จะทำยังไง เมื่อคลิปหลุด อุทาหรณ์ ‘โลกออนไลน์’

จะทำยังไง เมื่อคลิปหลุด อุทาหรณ์ ‘โลกออนไลน์’

โลกใบนี้หมุนไวแค่ไหน ลองหลับตาแล้วย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก เชื่อว่าหลายๆ คนที่ตอนนี้อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ หรือ วัยรุ่นตอนปลาย เคยใช้ชีวิตวัยเด็กใน “โหมดออฟไลน์” เล่นกับเพื่อนข้างบ้าน โดดหนังยาง วิ่งไล่จับ แตกต่างกับเด็กในยุคปัจจุบันที่ลืมตาดูโลกก็แทบจะสัมผัสกับเทคโนโลยี และเรียนรู้ที่จะรู้จักกับ “โลกออนไลน์” ได้อย่างง่ายดาย

และในยุคดิจิทัลที่โลกทั้งใบถูกย่อมาไว้บนฝ่ามือ หลายคนใช้เวลากว่าค่อนชีวิตไปกับโลกอีกด้านในสมาร์ทโฟน หรือ “โลกออนไลน์” ที่ทำให้การสื่อสารรวดเร็วขึ้น ทว่าก็ทำให้พบปะกับ “คนแปลกหน้า” ได้ง่ายขึ้นด้วย ส่งผลให้สถิติการล่วงละเมิด/คุกคามทางเพศ ตลอดจนคดีอาชญากรรมทางเพศในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเด็ก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ดังเช่น “สื่อลามกอนาจารเด็ก” ที่ว่อนอยู่ในโลกออนไลน์ มีทั้งปล่อยให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไปจนถึงตั้งกลุ่ม-ชุมชนเพื่อซื้อขายสื่อเหล่านี้ก็มี

แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเจ็บปวดทรมานกับเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ “เด็ก” ที่เป็นผู้เสียหาย หลายคนเสิร์ชคำค้นหา “วิธีแก้คลิปหลุด” ไม่เจอคำตอบ ไม่พบทางออก

Advertisement

แล้วหากคลิปหลุดไปในโลกออนไลน์จะทำอย่างไร…

เดอะ ฮัก โปรเจ็กต์ ไทยแลนด์ (The HUG Project Thailand) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เมื่อคลิปหลุด ฉุดให้อยู่” ผ่านแอพพ์ซูม มีตติ้ง และเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ TICAC-Thailand Internet Crimes Against Children เปิดตัวคู่มือสำหรับเด็ก  “eXposed เมื่อคลิปหลุด” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับกลยุทธ์ของคนร้ายในการหลอกล่อขอถ่ายคลิป การเก็บหลักฐานเบื้องต้นเพื่อเอาผิดและการดำเนินคดี สามารถแจ้งความได้ที่ไหน และเมื่อคลิปหลุดไปแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

อุทาหรณ์คลิปหลุด
กว่าจะพ้นความเลวร้าย

Advertisement

มีทู (นามสมมติ) หญิงสาวผู้ก้าวผ่านความเลวร้ายในอดีต เป็นหนึ่งคนที่ตกเป็นผู้ประสบเหตุคลิปหลุด เธอเล่าว่าหลังเกิดเหตุสิ่งแรกที่เธอทำคือเปิดกูเกิลแล้วเสิร์ชคำว่า “วิธีแก้คลิปหลุด” “ลบคลิปหลุด” แต่กลับไม่เจอคำตอบ เธอเปิดไปจนหน้าสุดท้ายก็ยังไม่พบทางออก กลับเจอเพียงคลิปหลุดของคนอื่น และหนึ่งในนั้นก็มีของเธอด้วย

สะท้อนให้เห็นว่าคำว่า “คลิปหลุด” ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้เข้าถึงผู้ประสบเหตุได้มากที่สุด เธอจึงผลักดันให้ร่วมกันติด #หยุดแชร์คลิปหลุด ให้มากขึ้น เพื่อแทนที่คีย์เวิร์ดต้นทาง นำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้

“มันไม่ใช่เรื่องที่ใครควรจะต้องเจอ เป็นการถูกกระทำที่ฝังไปในใจได้ทุกวัน คนที่ทน เขาก็ไม่ได้ทนได้ทุกวัน” เธอกล่าวพร้อมเล่าถึงจุดที่ทำให้เธอคิดไม่อยากจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

“ตอนนั้นผลกระทบถึงครอบครัวหนักมาก หนูมีพี่สาวเราหน้าคล้ายกัน ตั้งแต่เกิดเรื่องพี่ก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า ต้องเข้ารับการรักษา เดือนละหมื่นกว่าบาท ตลอด 2 ปี เพราะมักมีคนทักพี่สาวว่าได้ข่าวว่าพันห้าหรอ หรือเข้ามาขอสวิงกิ้งกับพี่สาว ทั้งๆ ที่พี่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย ตอนนี้เขาทำงานไม่ได้ เรียนไม่ได้ พ่อแม่ก็โดนสังคมถามจนหลอนไปหมด เช่น มีคนเดินมาทักทายสวัสดี ก็จะหลอนคิดไปก่อนว่าจะตามด้วยทักเรื่องนั้นหรือเปล่า ถ้าทักแล้วจะตอบยังไง คือเราเหมือนโดนสังคมรีดเอาคำตอบจากคำถามที่เราไม่อยากได้ยิน ทุกวัน หนูอยากให้เรื่องนี้หายๆ ไป เพราะฉะนั้นอยากบอกทุกคนว่า อย่าไปถามเลย ทำเหมือนว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ให้พวกเขาได้มีที่ยืนบนสังคมบ้าง” มีทูเผยความในใจและนี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่เธอพบเจอ

“เคยโดนแม้กระทั่งมีคนตามมาสำเร็จความใคร่ที่หน้าบ้านแล้วทิ้งถุงยางนับสิบชิ้นกองไว้ ตามถ่ายรูปเวลาออกไปซื้อข้าวข้างนอกบ้าน โดนขับรถตาม โดนถ่ายรูปเอาไปนินทาว่าคนนี้ไง สนใจป่ะ ไปถามดิ พันห้าได้ป่าว ซึ่งรวมไปถึงเพื่อนๆ ในโรงเรียนและครูในโรงเรียนด้วยจนหนูก็คิดว่าเราต้องทนไปถึงเมื่อไหร่นะ หนูคิดว่าไม่อยากมีชีวิตต่อไปแล้วมันหนักมาจริงๆ”

ในวันนี้ มีทูก้าวผ่านความเจ็บปวด และเดินหน้าเป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กสาวทุกคน เธอบอกว่าหนึ่งสิ่งที่หลายคนกังวลเมื่อประสบเหตุการณ์ร้ายๆ คือ จะบอกเรื่องนี้กับครอบครัวอย่างไร?

“บอกตามตรงว่าหนูก็บอกไม่ได้ เพราะไม่กี่วันเขาก็ทราบเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือ ‘ให้พูดความจริง’ พ่อแม่คือคนที่รักเรามาก เขาจะตั้งใจฟังและเปิดรับว่าเป็นความผิดพลาดของลูก ไม่ได้ถือโทษโกรธ สุดท้ายแล้วครอบครัวจะรู้และเขาจะอยู่กับเราเสมอ” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังก่อนจะทิ้งท้ายถึงเด็กๆ หรือผู้ที่เผชิญกับเรื่องราวเลวร้ายว่า

“อันดับแรก ต้องยอมรับว่าเรื่องมันเกิดขึ้นไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ อย่าคาดคั้นเอาความผิด ให้มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเป็นหลัก ตอนแรกคิดว่าถ้าบอกความจริงแล้วครอบครัวจะดุหรือตำหนิ แต่เอาเข้าจริงๆ เขาปกป้องเราทันที อย่ากลัว จับมือคนที่เรารักแล้วเข้าสู่กระบวนการศาล หรือถ้าไม่กล้าก็ติดต่อมาปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนได้”

“หนูเชื่อว่าผู้หญิงหลายๆ คน บางทีก็ไม่รู้ว่าคนขอ เอาคลิปเราไปทำอะไร บางคนไม่คิดว่าจะหลุด แต่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้นำไปแชร์ต่อ เอาเราไปแขวนประจานในกลุ่ม และสำเร็จความใคร่ตรงนั้น หลายคนเอาไปขายจนร่ำรวย เขากำลังกินนอนอยู่บนความอับอายของคนที่ไปสู้หน้าใครไม่ได้อย่างเรา”

เพราะฉะนั้น เราเลือกได้ว่าจะให้เรื่องร้ายๆ “อยู่” กับเรา หรือให้กระบวนการนี้มัน “หยุด”

อนาจารผ่านจอ
อาชญากรรมยุคออนไลน์
แชร์ต่อมีความผิด

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง (แฟ้มภาพ)

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า จากสถิติที่ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยไว้จะพบว่า ในปี 2563 มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวไทยทั้งหมด 47 ล้านบัญชี อยู่ที่อันดับ 8 ของโลก นับว่าประเทศไทยใช้สื่อทางด้านออนไลน์สูงมาก ขณะเดียวกันการซื้อ-ขายออนไลน์ก็สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน

ฉะนั้น อาชญากรรมทางออนไลน์ จึงไม่ได้มีเพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง และ 1 ใน 5 นโยบายที่ไซเบอร์คอปป์ดูแลอยู่ คือ “การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก สตรี ทางอินเทอร์เน็ต” ซึ่งนับว่าเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ ทางตำรวจออนไลน์ ก็ได้จัดตั้งเพจ มายซิส MySis Bot” พี่สาวผู้พิทักษ์ ที่รับแจ้งเหตุ และรับฟังเรื่องราวผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศ โดยระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดความกลัวของเด็ก เยาวชน หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่กล้าเข้าแจ้งความ พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 รวม 6 เดือน มีผู้แจ้งเหตุเข้ามาทั้งหมด 827 ราย นำไปสู่การดำเนินคดีแล้ว 24 คดี และจับกุมแล้ว 6 คดี

โดยหนึ่งในคดีในนั้นคือ “คดีที่พนัสนิคม” พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า เป็นคดีที่เข้าจับกุมผู้กระทำผิดขณะกำลังไลฟ์นำเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี มาเต้นโชว์โดยไม่สวมเครื่องแต่งกาย เปิดเผยเรือนร่าง ทั้งยังมีการบังคับให้ใช้เซ็กซ์ทอยร่วมด้วย เพื่อเรียกคะแนนจากผู้เข้าชมผ่านแอพพลิเคชั่นไลฟ์ โดย 1.3 หมื่นคะแนน จะได้รับเงิน 250 บาท ซึ่งขณะที่เข้าจับกุมมีผู้ชมอยู่ 1.5 หมื่นคน ซึ่งเป็นผู้ใช้งานแอพพ์จากทั้งในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

“อาชีพแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไซเบอร์คอปป์ก็จะไม่ยอมให้งานเช่นนี้เกิดขึ้น เรามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่” พล.ต.ท.กรไชยย้ำ

ขณะเดียวกันก็ยังมีอาชญากรรมออนไลน์ในอีกหลากหลายรูปแบบซึ่งผู้กระทำผิดจะปลอมแปลงตัวตนมาในบทบาทที่ต่างกัน แต่ที่มีไม่น้อยก็คือ “โมเดลลิ่ง” หรือ “เอเจนซี่” ที่มาหลอกให้ไปถ่ายแบบ วิดีโอ เพื่อจะดันให้เป็นดารา แล้วบันทึกภาพทั้งหมดเก็บไว้นำไปเผยแพร่ และซื้อขายในโลกมืด

“หลอกจะให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า ท้าให้เปิดกล้อง” เป็นสิ่งที่ผู้บัญชาการบช.สอท.ย้ำเตือนให้ระวังตัว

จับกุมผู้เปิดกลุ่มเผยแพร่สื่อลามก ภาพจากเฟซบุ๊ก TICAC

นอกจากนี้บางครั้งภัยร้ายก็อยู่ใกล้ตัวจนไม่ทันได้สังเกต พล.ต.ท.กรไชย เล่าพร้อมเตือนให้หมั่นสังเกตเหตุการณ์รอบๆ ตัว เพราะปัจจุบันมีผู้กระทำผิดหลายรายทำเนียนสะพายกระเป๋าโน้ตบุ๊ก แต่แท้จริงแอบถ่ายใต้กระโปรง โดยมีการซ่อนกล้องไว้ เริ่มจากถ่ายใบหน้าก่อนแล้วค่อยๆ แอบถ่ายใต้กระโปรง โดยเคสล่าสุดที่เข้าจับกุมพบว่ามีคลิปแอบถ่ายรวมแล้วกว่าหมื่นคลิป ทั้งยังมีการส่งคลิปดังกล่าวไปขาย และแชร์ในกลุ่มที่มีผุ้ติดตามกว่า 1 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสื่อลามกอนาจารเด็กนั้น มีทั้ง “ผู้ผลิต” และ “ผู้แชร์” แล้วในกรณีที่เป็นสมาชิกอยู่ร่วมในกลุ่ม-ชุมชนออนไลน์ แล้วมีผู้แชร์สื่อลามกอนาจารเข้ามาในกลุ่ม ตลอดจนเคยแชร์สื่อนั้นด้วย นับว่ามีโทษหรือความผิดหรือไม่

พล.ต.ท.กรไชย ตอบว่า ด้วยเป็นเรื่องของสื่อลามก ก็ส่อเจตนาของการส่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะความคึกคะนองหรือรู้อยู่แล้วว่าการถ่ายทอดสื่อลักษณะแบบนี้มีความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมในหลายบริบทของอาชญากรรมออนไลน์ ทว่าตำรวจไม่ได้ใช้หลักทางนิติศาสตร์อย่างเดียว ใช้หลักรัฐศาสตร์ประกอบด้วย กล่าวคือทุกอย่างมีต้นทาง คนที่สำคัญคือคนที่ผลิต ส่วนคนที่แชร์ จะมีการแบ่งลักษณะความผิดไปตามลำดับ สรุปได้ว่าการแชร์โพสต์ แชร์สื่อลามกอนาจารเด็กนั้นมีความผิดในตัวอยู่แล้ว

ไขทุกข้อสงสัยเมื่อเกิดเหตุ
‘คลิปหลุด-โดนหลอก’ ต้องทำอย่างไร

พ.ต.อ.สุนทร อรุณนารา (กลาง) ภาพจากเฟซบุ๊ก TICAC

อีกหนึ่งมือพระกาฬที่อยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ประสบเหตุร้ายในโลกออนไลน์ พ.ต.อ.สุนทร อรุณนารา รองผบก.อก.สกบ. และหัวหน้าชุดปฎิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ทีม 1 ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (ไทแคค:TICAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนปรามปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในออนไลน์โดยเฉพาะ มีอำนาจหน้าที่สืบสวน จับกุม ตลอดจนประสานงานกับสถานทูตต่างๆ ด้วยในบางกรณีคนร้ายก็เป็นชาวต่างชาติที่หลบหนีเข้ามา ประสานทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่ให้ผู้กระทำผิดเดินทางเข้าประเทศ หรือหากเข้ามาแล้วก็จะดำเนินการยกเลิกวีซ่าและส่งกลับไป

พ.ต.อ.สุนทร เผยว่าคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในออนไลน์ ผู้เสียหายมีทั้งเพศชาย และเพศหญิง เช่นในคดีที่มีเด็กผู้ชายถูกหลอกให้แก้ผ้าสำเร็จความใคร่แล้วบันทึกวิดีโอเอาไว้ โดยผู้กระทำผิดใช้โปรแกรมในการล่อลวง ซึ่งหลังจากจับกุมพบว่ามีคลิปวิดีโอของผู้เสียหายมากกว่า 400 คน ส่วนการสืบหาผู้กระทำความผิดในกระบวนการนี้ สามารถติดตามได้ประมาณ 30 คน เนื่องจากที่เหลือใช้โปรไฟล์เป็นอวตารและมีการปิดบังตัวตน

หัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ แนะนำว่า ในกรณีที่เป็นผู้เสียหาย หรือเป็นเพื่อน/คนใกล้ชิดของผู้เสียหาย สิ่งที่ต้องทำ มีดังนี้

1.รวบรวมสติ ไม่ต้องไปรีบลบข้อความ หรือตัดการติดต่อ ให้ทำการบันทึกหน้าจอที่แสดงว่ามีการกระทำความผิดให้เรียบร้อย รวมถึงบันทึกวิดีโอไว้ด้วยว่าไม่ได้มีการตัดต่อ

2.จัดเก็บ URL ของบัญชีที่มีการกระทำความผิด จดไว้หรือแคปหน้าจอไว้ให้ทางเจ้าหน้าที่ จัดเก็บไอดีโปรไฟล์ของผู้กระทำผิด เก็บพยานหลักฐานอื่นๆ ไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อความ บทสนทนาข่มขู่ ข้อมูลการเงิน ฯลฯ ให้เก็บไว้ให้หมด เพราะเผื่อในกรณีที่อีกฝ่ายบล็อกเราบางครั้งข้อความจะหายไป

และ 3.หากไม่สามารถทำเองได้ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บช.สอท. (มายซิส แชตบอท) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป

ตัวอย่างคู่มือ

ส่วนกรณีที่ว่าหาก “ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” สามารถแจ้งความเองได้หรือไม่?

พ.ต.อ.สุนทร ระบุว่า แจ้งความได้ ด้วยตามกฏหมายก็คือผู้แจ้งคือผู้เสียหายอยู่แล้ว แต่ในที่นี้ก็จะดูที่วุฒิภาวะของเด็กร่วมด้วย ถ้าเป็นเด็กแจ้งความในเรื่องขั้นตอนจำเป็นต้องมีพนักงานสหวิชาชีพร่วมในการสอบสวนด้วย เพราะพนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบสวนเด็กได้ตามลำพัง การมีทีมสหวิชาชีพจะช่วยให้ผู้เสียหายให้ข้อมูลได้ชัดเจน

ถามว่าจำเป็นต้องมีผู้ปกครองมาด้วยไหม มีความจำเป็น และเมื่อทางผู้เสียหายติดต่อเข้ามา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมหลักฐาน เพื่อจะดูความเป็นไปได้ของคดี แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะไปคุยกับผู้ปกครอง

“ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ อย่าด่วนคิด ยังยืนยันว่าในกรณีที่เป็นเด็ก แจ้งความเองได้ แต่พนักงานสอบสวนจำเป็นจะต้องใช้พนักงานสหวิชาชีพในการสอบสวนตามขั้นตอนของกฏหมาย” พ.ต.อ.สุนทรกล่าวและอธิบายถึงระยะเวลาในการดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในโลกออนไลน์ว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ การสืบหาตัวผู้กระทำความผิดว่าจะทำได้เร็วแค่ไหน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง  การขอข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการพิสูจน์ยืนยันตัวของผู้กระทำความผิด เพราะว่าบางทีผู้กระทำความผิดใช้โทรศัพท์ของผู้อื่น ใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในการกระทำความผิด จึงมีระยะเวลาในการรวบรวมหลักฐาน

ปุ่มย้อนกลับมีจำกัด
ก่อนคลิปหลุดโปรดอ่าน

วีรวรรณ มอสบี้ หรือ บุ๋ม ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก โปรเจ็กต์ (Hug Project) และผู้ได้รับรางวัลนักต่อสู้ด้านการค้ามนุษย์จากสหรัฐอเมริกาปี 2017 เล่าถึงการทำงานป้องกันและปราบปรามสื่อลามกเด็ก โดยเฉพาะประเด็น “สื่อลามกอนาจารเด็ก” คือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเพื่อการค้าโดยมิชอบ ทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดคดีค้ามนุษย์ ว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เด็กที่ถูกละเมิดอายุน้อยที่สุดคือ 4-6 ขวบ เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ทำให้ในปัจจุบันหลายๆ แพลตฟอร์ม อาทิ เฟซบุ๊ก กูเกิล และองค์กรต่างประเทศก็เริ่มที่จะมีระบบในการตรวจสอบที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ แต่ปัญหาที่ระบบอาจจะช่วยไม่ได้คือ เด็กไม่ทราบหรือไม่รู้ปัญหา

ทางฮักโปรเจ็กต์จึงได้ทำการเก็บข้อมูลตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจากการสัมภาษณ์น้องๆ ที่เป็นผู้เสียหาย ประกอบกับการทำโพลสำรวจ พบว่า เด็กหลายคนถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่ไม่กล้าแจ้งความ บางคนรอนานถึง 2-3 ปี บางคนถูกข่มขู่จำต้องยอมส่งคลิปให้ผู้กระทำผิด กระทั่งทนไม่ไหวจึงมาขอความช่วยเหลือ ยังมีหลายคนที่กลัวว่าพ่อแม่จะรู้ ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่เพราะกลัวจะตกเป็นข่าว รวมไปถึงเมื่อไปแจ้งความแล้ว เนื่องจากเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในขั้นตอนการสืบสวนค่อนข้างทำได้ยาก จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ

“จากจุดนี้จึงเป็นที่มาของการทำคู่มือ eXposed เมื่อคลิปหลุด เพื่อที่จะให้เด็กๆ มีความรู้ เพราะการจะป้องกันได้ ข้อมูลต้องเข้าถึงเด็ก เข้าถึงประชาชนในสังคม” วีรวรรณกล่าว

สำหรับ คู่มือ “eXposed เมื่อคลิปหลุด” มี 2 รูปแบบ 1.คู่มือสำหรับพกพา ดาวน์โหลดฟรี คลิก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และการช่วยเหลือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์  และ 2.นิยายภาพเลือกโต้ตอบสถานการณ์ได้ (Interactive Picture Novel) ที่ลิงก์ คลิก ซึ่งเด็กจะมีส่วนร่วมไปกับเรื่องราวให้ “ตัดสินใจ” เพื่อให้เนื้อเรื่องไปต่อข้างหน้า สอดแทรกความรู้ต่างๆ

โดยที่ปุ่ม “ย้อนกลับ” (Back) จะกดได้จำกัด เพราะต้องการสื่อว่าในชีวิตจริงเมื่อเลือกที่จะส่งไปแล้ว กดปุ่ม Back กลับคืนไม่ได้

วีรวรรณ มอสบี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image