ถอดบทเรียน ขึ้นทะเบียนเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ก้าวไม่พ้น ‘ถูกตีตรา’

ถอดบทเรียน ขึ้นทะเบียนเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ก้าวไม่พ้น ‘ถูกตีตรา’

พนักงานบริการ หรือ เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ (Sex worker) หนึ่งอาชีพในสังคมไทยที่กำลังต่อสู้เพื่อให้การค้าประเวณีในไทยถูกกฏหมาย ซึ่งภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมธิการเพื่อศึกษาพิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พร้อมทั้งเตรียมจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ภายใต้ชื่อการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการซึ่งจะมีการเตรียมจดทะเบียนพนักงานบริการ ที่ระหว่างนี้อยู่ในช่วงขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหลายฝ่ายต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

ทว่าในประเด็นการจดทะเบียนพนักงานบริการนั้นมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเป็น “การตีตรา” และ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ในทางหนึ่ง

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานคุ้มครองดูแลพนักงานบริการในประเทศไทยได้จัดเวทีเสวนาผ่านแอพพลิเคชั่นซูมในหัวข้อ “จดทะเบียน Sex worker แก้ปัญหา จริง หรือ หลอก” โดยมีวิทยากรจากไทยและต่างประเทศที่ทำงานคุ้มครองดูแลสิทธิของพนักงานบริการร่วมการเสวนา

เดินหน้ายกร่างค้าประเวณีในไทยไม่ผิดกฏหมาย

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลในฐานะโฆษกกมธ.กิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภากล่าวถึงเหตุผลในการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาว่า เพื่อต้องการให้การค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นงานที่ถูกกฎหมายและคุ้มครองผู้ให้บริการ ซึ่งภาคประชาชนยังคงมีคความเป็นห่วงว่าการขึ้นทะเบียนนั้นจะมีปัญหาเพราะจะทำให้เกิดการตีตราเกิดขึ้น แต่ก็มีอีกฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างกม.ฉบับนี้

Advertisement

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่รับฟังข้อมูลจากหลายภาคส่วนจึงอยากจะนำข้อเสนอใหม่มานำเสนอให้กับสังคม ซึ่งจะอยู่ในกรอบที่ทำให้ผู้ประกอบการถูกกฎหมายและเขาต้องได้รับการปกป้องดูแลในฐานะผู้ประกอบการด้วย โดยมี 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ถ้าสถานบริการนั้นมีการจดทะเบียนการค้าประเวณีที่ถูกต้อง พนักงานที่ทำงานหรือค้าประเวณีในสถานบริการนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ ก็สามารถทำงานกับร้านเหล่านั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้

2. คือการจดทะเบียนในกรณีที่ผู้ให้บริการต้องการที่จะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้และจะได้รับการปกป้องดูแลจากรัฐ ทั้งการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ หรือการพัฒนาตนเอง คนที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐก็จะเข้าสู่การคุ้มครองและการก้าวต่อไปในการประกอบอาชีพต่างๆ

Advertisement

3.ไม่ต้องการให้การค้าประเวณีมีความผิดทางอาญา ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆฝ่ายเพื่อนำมาประกอบการร่างกม.ให้เกิดความรอบด้านอีกครั้งด้วย

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

ขึ้นทะเบียนเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ย้ำความไม่ปกติ
เปิดให้รัฐบั่นทอน-ละเมิดสิทธิ

ขณะที่ รูท มอร์แกน โทมัส ตัวแทนจากเครือข่ายเซ็กซ์เวิร์กเกอร์เน็ตเวิร์ค (NSWP) ระบุว่าสถานการณ์เรื่องการจดทะเบียนอาชีพค้าบริการทั่วโลก เกือบ 200 ประเทศ มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดว่าคนที่จะทำงานบริการทางเพศจะต้องมาจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ แต่ยังคงระบุว่าการจ้างเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ยังเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ทำให้คนที่ทำอาชีพให้บริการทางเพศไม่มีทางเลือก ยังต้องทำงานแบบจ้างตัวเอง ไม่ได้มีนายจ้าง และทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิแรงงาน เป็นการจำกัดสิทธิในการมีอำนาจต่อรองของคนทำงานบริการ

และมีเพียง 2 ประเทศ จาก 25 ประเทศเท่านั้น ที่ยอมรับว่างานบริการก็คืองานประเภทหนึ่ง ส่วนอีก 23 ประเทศยังใช้มาตรการการจดทะเบียน เพื่อมาควบคุมจำกัดสิทธิและมีการกำหนดว่าคนที่ทำงานบริการต้องมีการตรวจเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อาจจะทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ในบัตร ในบางประเทศยังบังคับด้วยว่าคนที่ทำงานจะต้องถือบัตรติดตัว และโชว์หากลูกค้าขอ ซึ่งการบังคับตรวจโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ถูกประณามจากหน่วยงานของยูเอ็นทั้งองค์การอนามัยโลกและเอ็นจีโอ ว่าเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชน”

นอกจากนั้น มี 2 ประเทศที่ห้ามคนแต่งงานแล้วมาขายบริการ ทั้งที่เป็นชาย หญิง หรือคนข้ามเพศ และมีอีก 1 ประเทศที่อนุญาตเฉพาะคนที่แต่งงานแล้วมาทำอาชีพนี้

“การกำหนดว่าต้องลงทะเบียนอาชีพให้บริการทางเพศเป็นการทำให้เกิดการตีตรา และเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อคนที่ทำงานค้าบริการ เพราะมันเป็นการบอกว่าพวกเราไม่เหมือนคนอื่น แตกต่าง เป็นอะไรที่ผิดปกติ เป็นการบ่อนทำลายสิทธิในการทำงาน สิทธิในการเลือกสถานที่ทำงาน และสิทธิในการเลือกว่าเราจะทำงานอย่างไร” มอร์แกนกล่าวและย้ำว่า

“การทำให้การค้าบริการไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะทั้งตัวคนค้าบริการเอง ลูกค้า เพื่อน หรือคู่ชีวิตทั้งหมดนั้น โดยที่ไม่มีการลงทะเบียนจะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้คนทำงานค้าบริการมีสิทธิในการทำงาน สิทธิในแรงงาน และสามารถมีอำนาจเหนือตนเองของเราได้อย่างแท้จริง”

รูท มอร์แกน โทมัส

บทเรียนเยอรมัน กับ 2 ชนชั้นงานบริการ
กฏหมายดีแต่ผลตรงกันข้าม (ในทางปฏิบัติ)

ด้าน แอนนา ฮอฟเม่น ตัวแทนพนักงานบริการจากองค์กรไฮดร้า กล่าวว่า ในเยอรมันการทำงานบริการทางเพศเป็นงานที่ผิดกฎหมายก่อนปี 2004 แต่หลังปี 2004 มีกฎหมายที่ดีขึ้นมาก ให้สิทธิขึ้นพื้นฐานกับคนทำงานบริการ สามารถฟ้องร้องลูกค้าได้ หากไม่จ่ายเงิน หรือใช้ความรุนแรง ต่อมาในปี 2018 มีกฎหมายตัวใหม่ออกมาเป็นกฎหมายคุ้มครองการค้าประเวณี กำหนดให้ทั้งผู้ค้าและสถานประกอบการต้องทำตามกฎหมาย แนวคิดของรัฐบาลคือต้องการให้ความคุ้มครองแก่คนทำงานบริการให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็น “ตรงกันข้าม” ตอนนี้มีการกำหนดว่าคนทำงานบริการทางเพศทุกคนต้องจดทะเบียน ทำให้เกิด 2 ชนชั้นของคนทำงานบริการ

กลุ่มแรก คือ คนทำงานชั้นดีคือคนที่ลงทะเบียน และได้รับอนุญาตให้ทำงานตามสถานประกอบการต่างๆ กลุ่มที่สอง คือคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งถูกกีดกันและไม่ได้รับการคุ้มครองต่างๆ ต้องทำที่บ้าน ข้างถนน หรือสถานประกอบการผิดกฎหมายที่มีสภาพไม่ดี ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสถานบริการต่างๆ ต้องปิดตัวเพราะไม่สามารถไปเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนได้ นักการเมืองในเบอร์ลินบางคนบอกก็ดีแล้ว แต่จริงๆ แล้วมันเป็นหายนะต่างหาก จากทางเลือกในการทำงานที่น้อยลง

“สมมติว่าทุกคนที่ทำงานหารายได้มีบัตรประจำตัวระบุอาชีพเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ เป็นอาจารย์ หรืออาชีพอื่นๆ ซึ่งหากตนมีบัตรประจำตัวระบุอาชีพว่าทำงานบริการทางเพศก็จะเป็นเรื่องดีและไม่ได้เลวร้ายเท่าไร แต่สิ่งที่เขียนในบัตรของตนระบุอาชีพว่าเป็น ‘โสเภณี’ ทำให้รู้สึกแย่มาก รู้สึกถูกกีดกันจากสังคมและทำให้เห็นว่าตนไม่เหมือนคนอื่นในสังคม รู้สึกว่ามันเหมือนการถูกตีตรา และบัตรนี้ก็ไม่ได้คุ้มครองอะไรเพราะการแจ้งความลดน้อยลง หลังมีกฎหมายดังกล่าวออกมา” แอนนากล่าวและทิ้งท้ายว่า

“ถ้าคุณอยากที่จะมีความรู้สึกว่าคุณเป็นประชาชนที่มีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนอื่น อย่าไปใช้การจดทะเบียนที่ทำให้มันแย่ลงกว่าเดิม แต่ควรมีสถานที่ปลอดภัย และไม่เปิดเผยตัวตนให้คนทำงานบริการเข้าไปใช้บริการได้ และควรมีการคุ้มครองสิทธิเหมือนคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ หรืออาชีพได้รับ”

อังกฤษชี้ทางออก
หยุดตีตราผู้หญิงหาเลี้ยงครอบครัว

ขณะที่ ชาร์ล็อต ตัวแทนองค์กรอีซีพี (the English Collective of Prostitutes:ECP) เผยว่าในอังกฤษแม้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่การออกไปยืนหาลูกค้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนั้นมีการข่มขืน และการใช้ความรุนแรงกับคนทำงานบริการทางเพศค่อนข้างมาก องค์การที่ทำงานร่วมกับเราระบุว่าคนที่ข่มขืนไม่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะหากข่มขืนคนที่ทำงานบริการทางเพศ ทุกปีมีคนเป็นพันๆ คนที่ถูกบุกไปตรวจจับและถูกดำเนินคดี และมีการบันทึกประวัติว่าทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาเวลาไปสมัครงานอื่น นายจ้างไม่อยากรับคนที่มีประวัติอาชญากรรม

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่คล้ายกับของไทยคือคนที่ทำงานเป็นพนักงานบริการเป็นคนที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก และรัฐบาลเริ่มตัดและลดสวัสดิการต่างๆ มากขึ้น พอไม่มีสวัสดิการสภาวะความยากลำบากก็มากขึ้น จากการวิจัยเทียบเคียงการทำงานขายบริการกับงานอื่นๆ พบว่างานส่วนใหญ่ได้รับค่าแรงต่ำมีการขูดรีดแรงงาน แต่ว่าการทำงานบริการได้รับค่าแรงในอัตราต่อชั่วโมงสูงกว่าทำงานอย่างอื่น จึงมีคนสนใจมาทำงานนี้

ลอร่า ตัวแทนองค์กรอีซีพี กล่าวเสริมว่า คนทำงานบริการไม่ได้มีสถานะเดียวกับคนทั่วไป เราถูกจัดเป็นหมวดคนสถานภาพพิเศษที่ต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่ ยิ่งไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อลูก ทำให้หลายคนไม่ไปจดทะเบียนและต้องอยู่แบบผิดกฎหมาย การทำระบบให้ถูกกฎหมายนั้นก็ไม่ได้ดีกับสังคมโดยรวมนัก เพราะผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก ถ้าต้องเผชิญกับสถานะที่มีการตีตราก็จะส่งผลกระทบต่อคนที่เราต้องดูแลในครอบครัวด้วย ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะต้องถูกนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการดูแลครอบครัวด้วย

“อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนหรือมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ มันไม่ได้เป็นทางออกของปัญหาและยิ่งจะทำให้เกิดการกีดกัน แบ่งแยก ในกลุ่มคนที่ทำงานบริการทางเพศมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะไม่สามารถสร้างสังคมที่มีความสุขได้” ลอร่ากล่าว

ตัวแทนจากประเทศอังกฤษ

ย้ำขึ้นทะเบียนอาชีพแก้ปัญหาไม่ได้จริง
แม้สังคมเปิดกว้าง แต่การตีตรายังมี

ปิดท้ายด้วย ไหม จันทร์ตา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นตัวแทนของพนักงงานบริการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เผยถึงเหตุผลที่พนักงานบริการในประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน เนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมจดทะเบียนได้ทุกคน และมองว่าการจดทะเบียนไม่ได้แก้ไขปัญหาสังคมได้จริง เพราะส่วยหรือการคอรัปชั่นยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหนแต่อาจจะมาในรูปแบบใหม่หรืออาจจะมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ นอกจากนี้งานบริการที่ทำอยู่ก็จดทะเบียนมาโดยตลอดในรูปแบบของการทำประกันสังคม ซึ่งมีการระบุนายจ้าง สถานที่ทำงานและขึ้นทะเบียนต่อกรมจัดหางาน โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องส่งรายชื่อให้กรมจัดหางานหรือกรมสวัสดิการแรงงาน ถ้ามีลูกจ้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้คือ พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมและการจ้างงานที่เป็นธรรมได้ทุกคน เพราะยังมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 (กฎหมายการค้าประเวณี) ที่บอกว่าพนักงานบริการเป็นอาชญากรและมีความผิดทางอาญา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้จริง

“ขณะนี้เราเห็นว่าสังคมเปิดกว้างขึ้น มองเห็นสิทธิของพนักงานบริการ ทุกคนควรที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เราก็ยอมรับว่างานของเรายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมสักเท่าไร เราจึงไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน ซึ่งการจดทะเบียนจะนำมาซึ่งการตีตรา เพราะจากตัวอย่างของต่างประเทศว่าแค่จะได้ลงทะเบียนมีการถูกแบ่งแยก ถูกกีดกัน เป็นต้น อาชีพงานบริการของเรา เราไม่ต้องการอะไรที่พิเศษว่าอาชีพอื่นๆ ถ้าจะแย่ก็ให้แย่ไปเท่าๆกัน ถ้าได้ก็อยากให้ได้เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ต้องมีกฎหมายเฉพาะ หรือกฎหมายที่ออกมาควบคุมเฉพาะในอาชีพของเรา” ไหมกล่าวทิ้งท้าย

ไหม จันทร์ตา ตัวแทนจากเอ็มพาวเวอร์ (ขวา)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image