าสังคมเก่ง เพราะเราจะรู้ว่ากลุ่มนี้จะต้องเข้าไปคุยด้วยอย่างไรถึงจะเหมาะสม เป็นข้อดีของชาวแอลจีบีทีนะ” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

ก้าวแรกบนสนามการเมือง
ฟันเฟืองท้องถิ่น

คุยกับณภัทรถึงชีวิตของเธอไปแล้ว อาจจะมองไม่ชัดว่าจุดเชื่อมโยงว่าในที่สุดเธอเข้าสู่แวดวงการเมืองได้อย่างไร ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของ “ความสามารถ” ที่ผู้ใหญ่นักการเมืองรุ่นเก๋าในพื้นที่มองเห็นและทาบทามเธอเข้าวงการ

เธอเล่าว่า เริ่มแรกไม่ได้คิดถึงเรื่องลงเล่นการเมือง กระทั่งผู้ใหญ่มาทาบทามหลายรอบ ก็เริ่มคิดว่าหรือเราสามารถทำได้ เพราะก็มีผู้ใหญ่ที่รู้จักหลายคนก็ให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาตลอด จนคิดว่าน่าจะลองสักตั้ง ด้วยมีโครงการที่ทำกับชาวบ้านอยู่หลายโครงการ เลยคิดว่าการลงเล่นการเมืองเข้ามาเป็นส.ท.อาจจะเป็นการต่อยอดเพื่อช่วยชาวบ้านในอีกทางหนึ่ง

“ในขณะที่เรายังไม่มั่นใจในตัวเอง และกลัวว่าเพศสภาพของเราจะทำให้คนไม่ยอมรับ แต่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน คนรอบข้างกลับมั่นใจในตัวเรา คิดว่าเราทำได้ และให้การสนับสนุน เป็นสิ่งที่เพิ่มความมั่นใจให้กับอ๊อด และคิดว่าน่าจะลองดูสักตั้ง ที่สำคัญคือหากได้เป็นส.ท.จะได้ลงพื้นที่มากขึ้น และประสานงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องได้มากขึ้นด้วย” อ๊อดกล่าวและเผยมุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า

จากการที่เธอทำงานกับกลุ่มคนที่หลากหลายเพศ วัย และอาชีพ ทำให้รู้ปัญหาของคนในพื้นที่จริงๆ เช่นในบางครั้งตาสีตาสา ไม่รู้หนังสือ เขาเดือดร้อนก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จะปรึกษาหรือร้องเรียนตรงไหน เธออยากมาช่วยตรงนี้ ในการประสานงานช่วยเหลือ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

อย่างที่ผ่านมามีหลายคนเดือดร้อน มีเด็กที่แม่ท้องไม่พร้อมแล้วดันคลอดลูกออกมาเป็นแฝด เธอก็ช่วยวิ่งหาอุปกรณ์มาช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นนม ข้าวสารอาหารต่างๆ ตลอดจนไปถึงเรื่องน้ำไม่ไหล ไฟดับ มีน้ำขัง ก็สามารถมาแจ้งเธอที่บ้านได้

ส่วนในอนาคตตอนนี้อ๊อดตั้งใจจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีก่อน ให้ทุกคนประจักษ์ว่า “ผู้หญิงข้ามเพศคนนี้ไม่ได้มาเล่นๆ นะ ไม่ได้มาเพื่อขายขำนะ แต่เข้ามาเพื่อทำงานจริงๆ”

และตอนนี้ก็กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เกี่ยวกับรัฐศาสตร์การปกครอง อ๊อดมองแพลนในอนาคตไว้ว่าค่อยเป็นค่อยไปตามมสเต็ป ค่อยๆ ก้าวจะมั่นคงกว่า และมั่นใจขึ้น

“วันนี้ ตอนนี้ ความมั่นใจของอ๊อดก็เพิ่มขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่งว่าฉันได้รับการยอมรับให้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วนะ เป็นกระบอกเสียงและช่วยเหลือชาวบ้านได้ มองเห็นเป็นรูปธรรมว่าเราทำได้ “

“ทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเรา” เป็นสิ่งที่ทำให้ ณ วินาทีนี้ อ๊อดมายืนอยู่จุดนี้อย่างภาคภูมิ

เพศสภาพ เครื่องแต่งกาย
บทท้าทายความเป็นหญิง

ย้อนกลับไปถึงวันที่ “เปลี่ยนชีวิต” จากช่างแต่งหน้ากลายเป็น สมาชิกสภาเทศบาลเมืองบางริ้น

วันที่ 28 พฤษภาคม คือวันที่นับผลคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองบางริ้น อ๊อดเล่าว่า “ลุ้นมาก” จนกระทั่งเวลาประมาณราว ๆ 5 ทุ่ม มีข่าวมาว่าในทีมมีคนหลุดไปแล้ว 2 คน แวบแรกคิดว่าเป็นตัวเองแน่ๆ
กระทั่งผลการนับคะแนนเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ ก็ปรากฏว่าผลคะแนนชนะมาเป็นลำดับ 6 โดยชนะผู้เข้าสมัครลำดับที่ 7 ไป 50 คะแนน ได้คะแนนไป 1,252 คะแนน

หลังจากที่ทราบผล ณภัทร ถึงกลับหลั่งน้ำตาแห่งความดีใจ “ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเราจะได้ เพราะเอาตรงๆ ด้วยเพศสภาพของเราก็แอบทำใจไม่กล้าตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะในพื้นที่ของการทำงานทางการเมือง คิดว่าได้ก็คือได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราได้ลงมือทำแล้ว”

ทว่าก็ต้องร้องไห้อีกครั้งเมื่อทางเทศบาลแจ้งว่าในวันที่เข้ารับตำแหน่งให้เธอแต่งกายใน “ชุดข้าราชการผู้ชาย” ในการเข้ารับตำแหน่ง

“อ๊อดรู้สึกว่าเราแต่งกายเป็นผู้หญิงมาโดยตลอดทั้งในการใช้ชีวิต และระหว่างลงหาเสียงก็แต่งหญิง แล้วทำไมวันที่เรารับตำแหน่งจะให้เราแต่งตัวเป็นผู้ชาย ร้องไห้ไปเลยวันหนึ่ง จึงตัดสินใจหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ดู ซึ่งก็พบว่ามีกรณีคล้ายๆ กันคือมีส.ส.ท่านหนึ่งแต่งกายชุดข้าราชการหญิงเข้ารัฐสภาได้ ประกอบกับกรณีของส.อบจ.น่าน อย่าง คุณนก ยลดา ก็แต่งกายในชุดข้าราชการผู้หญิงเช่นกัน

อ๊อดเลยไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจร่างกายเพราะเราแปลงเพศมาแล้ว และใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงมากกว่า 30 ปี จึงทำหนังสือไปยื่นความจำนงที่จังหวัดพร้อมกับแนบพ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศไปด้วย กระทั่งในที่สุดจังหวัดก็ได้ออกหนังสือคำสั่งให้อ๊อดสามารถสวมใส่ชุดข้าราชการหญิงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้” ส.ท.อ๊อดเล่า และด้วยหตุนี้ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง ส.ท.ณภัทร จึงได้สวมชุดข้าราชการหญิงเข้ารับ

“หลักๆ อ๊อดคิดว่าอ๊อดเป็นผู้หญิงจะให้อ๊อดหลอกตัวเองโดยการสวมชุดข้าราชการชาย มันไม่ใช่ คืออย่าคิดว่าอ๊อดเป็นอะไร ควรคิดว่าอ๊อดทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาอ๊อดก็ทำประโยชน์เพื่อสังคมมาโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่งตัวมาก็เยอะ ทำงานก็เยอะ ถ้าเกิดเห็นแค่ว่าการแต่งกายนำมาเป็นประเด็น คิดว่าไม่โอเค” ณภัทรกล่าวย้ำ

ส.ท.อ๊อด สวมชุดข้าราชการหญิงเข้ารับตำแหน่ง

อย่าใช้เพศสภาพในการกำหนดคุณค่า
ควรมองว่าใครให้อะไรสังคม

สำหรับการยอมรับของสังคมไทยที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ณภัทร กล่าวว่า การจะให้ทุกคนมายอมรับเราคงเป็นไปไม่ได้ แต่เธอเชื่อในเรื่องของการกระทำ อ๊อดให้สังคมก่อนแล้วก็กลับมาคิดว่าสังคมให้อะไรกับเราบ้าง อ๊อดตั้งใจทำงาน ช่วยเหลือคนเดือดร้อนด้วยใจ สังคมก็ให้การยอมรับตัวตนของอ๊อด

“เราต้องทำให้สังคมเห็นว่าตัวตนในรูปแบบที่เขายอมรับ เราก็ทำได้ นี่เป็นสิ่งที่อ๊อดเจอมากับตัว เคยมีผู้ชายคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีทัศนคติไม่ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เขาพูดว่า เดี๋ยวนี้ในทีวีมีแต่พวกกะเทยออกมาเล่นตลกโปกฮา

อ๊อดจึงลุกขึ้นบอกเขาว่า คนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราเลือกจะเป็นได้ กะเทยก็มีหลายรูปแบบ ถ้าคิดว่าเราทำได้แต่เรื่องตลกโปกฮาแล้วไม่ชอบ อยากให้เปิดใจมองว่ายังมีกะเทยอีกหลายคนที่เขาประสบความสำเร็จ ทำชื่อเสียงให้ประเทศก็มี แล้วมุมมองของคุณอาจจะเปลี่ยนไป อ๊อดก็อธิบายให้เขาฟัง ซึ่งในปัจจุบันก็รู้สึกว่ามุมมองที่มีต่อกลุ่มแอลจีบีทีของผู้ชายคนนั้นตอนนี้ก็ดีขึ้น

จึงอยากจะบอกสังคมว่าแม้จะยังไม่เปิดกว้างแต่ก็ขอให้เปิดใจมองกลุ่มแอลจีบีทีในหลายๆ มุม และอย่าตัดสินเขาเพียงแค่เพศ แต่ให้ดูที่การกระทำของเขาว่าเขาทำอะไรได้บ้าง คนทำดีทำเพื่อสังคมก็มีเยอะ”

กับประเด็นเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงเพศสภาพ ถามว่าเราต้องการไหม ก็ต้องการ ถ้าเปลี่ยนได้ก็จะดีใจมาก เพราะในชีวิตอีกมุมณภัทร ยังเป็นแม่ของลูกสาวซึ่งรับมาอุปการะตั้งแต่คลอดที่โรงพยาบาล

“อ๊อดไม่มีโอกาสได้เรียน ฉะนั้นลูกของอ๊อดต้องได้เรียนแบบดีที่สุด ทั้งหาโรงเรียน หาครูมาสอนพิเศษที่บ้าน ไม่เคยเจอปัญหาเพื่อน ครูหรือโรงเรียนบูลลี่น้องเลย ซึ่งอ๊อดมองว่าการที่ทุกคนเปิดใจยอมรับเรา อยู่ที่การกระทำด้วย ตั้งแต่ที่มีลูกสาว อ๊อดก็อยากเป็นคนที่ดีขึ้นอีกเพื่อลูก ไม่กินไม่เที่ยวเลย ลูกก็ติดเรามาก ไปไหนไปด้วยกันทุกที่ ลูกสาวเป็นคนที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตของอ๊อดให้เต็ม ทำให้อ๊อดรู้สึกว่าเราไม่ได้ขาด”

“ลูกสาวน่ารักมาก เขาก็เรียกเราเต็มปากว่าแม่ ไม่ดื้อเลย พออ๊อดได้เป็นส.ท.แกก็ไปอวดทุกคนว่าแม่อ๊อดได้เป็นส.ท.แล้ว” อ๊อดเล่าถึงลูกสาวด้วยรอยยิ้มและทิ้งท้ายว่า

“ต้องขอบคุณพี่น้องชาวบางริ้นที่เลือกอ๊อดมาทำงาน ขอบคุณทุกกำลังใจที่ให้โอกาสและยอมรับผู้หญิงข้ามเพศคนนี้ อ๊อดจะทำหน้าที่ส.ท.อย่างเต็มที่ จะไม่ให้ขาดตกบกพร่อง อ๊อดคิดว่าทุกคนคือครอบครัวของอ๊อด ฉะนั้น 4 ปีต่อจากนี้ ผู้หญิงข้ามเพศคนนี้จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ไม่ได้เข้ามาเป็นสีสัน แต่เข้ามาทำประโยชน์ให้กับคนชุมชนบางริ้นให้ได้มากที่สุด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image